งานหนักไม่ตุยแน่นะวิ !? ภาวะงานหนัก กลับบ้านดึก ไม่ได้พักผ่อน โดนกดดันจากบริษัท ไม่มีเวลาพักผ่อน เสี่ยงโรค Karoshi Syndrome โรคทำงานจนตาย ภาวะที่มนุษย์ทำงานญี่ปุ่นประสบมาอย่างยาวนานหลายปี งานอาจจะไม่ได้ฆ่าเราทีเดียว แต่สะสมกลายเป็นปัญหาสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ ที่สามารถฆ่าคนให้ตายได้จริง ๆ ภาวะแบบนี้เข้าข่าย Karoshi Syndrome เรามาลองเช็คลิสต์กัน 

Karoshi Syndrome

งานหนักไม่ตุยแน่นะวิ !? ทำความรู้จัก Karoshi Syndrome โรคทำงานจนตาย

 

คาโรชิ ซินโดรม ภาวะทำงานหนักจนตาย

โรค Karoshi (คาโรชิ) เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในสังคมญี่ปุ่นหลังจากมีข่าวร้าย เกี่ยวกับการตายของพนักงานออฟฟิศหลาย ๆ คน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการทำงานหนักมากเกิน ไม่ได้รับการพักผ่อน เครียด อ่อนเพลีย จนเกิดความผิดปกติต่อร่างกาย และอารมณ์  จนนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตในภายหลัง เหตุการณ์แนวนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว จนถึงขั้นที่ญี่ปุ่นเรียกภาวะที่คนทำงานหนักจนตายว่า “โรคคาโรชิ” (Karoshi) โรคทำงานจนตาย

ข่าวดังที่เป็นเคสที่พูดถึงจะเป็นกรณีของ ‘มิวะ ซาโดะ’ นักข่าวช่อง NHK วัย 31 ปี ที่ทำงานล่วงเวลาไป 159 ชั่วโมง ทั้งเดือนหยุดแค่ 2 วัน จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในเดือน ก.ค. 2013 หรือกรณีของ ‘มัตสึริ ทากาฮาชิ’ พนักงาน Dentsu วัย 24 ปี ที่ฆ่าตัวตายในเดือน เม.ย. 2015 หลังทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมง หลายเดือนติดต่อกัน  ถ้าดูตามระยะเวลานี้ก็ระยะเวลา 10 ปี แต่โรคคาโรชิยังคงมีเกิดปัญหาในญี่ปุ่น โรคคาโรชิเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 เกิดการปรับโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ ธุรกิจในญี่ปุ่นขยายการเติบโต แรงกดดันการทำงานเพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีรายงานการเสียชีวิตของพนักงานโดยสาเหตุการตายส่วนใหญ่มักมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง หรือฆ่าตัวตาย โดยคนที่ตายส่วนใหญ่ทำงานเป็นเวลานานติดต่อกันโดยที่ก่อนเสียชีวิตบางคนทำงาน 60-70 ชั่วโมง/สัปดาห์ บางคนมากกว่านั้นอีก สาเหตุที่ทำให้โรคคาโรชิกลายเป็นโศกนาฏกรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นนั้น

นอกจากจะมาจากวัฒนธรรมองค์กรบางแห่งที่มีสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้ทำโอที แต่ไม่ให้เงิน บางที่ให้ทำงานล่วงเวลามากถึง 100-150 ชั่วโมง/สัปดาห์ นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นเองก็มีทัศนคติที่ฝังรากลึกว่าต้องทำงานหนักเพื่อส่วนรวม ส่งผลให้คนญี่ปุ่นบ้างาน และเครียดจากการทำงานนั่นเอง โดยรัฐบาลยอมรับว่ามีคนญี่ปุ่นตายหรือบาดเจ็บจากโรคคาโรชิประมาณ 200 คน/ปี และในปี 2013 มีคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีที่พนักงานเสียชีวิตจากการทำงานถึง 1,456 คดี และแม้รัฐบาลจะพยายามหาทางแก้ไข แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ได้แก้ได้ง่าย ๆ เพราะในปีงบประมาณ 2020 ที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2021 มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโรคคาโรชิมากกว่า 2,800 รายการ เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว แต่เมื่อเทรนด์ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ญี่ปุ่นก็เริ่มให้ความสนใจกับเทรนด์นี้เหมือนกัน หลายบริษัทเริ่มทดลองให้พนักงานทำงานแค่ 4 วัน ยืดหยุ่นในการเข้าออฟฟิศ ซึ่งพบว่านอกจากทำให้พนักงานสุขภาพจิตดีแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิผลการทำงานได้มากกว่าเดิมด้วย

จนช่วงกลางปี 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยถึงนโยบายเศรษฐกิจประจำปี แนะนำให้บริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานเลือกทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีเวลาไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือรับงานเสริมอื่นได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด การมีวันหยุดเพิ่มก็จะส่งเสริมให้คนออกไปใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้นอกจากนี้ การมีวันหยุดเพิ่มยังทำให้หนุ่มสาวได้มีเวลาพบปะ ไปเดต ที่จะนำไปสู่การแต่งงาน มีลูก ซึ่งท้ายที่สุดก็ช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดลดลงได้นั่นเอง โดยที่หลายบริษัทเริ่มทดลองให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์แล้ว แต่ยังคงมีผลต่อการปฏิบัติหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานหรือผู้บริหารบางคน มีจำนวนงานลดลงอย่างมาก การจัดการเรื่องการเข้างานซับซ้อนกว่าเดิมมาก การคำนวณค่าจ้างยากกว่าเดิม


สาเหตุของโรคคาโรชิ

หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ ถือว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงกับโรคคาโรชิ

  • ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน
  • เริ่มงานเร็ว กลับบ้านช้ากว่าปกติติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • แทบไม่เคยใช้วันลาหยุด ไม่ว่าจะลาป่วย หรือลาพักร้อน
  • อยู่ในภาวะตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่นนอกจากงาน
  • นอนไม่หลับ มีปัญหาในการนอน หลับไม่สนิท
  • ลืมเวลาพักผ่อน มีแต่การทำงาน
  • เริ่มมีเวลาให้กับคนรอบตัวน้อยลง เช่น ไม่ค่อยได้เจอคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว

ถ้าฝืนทำงานในองค์กรที่หนักหน่วง จะส่งผลต่อสภาพร่างกาย และจิตใจ ทำให้มีผลต่อโภชนาการอาหารทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบหมู่ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ และการขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม และคนใกล้ตัว นอกจากนี้อาการดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา โดยข้อมูลจาก WHO เผยว่าคนในช่วงอายุ 45-74 ปี ที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด คือ โรคหัวใจ 42% และเส้นเลือดในสมอง 19%


ทำอย่างไรไม่ให้เป็น Karoshi Syndrome 

  1. ทำงานล่วงหน้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันลงในกระดาษโน้ตหรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และเรียงลำดับการทำงานตามความสำคัญของงาน ซึ่งควรเริ่มทำงานที่เร่งด่วน และมีความสำคัญมากที่สุดก่อน
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้ 7-9 ชม. ต่อวัน แนะนำให้งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพราะอาจทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น แต่หากมีปัญหานอนไม่หลับจริง ๆ  ควรปรึกษาแพทย์
  3. ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์  หาเวลาผ่อนคลายสมอง ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร ท่องเที่ยว
  4. พบปะคนที่เรารัก อย่างเพื่อนฝูง คนในครอบครัว หากิจกรรมทำร่วมกันเป็นระยะ
  5. หากพบว่าโดนบังคับให้ทำงานหนักมากเกินไป และทำการปรึกษาหัวหน้างานแล้วยังไม่ได้สามารถแก้ไขอะไรได้ การเปลี่ยนงานอาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้น สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตอาจดีขึ้น

 

ใครเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายโรค Karoshi Syndrome ทำงานหนัก หลับไม่เพียงพอ ส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ลามมาทำลายสุขภาพกาย และสุขภาพจิตในระยะยาว  การบริหารเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตให้สมดุล หรือการย้ายงานก็เป็นอีกทางออกที่ดีในรักษาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของเรา

 

 

Photo Credit:

p1

Source Credit:

pobpad

thairath

Comments

comments