“ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) เป็นคำที่ได้ยินผ่านหูบ่อย ๆ ครั้งเลยในปีที่ผ่านมา  โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงานออฟฟิศ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการนั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ  และการจัดวางอุปกรณเครื่องใช้สำนักงานอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เส้นประสาทส่วนปลายในแต่ละตำแหน่งถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดอาการปวดสะสม และถ้าหนักข้อ ก็กลายเป็นปวดเรื้อรังตามมา หลายคนอาจคิดว่าออฟฟิศซินโดรมเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้ใครหลายคนไม่ได้สนใจกับอาการที่เป็นอยู่ จนกลายเป็นเรื้อรังในที่สุด อย่าปล่อยให้ถึงขั้นนั้น เราการเช็กดูว่า เป็นออฟฟิศซินโดรม รึเปล่า จะได้รักษาให้ทันท่วงที

โรคออฟฟิศซินโดรม มักพบร่วมกับอาการชาบริเวณแขน, มือ และปลายนิ้ว  และอาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อตามมาได้ เช่น

  • กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome) มีอาการเจ็บจุดกดเจ็บ ” Trigger point “
  • เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) มักมีอาการเริ่มต้นจากการชานิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง
  • ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)
  • กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow) 
  • นิ้วล็อก (trigger finger)  เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกเอ็นนิ้วมือทำให้มีการหนาขึ้นส่งผลให้ไม่สามารถยืด หรือหดนิ้วได้ตามปกติ โดยนิ้วที่พบว่ามักเกิดอาการดังกล่าวคือ นิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ทุกนิ้ว และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนิ้วมือทั้งสองข้างอีกด้วย
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
  • ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
  • หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

 

เช็คอาการหน่อย!! อาการแบบนี้เรียก เป็นออฟฟิศซินโดรม รึเปล่า จะได้เร่งรักษา

 

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกแล้วว่า โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากลักษณะการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน และ อุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของร่างกายของผู้ทำงาน เช่น โต๊ะ หรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับสภาพร่างกาย และจิตใจ เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การได้รับสารอาหารไม่ครบ ทานอาหารไม่ตรงเวลา  ปัจจัยหลาย ๆ เป็นสาเหตุให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้

 

อาการออฟฟิศซินโดรม

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • ปวดช่วงคอบ่าไหล่ หลัง และเข่า อาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง มักมีอาการปวดแบบกว้าง ๆ สาเหตุเกิดจากการไม่ขยับตัว การนั่งทำงานเป็นเวลานาน นั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งอยู่ตลอด และยืนนาน ๆ
  • ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือบางครั้งมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือการที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน
  • ปวดข้อมือ และนิ้วมือ เป็นอาการที่เกิดจากการจับเมาส์ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ ต้องรีบรักษาไม่งั้นอาจเป็น นิ้วล็อค เอ็นข้อมืออักเสบได้
  • เหน็บชา หากระบบประสาทที่ถูกกดทับนานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการชา รวมถึงอาการอ่อนแรง ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการนั่งนาน ๆ ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับ และส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ
  • ปวดท้อง กรดไหลย้อน ปวดท้องกระเพาะอาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และความเครียด ส่วนอาการปวดท้องน้อยมักเกิดจากการกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ
  • ตาแห้ง ตาพร่ามัว อาการเกิดจากต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ สาเหตุอาจมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือนานเกินไป และมักมีอาการตาล้า ปวดตา ตาพร่ามัวร่วมด้วย
  • นอนไม่หลับ อาการปวดต่าง ๆ รวมถึงภาวะเครียดส่งผลทำให้นอนไม่หลับ หรือ หลับได้ไม่สนิท
เป็นออฟฟิศซินโดรม รึเปล่า


วิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรม

  • ขยับบ้าง เมื่อเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย ไม่นั่งเป็นเวลานาน
  • ใช้กฎ 10 – 20 – 60 คือ ทุก 10 นาทีให้พักสายตาจากหน้าจอ แล้วเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 20 นาที เมื่อครบ 60 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และแขน ขยับอยู่ตลอด จะช่วยลดการปวดเมื่อยได้
  • เปลี่ยนท่านั่ง ท่านั่งที่ถูกต้องคือ หลังตรงชิดกับพนักพิง หากที่นั่งของเก้าอี้ลึกเกิน อาจจะหาหมอนหนุน เพื่อช่วยให้หลังตรงได้ และวางเท้าลงบนพื้นให้ขาทำมุม 90 องศา ท่านั่งแบบนี้ช่วยลดอาการเมื่อยได้ดี
  • ปรับหน้าจอ ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา และจอภาพควรห่างจากตา 12-18 นิ้ว และวางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอกทำมุม 90 องศา วิธีนี้จะช่วยให้ไหล่ไม่ต้องเกร็ง และป้องกันการเกิดปัญหาต่อข้อมือ
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ช่วยในเรื่องของการยืดเส้น และสร้างความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ทั้งลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันเอ็นและข้อยึด และช่วยผ่อนคลายความเครียด
  • กายบริหาร การทำท่ากายบริหารจะช่วยลดอาการปวดตึงจากออฟฟิศซินโดรม และเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ดี
  • กายภาพบำบัด จะช่วยปรับโครงสร้างร่างกายในส่วนที่มีปัญหาให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องทั้งนี้ควรทำภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • พบแพทย์ หากมีอาการขั้นรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และรับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด เป็นต้น

 

เพื่อน ๆ ลองสังเกตตัวเองนะ ว่าเรามีโอกาส เป็นออฟฟิศซินโดรม รึเปล่า หากมีก็ควรทำการรักษาตั้งแต่อาการเบา ๆ นั เพราะถ้าปล่อยไว้อาจเป็นภาวะเรื้อรัง ที่แก้ไขยาก และสร้างความเจ็บปวดให้กับเราด้วย ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว และอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นเดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือต้องผ่าตัดเลย ฟังดูโหดมาก ๆ ใครเข้าข่ายต้องรีบปรับพฤติกรรมตัวเอง และรักษาตัวกันด้วย วันนี้เราขอตัวลาเพื่อน ๆ ไปก่อน บ๊ายบายค่ะ

 

 

 

Photo Credit:

petcharavejhospital

Source credit:

petcharavejhospital

vogue

 

Comments

comments