สวัสดีค่ะสาวๆ ชาว Clubsister ทุกคน ช่วงนี้ไม่ว่าจะเปิดไปทางช่องทางไหน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ หรือแม้กระทั่งโซเชียลมีเดียร์ต่างๆ เราพบเห็นข่าวดราม่า เหตุบ้านการเมืองเยอะแยะ เต็มไปหมด ยิ่งเป็นแบบนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นลึกหนาบางมากมาย และด้วยเหตุนี้เราอยากจะแนะนำหนังที่สะท้อนสังคมที่เข้ากับยุคนี้สุดๆ กับ “5 หนังเสียดสีสังคม ที่เหล่าสามัญชนอย่างชาวเรา ควรดู!” บอกเลยว่าหนังแต่ละเรื่องที่เราแนะนำให้ได้ดูกันนั้น
จิกเก่ง กัดเก่ง ไม่แพ้กับกระแสสังคมในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ งั้นอย่ารอช้า มาเริ่มจิกกับเรื่องแรกกันเลย

 

จิกเก่ง! 5 หนังเสียดสีสังคม ที่เหล่าสามัญชนอย่างชาวเรา ควรดู!

 

เรื่องที่ 1: The Platform (2019)

ได้รับคะแนนจาก IMDb: 7.0 / 10
สามารถรับชมได้จาก: Netflix

หนังเสียดสีสังคม

หนังเสียดสีสังคมเรื่องแรกที่เราอยากจะแนะนำให้สาวๆ ได้รับชมกัน เป็นหนังสะท้อนสังคมที่พูดถึงเรื่องชนชั้นอย่างเจ็บแสบ โดยการยกตัวอย่างจากเรื่องง่ายๆ อย่าง “อาหาร” 
ทรัพยากรหลักและปัจจัย 4 ที่คนเราต้องการ โดยพูดถึงชายหนุ่มที่มีชื่อว่า “โกเร็ง” ตื่นขึ้นมาในห้องปูนเปล่าที่มีตัวเลขเขียนไว้ว่า 48 พร้อมกับชายแก่ชื่อว่า “ตรีมากาซี” โดยโกเร็ง พูดคุยและถามคำถามมากมาย จนได้คำตอบว่าระบบของสิ่งนี้ว่ามันคือ “หลุม” ซึ่งหลุ่มนี้เรียกว่าอีกชื่อว่า “ศูนย์ดูแลตัวเองตามแนวตั้ง” จะแบ่งเป็นชั้นตั้งแต่ชั้น 0 จน ถึงชั้นล่าง โดยไม่มีใครรู้ว่าศูนย์แห่งนี้มีทั้งหมดกี่ชั้น

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ “อาหาร” วางบนแท่นสีเหลี่ยมขนาดใหญ่มาเสิร์ฟให้แก่ผู้กักกัน ตั้งแต่ชั้นบนจนถึงชั้นล่าง และแน่นอนคนชั้นบนสุดมีสิทธิที่จะได้กินก่อน และคนชั้นล่างๆ ลงมาก็จะได้กินของเหลือจากคนข้างบน และยิ่งคุณอยู่ชั้นล่างๆ เท่าไร อาหารที่จะเหลือมาถึงคุณนั้น ยิ่งน้อยลงจนไม่เหลืออะไรเลย อีกทั้งผู้ที่ถูกกักกันนั้นสามารถนำสิ่งของเข้ามาได้ 1 อย่างโดย โกเร็ง นั้นถือหนังสือนิยายที่มีชื่อว่า “ดอนกิโฆเต้” เข้ามาด้วย

หนังเสียดสีสังคม

The Platform เป็นหนังเสียดสีสังคมที่เสียดสีได้อย่างเจ็บแสบ วิธีการดำเนินเรื่องเฉียบและเสียดสีได้แบบจุกและตรงจุดสุดๆ หนังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสัมคม สะท้อนความเป็นชนชั้นวรรณะได้อย่างดีเยี่ยม พูดถึงระบอบระบบต่างๆ สะท้อนความเชื่อทางศาสนา (บางจุด) รวมไปถึงหลักการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ทั่วถึง หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีเทคนิคการเล่าเรื่องอะไรใดๆ เป็นพิเศษ แต่! การเล่าเรื่องโดยให้เราได้ลุ้นไปกับตัวละคร โดยอาศัยมุมกล้องแบบ Close up ไปที่นัยย์ตาของตัวเอกทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ซึ่งจุดนี้ทำให้เราลุ้นในจุดหนึ่ง ว่าตัวเอกของเรื่องจะตื่นขึ้นมาเป็นชั้นอะไร

สิ่งที่เราชอบมากๆ เลยคือ การตีแผ่ เสียดสี และเป็นหนังเสียดสีสังคมที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้ด้วยวิธีง่ายๆ อย่างกันแบ่งปันอาหาร เราอาจจะเห็นหลายๆ เรื่องที่ตีความเรื่องนี้ ด้วย Symbolic ต่างๆ แต่สำหรับ The Platform พูดอย่างตรงไปตรงมา และเข้าใจได้ง่ายจากประโยคที่ตัวละครแต่ละตัวสนทนากัน และสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นนอกจากความเหลื่อมล้ำของชนชั้นวรรณะ ของระบอบระบบแล้ว สิ่งที่ทำให้เราเข้าได้ง่ายๆ เลยคือพื้นฐานความเป็นมนุษย์ มนุษย์เรามีมีสัญชาตญาณดิบและความเอาตัวรอดด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เอื้ออำนวยซักเท่าไร สุดท้ายมนุษย์เราก็ยังคงมองหาการตอบสนองทางอารมณ์และความรู้สึกอยู่ดี

 

เรื่องที่ 2: Parasite (2019)

ได้รับคะแนนจาก IMDb: 8.6 / 10
สามารถรับชมได้จาก: AIS Play

หนังเสียดสีสังคม

หากพูดถึงหนังเสียดสีสังคมที่เจ็บจี๊ด โดนใจ แถมสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันได้แบบจุกๆ เลยคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ตลกร้าย สัญชาติเกาหลี ที่เรียกได้ว่าเขย่าวงการหนังกันเลยทีเดียว ด้วยการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและอื่นๆ อีกมากมายจากเวทีรางวัลชื่อก้องโลกอย่างออสการ์กับ Parasite หรือในชื่อไทยคือ ชนชั้นปรสิต พูดถึงเรื่องราวของครอบครัวคิม ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว เป็นองค์ประกอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์

แต่ทว่าครอบครัวนี้มีฐานะยากจน ไม่มีงานทำ อาศัยอยู่ในบ้านที่เหมือนอยู่ในชุมชนแออัด ที่ตั้งอยู่ในส่วนที่ลึกของเมือง อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนสนิทของ คิมกีอู กำลังเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาต่อ เลยแนะนำงานเป็นครูติวเตอร์ภาษาอังกฤษให้ลูกสาวบ้านเศรษฐีคนหนึ่ง จากวันที่คิมกีอูได้เข้าไปเหยียบบ้านหลังนั้น บ้านของเขาและเศรษฐีก็เริ่มเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย และเขาก็ได้ไปล่วงรู้ความลับที่ไม่ควรจะรู้เข้า จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันลืม

หนังเสียดสีสังคม

เราขอยกให้ Parasite เป็นหนังเสียดสีสังคมอันดับ 1 ในใจ ต้องบอกเลยว่าสิ่งที่เราชอบของหนังเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นการตีแผ่ความจริงอันแสนโหดร้ายในโลกที่สุดแสนจะธรรมดาได้อย่างบาดลึกและเฉียบขาด สิ่งที่หนังทำออกมาได้ดีเลยคือการบรรยายสัมผัสของมนุษย์ที่สามารถบ่งบอกอัตลักษณ์ต่างๆ ของสิ่งเหล่านั้นได้ดี นั่นก็คือ “กลิ่น” หนังเรื่องนี้พยายามอธิบายความแตกต่างทางสังคมในแบบง่ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็เข้าใจ ผ่านการบรรยายกลิ่น ตัวอย่างเช่น “การบรรยายกลิ่นของคนชนชั้นล่างโดยเปรียบเทียบเป็นกลิ่นอับของรถไฟใต้ดิน” หรือ “กลิ่นที่ติดตัวเราตลอดเวลา” ถึงแม้จะอาบน้ำให้สะอาดขนาดไหนมันก็ยังคงติดตามร่างกายเราไปตลอด

ต่อมาสิ่งที่ชอบเลยก็คงหนีไม่พ้นการสะท้อนการภาพการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละตัวละคร ซึ่งเรื่องนี้อาจมองเป็นเรื่องเปรียบเทียบที่ธรรมดาและไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่เพราะการนำเรื่องปกติมาเล่าผ่านองค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องนี้ซิ ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกและสิ่งต่างๆ ของแต่ละตัวละครอย่างดี หรือแม้กระทั่งคำพูดจิกกัดที่ดูเหมือนเรื่องตลก แต่จริงๆ แล้วมันคือความจริงที่แสนจะเจ็บปวดกับ “เขาไม่ได้เป็นคนรวยที่นิสัยดี แต่เพราะเขารวยเขาเลยนิสัยดี” หรือประโยคคำพูดง่ายๆ ที่ว่า “ทำไมพวกเขาถึงดูดีอย่างเป็นธรรมชาติแบบนี้” หรือ “คนอย่างฉัน ดูเหมาะกับที่นี่ไหม?” มันทำให้สะท้อนความคิดของตัวละครนั้นๆ ได้ดี

 

เรื่องที่ 3: V.I.P (2017)

ได้รับคะแนนจาก IMDb: 6.4 / 10
สามารถรับชมได้จาก: VIU

หนังเสียดสีสังคม

ถ้าจะให้ยกประเด็นหนังเสียดสีสังคมนอกจากเรื่องปากท้องและการกินอยู่ อีกเรื่องที่เราจะเห็นได้ชัดเลยคือ เรื่องเส้นสาย ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
เมื่อมี Back up ดี การใช้ชีวิตก็ดีขึ้นไปด้วย และเรื่องนี้เป็นหนังเสียดสีสังคมที่ยกประเด็นเรื่องอำนาจทางสังคมมาพูดได้อย่างเจ็บแสบ โดยเฉพาะตอนจบ! V.I.P พูดถึงเรื่องราวของตำรวจมือดีที่มีวิธีการทำงานค่อนข้างสุดโต่งและเคยโดนทัณฑ์บนเรื่องการใช้ความรุนแรงอย่าง แชอิโด ถูกทาบทามให้มาสืบคดีและจับตัวคนร้ายที่ก่อคดีฆ่าตกรรมต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 5 คดีในเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่าเขาจะรู้ตัวคนร้ายและหลักฐานที่มีอยู่นั้นเพียงพอที่จะจับคนผิดมารับโทษได้

แต่ด้วยการช่วยเหลือจากมือที่สามและเหตุผลบางอย่าง ทำให้ แชอิโด ตกที่นั่งลำบาก จำใจต้องปล่อยคนร้ายหลุดมือไป แต่ด้วยจังหวะและอะไรหลายอย่างทำให้เขาค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญ พร้อมด้วยเรื่องราวมากมายที่ทำให้รู้ว่า ฆาตกรที่เขากำลังตามล่าอยู่นั้น ไม่ใช่บุคคลธรรมดาที่น่าเล่นด้วย แต่เป็นบุคคลที่ขึ้นชื่อว่า V.I.P

หนังเสียดสีสังคม

V.I.P ถือว่าเป็นหนังเสียดสีสังคมอีกเรื่องหนึ่ง ที่ส่วนตัวเราว่าถึงแม้หนังไม่ได้ดังอะไร แต่เนื้อหาทำออกมาค่อนข้างดีและน่าสนใจเลยทีเดียว สะท้อนสังคมทุนนิยมในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน แอบเสียดสีและจิกกัดการทำงานของประเทศมหาอำนาจได้แบบเจ็บจิ๊ดๆ แต่ที่ชอบมากที่สุดเลยคือ การสะท้อนให้เห็นว่ากฏหมายไม่ได้มีไว้ใช้กับคนทุกคน แต่มีไว้เพื่อตีกรอบให้บุคคลธรรมดาถึงชนชั้นล่างเท่านั้น เพราะตราบใดถ้าคุณมีอำนาจและเงินอยู่ในมือ เรื่องกฏหมายก็ไม่จำเป็น คนกระทำผิดก็โบยบินได้อย่างอิสระ ส่วนคดีและเรื่องราวอันน่าสลดใจ ก็จางหายไปตามกาลเวลา และในส่วนของการดำเนินเรื่องโดยรวมแล้วโอเคอยู่ ดูรู้เรื่องเข้าใจง่าย แถม Trigger คนดูได้รวดเร็ว พลอยทำให้เราได้ลุ้นอยู่เรื่อยๆ

 

 

เรื่องที่ 4: Changeling (2008)

ได้รับคะแนนจาก IMDb: 7.7 / 10
สามารถรับชมได้จาก:

หนังเสียดสีสังคม

หนังเสียดสีสังคมหลายเรื่องอาจจะยกประเด็นความเท่าเทียมทางสังคม ความเลื่อมล้ำทางอำนาจ การเป็นคนเด่นคนดังต่างๆ แต่สำหรับเรื่องนี้ เป็นหนังเสียดสีสังคมเรื่องหนึ่งที่กล้าตีแผ่และสะท้อนสังคมความสกปรกของระบบ และคนของประชาชนได้อย่างเจ็บแสบแบบสุดๆ Changeling หนังแนวสืบสวนสอบสวนที่สร้างมาจากเรื่องจริง พูดถึง “คริสติน คอลลินส์” หญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งที่ต่อกรกับทางตำรวจและอำนาจความอยุติธรรม เพื่อทวงคืนลูกชายคนเดียวของเธอที่หายสาปสูญ 

หนังเสียดสีสังคม

บอกเลยว่า Changeling เป็นหนังสืบสวนสอบสวนและเป็นหนังเสียดสีสังคม แบบแซะวงในได้ถึงพริกถึงขิงสุดๆ (ดูแล้วมันส์พล็อตเรื่องคุ้นๆ) หนังตีแผ่ระบบที่เน่าเฟะได้ทั้งในอดีตและสามารถเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน บอกเล่าสิ่งที่มีอิธิพลในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นสื่อทั้งทางวิทยุ, หนังสือพิมพ์, โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาล ต่างอยู่ใต้อำนาจของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาความยุติธรรมและปกป้องประชาชนอย่างตำรวจ

ไม่ว่าจะเป็นการโกงโดยการออกกฏหมายที่ให้อภิสิทธิ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้ความรุนแรงอย่างไรก็ได้, ให้อภิสิทธิในการวิสามัญผู้ต้องหาที่ก่อคดีไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้โดยไม่มีความผิด การครอบงำและบัญชาการธุรกิจผิดกฏหมายโดยแบ่งปันผลประโยชน์นั้นเอง, การปัดความรับผิดชอบที่มีต่อหน้าที่ รวมถึงการขัดขวางบุคคลที่คิดจะต่อต้านหรือทำให้สถาบันตำรวจเสื่อมเสีย

 

เรื่องที่ 5: Kim Ji Young Born 1982 (2019)

ได้รับคะแนนจาก IMDb: 7.4 / 10
สามารถรับชมได้จาก: –

หนังเสียดสีสังคม

หนังเสียดสีสังคมเรื่องสุดท้าย เป็นหนังที่เราเรียกได้ว่าสะท้อนความเชื่อ และความเท่าเทียมทางเพศสภาพของมนุษย์ชาวเอเชียได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ตัวหนังเองจะเป็นหนังเกาหลี แต่เราเชื่อว่าค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นมาเหล่านี้ถูกปลุกฝังให้อยู่ในความคิดของคนเอเซียเป็นส่วนใหญ่ Kim Ji Young Born 1982 หรือ ในชื่อไทยว่า คิมจี-ยอง เกิดในปี 1982 เป็นภาพยนตร์โรแมนติก ดราม่าสะท้อนสังคม ที่สร้างจากนิยายขายดีกว่า 2 ล้านเล่มในเกาหลีใต้ ที่มีชื่อเดียวกันของ โชนัมจู

โดยพูดถึงเรื่องราวของ หญิงสาวสุดแสนธรรมดาคนหนึ่งที่มีชื่อคล้ายคลึงกับหญิงสาวหลายคนในเกาหลีว่า “คิมจี-ยอง” เธอใช้ชีวิตเรียบง่าย และดูเหมือนจะมีความสุขกับสามีและลูกสาววัยเตาะแตะของเธอ เธอใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ดูแลสามี และลูกโดยปกติ แต่ทว่าในวันหนึ่งสามีของเธอกลับสังเกตได้ว่าพฤติกรรม แววตา และน้ำเสียงของเธอเปลี่ยนไป
เหมือนไม่ใช่คิมจียองคนเดิม ดังนั้นเขาและเธอจึงพากันไปพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และนั่นทำให้ได้พบความจริงที่ว่า เรื่องราวที่น่าปกติเหล่านั้น ทำให้คิมจียองเป็นแบบนี้

หนังเสียดสีสังคม

คิมจียอง เป็น หนังเสียดสีสังคม ที่ได้รับกระแสนิยมเป็นอย่างมากในประเทศเกาหลี ซึ่งตัวเราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงได้รับความนิยมมากขนาดนี้ คิมจียองเป็นหนังที่สะท้อนค่านิยม เสียดสี และตีแผ่ขนมธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ที่ว่า “ผู้ชายเปรียบเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเปรียบเป็นช้างเท้าหลัง” ได้เป็นอย่างดี (ซึ่งค่านิยมนี้เป็นมีจากรุ่นสู่รุ่นในหลายประเทศแถบเอเซีย ไทยก็ด้วยเช่นกัน) และด้วยค่านิยมและความคิดเหล่านี้ถูกปลูกฝังและทำให้มันเป็นเรื่องปกติที่เราต้องเจอ

นั่นก็คงไม่แปลกที่ว่าเราทุกคน อาจจะตกเป็นคิมจียองวันใดวันหนึ่งก็ได้ เพราะสิ่งที่เราได้รับนั้นคือการเสียสละและลดทอนโอกาสที่จะได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หากแม้ผู้หญิงทำงานดีและถูกต้องอย่างไร สุดท้ายโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งกลับเป็นผู้ชายเสมอ ผู้หญิงจำเป็นต้องเสียสละในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ผู้ชายที่ทำงานนอกบ้าน หน้าที่ดูแลคนในบ้านทั้งหมดตกเป็นหน้าที่ผู้หญิง แต่สุดท้ายแล้วผู้หญิงกลับเป็นผู้ถูกละเลยการดูแลเอาใจใส่ ถึงแม้ในปัจจุบันเราอาจไม่ค่อยพบเจอเรื่องแบบนี้กันแล้ว

แต่ไม่ใช่ว่าค่านิยมเหล่านี้จะหมดไป ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม ยังคงมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ และสังคมไทยก็เช่นกัน 

 

Photo Credit:

Comments

comments