เรียกว่าตึงเครียด!! เลยทีเดียว กับเหตุการณ์บ้านเมืองเราในตอนนี้ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ เปิดโทรทัศน์ เปิดวิทยุ โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เรา ต้องพบเจอกับข่าวการเมือง และแน่นอนว่า จะต้องถูกนำมาพูดคุย ถกเถียงกัน พอหอมปากหอมคอใช่มั้ยล่ะคะ ถ้าเราเจอคนที่เข้าใจตรงกัน ไปทางเดียวกัน ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ล่ะก็…ยิ้มแห้งกันแน่ ๆ โดยเฉพาะถ้าเราต้องคุยเรื่องการเมืองกับคนในครอบครัว ที่ความคิดเห็นไม่ค่อยจะตรงกันเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจพอสมควร ดังนั้น วันนี้เราจึงมี วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว อย่างไร ไม่ให้คนในครอบครัวทะเลาะกัน มาฝากค่ะ

เห็นต่างแต่ไม่แตกแยก! 11 วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว ให้ไม่ทะเลาะกัน

 

#1 ตั้งสติ (หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ)

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

ทั้ง 2 ฝั่งต้องพยายามตั้งสติ และทำใจ ทำอารมณ์ให้สงบ หากมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งคุยด้วยอารมณ์ที่รุนแรง อีกฝั่งก็จำเป็นจะต้องประคองอารมณ์ไว้ไม่ให้แรงกลับ ไม่ตอบโต้กันด้วยอารมณ์โกรธและโมโห เพราะยิ่งเราคุยกันด้วยอารมณ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคุยกันไม่รู้เรื่อง และจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่เกิดผลดีกับใครเลยนั่นเองค่ะ

 

 

#2 เปิดใจ (ลองฟังอีกฝ่ายดูบ้าง)

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

ยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารนะคะ ในหนึ่งวันมีเรื่องราวมากมายผ่านเข้ามาให้เราทั้ง 2 ฝั่งได้รู้ ได้เห็นกันตลอดในทุกช่องทาง หนังสือพิมพ์เอย โทรทัศน์ วิทยุเอย ไหนจะโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ทำให้เรามีข้อมูลที่สามารถจะนำมาพูดคุยกันได้ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องเปิดใจ ลองรับฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามจะบอกกับเราด้วยใจที่(พยายาม)เป็นกลางก่อนนั่นเองค่ะ

 

 

#3 ฟังกันก่อน (ตอนนี้อยากให้เธอลองฟัง)

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

ถ้าอยากที่จะเข้าใจ ก็ต้องเปิดใจรับฟังนะคะ ไม่ว่าเราจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่อีกฝ่ายเขากำลังเล่าให้ฟัง ให้เราฮึบ! อดใจไว้ ไม่ให้ชิงพูดขัดจังหวะอีกฝ่ายค่ะ เพื่อให้เขารับรู้ว่า เราตั้งใจฟังอยู่นะ และเพื่อให้เราได้ฟังรายละเอียดอย่างครบถ้วนด้วย

 

 

#4 อย่าตอบโต้ตอนโกรธ (โปรดควบคุมอารมณ์)

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

เป็นธรรมดาที่เราอาจจะเกิดอารมณ์ไม่พอใจ โกรธ หรือโมโห เมื่อได้ยินข้อมูลหรือคำพูดใด ๆ ก็ตามที่อีกฝ่ายสื่อสารกับเรา และเราไม่เห็นด้วยนะคะ ซึ่งสิ่งที่เราไม่ควรทำเลยนั่นก็คือ การตอบโต้ทันที ณ ตอนนั้นค่ะ เพราะคำพูดของเราก็จะเต็มไปด้วยอารมณ์ไม่พอใจ การประชดประชันที่แฝงอยู่แบบเต็มที่ (บางทีก็ชัดซะเกินคำว่าแฝงเลยนะคะ) นั่นก็ทำให้ความมาคุปะทุหนักขึ้น แล้วก็กลายเป็นการโต้เถียงแบบใช้อารมณ์ ปราศจากเหตุผลนะคะ

 

 

#5 คุยกันด้วยเหตุผล (อย่าใช้อารมณ์จนเกินไป)

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

พยายามคุยกันด้วยเหตุผล ใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่แต่ละฝ่ายมี แล้วสื่อสารออกไปอย่างใจเย็น ไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง หรือถ้าหากในช่วงนั้นมีข่าว หรือสถานการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้น เราย่อมรู้อยู่แล้วว่าอีกฝ่ายกำลังมีความรู้สึกไม่พอใจอยู่แน่ ๆ ดังนั้น ก็ไม่ควรจะพูดคุยกัน ณ ตอนนั้น แต่รอให้อารมณ์เบาลงก่อน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ค่ะ

 

 

#6 มองหาจุดที่มีความคิดเห็นร่วมกันหรือเหมือนกัน

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

เชื่อได้ว่าเวลาเราได้ฟังข้อมูลจากอีกฝ่าย จะมีเรื่องบางเรื่องที่เรารู้สึกว่า เออ…ก็จริงของเขานะ อืม…เรื่องนี้เขาก็ทำถูกแล้วนี่ แน่นอน เพราะบนโลกนี้คงไม่มีอะไรที่ดีไปซะหมด หรือเลวร้ายไปซะหมดใช่มั้ยล่ะคะ ประเด็นสำคัญคือเราต้องเปิดใจรับฟังเสียก่อน เพื่อหาจุดหรือเรื่องใด ๆ ที่เราเห็นตรงกัน ทำให้การพูดคุยง่ายขึ้น ผ่อนคลายขึ้นค่ะ

 

 

#7 อย่าบังคับ

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

ต้องคิดไว้เสมอว่าการคุยกันนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เราต่างก็เจอมาไม่เหมือนกัน เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความเข้าใจ แต่ไม่ใช่เป็นการบังคับให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับเรา ดังนั้น คำพูดที่ใช้จะต้องไม่ก่อให้เกิดความอึดอัด ลำบากใจ ให้เขามาอยู่ข้างเดียวกับเรา แต่ให้แลกเปลี่ยนกันจนเข้าใจสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการอย่างแท้จริง

 

 

#8 เห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิด

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

การเห็นต่างเป็นเรื่องที่ปกติของครอบครัว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเห็นพ้องต้องกันทุกเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ เช่น อาหาร เราก็อาจจะชอบไม่เหมือนกัน เลือกกินไม่เหมือนกัน การดูโทรทัศน์ บางทีเราก็ต้องนั่งดูละครหรือรายการที่อีกฝ่ายชอบ แม้ว่าเราจะไม่ชอบก็ตาม เรื่องการเมือง ก็เช่นเดียวกันค่ะ เราสามารถที่จะเล่าสู่กันฟังในสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นข้อมูลที่อีกฝ่ายควรรู้ และไม่กระทบกับความรู้สึกของคนอื่นค่ะ

 

 

#9 ใช้หลักธรรม นำไปสู่ความสงบและเข้าใจ

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

เราอาจจะใช้หลักธรรมเข้ามาช่วยในการพูดคุย อย่างเช่นหลักพรหมวิหาร 4 ที่เริ่มด้วย

“เมตตา” แปลว่า ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข เราก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ด้วยการตั้งใจฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังบอกเล่าให้เขาเห็นว่า เราตั้งใจที่จะฟังอย่างจริงจัง เพียงเท่านี้ เขาก็จะมีความยินดีในใจว่าอย่างน้อยเราก็ฟังที่เขาพูด

ต่อมาคือ “กรุณา” หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ก็อาจจะเป็นการแนะนำอีกฝ่ายเมื่อเห็นว่าเขากำลังมีความทุกข์หรือไม่สบายใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าควรจะจัดการกับความรู้สึกโกรธ เกลียดนั้นอย่างไร ในบางครั้งเราอาจจะไม่ต้องแสดงออกเป็นคำพูด แต่เป็นการทำให้ดูก็ได้ค่ะ

ถัดมาคือ “มุทิตา” ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หากเกิดเรื่องน่ายินดีกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายก็ควรจะร่วมยินดี หรือหากทำไม่ได้จริง ๆ อย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ควรแสดงท่าทีประชดประชัน ให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีนะคะ สุดท้ายแล้ว หากการพูดคุยนั้นมีบรรยากาศที่ไม่ดีและความคิดก็แตกต่างกันมากเกินไปนั้น

ก็ต้องใช้ “อุเบกขา” เป็นการวางเฉย และปล่อยให้เรื่องนั้นสงบไปเอง ไม่ต่อล้อต่อเถียงให้เกิดปัญหาค่ะ

 

#10 พักผ่อนหย่อนใจกับเรื่องอื่นบ้าง

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

ถ้าการคุยเรื่องการเมืองนั้นทำให้เราไม่สบายใจและเครียด ก็ลองปล่อยวางลง แล้วออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตัวเองชื่นชอบเพื่อผ่อนคลายบ้างนะคะ เช่น ไปออกกำลังกาย เข้าสปาดูแลผิวพรรณ ไปช้อปปิ้ง เที่ยวต่างจังหวัด เป็นต้น การออกไปทำอะไรอย่างอื่น หรือกิจกรรมใหม่ ๆ ไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนของเราเองเท่านั้น แต่ยังสามารถเอาเรื่องราว ประสบการณ์ที่เจอ มาเป็น Topic สำหรับการพูดคุยกับอีกฝ่ายได้อีกด้วย ไม่จำเป็นจะต้องคุยเรื่องการเมืองทุกครั้งก็ได้ค่ะ

 

 #11 คุยเรื่องอื่นกันบ้าง

วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว

ต่อเนื่องจากข้อที่ผ่านมาเลยค่ะ เราไม่จำเป็นต้องพูดคุยเรื่องการเมืองกันตลอดเวลา ลองแลกเปลี่ยนเรื่องอื่น ๆ กันบ้าง เรื่องละคร, ซีรี่ส์, หนังเข้าใหม่, เพลงในกระแส, ด้อม KPOP, แฟชั่น ช้อปปิ้ง และอีกมากมายหลายเรื่องเลยค่า

 

จบไปแล้วค่ะ กับ 11 วิธีคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว คุยอย่างไร ให้ไม่ทะเลาะกัน สุดท้ายแล้วแม้การเมืองจะ เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเราทุกคน เป็นเรื่องที่มีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม เราเกือบทุกคนก็ยังคงมีครอบครัว มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ ๆ ที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ยังคงเป็นครอบครัวที่ต้องมีกันและกันตลอดไปนั่นเองค่ะ

 

CR : @kendekthai, sanook, freepik

Comments

comments