โทรศัพท์มือถือนับเป็นอุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวัน ที่ตอนนี้ใคร ๆ ก็ขาดไม่ได้จริง ๆ เพราะมือถือเป็นสิ่งสำคัญ ใช้ในการติดต่อสื่อสาร รับรู้ข่าวสารและความบังเทิงต่าง ๆ แถมหลายคนก้ใช้มือถือในการทำงานด้วย แต่การใช้มือถือมากเกินไปก็ไม่ดีนะคะ เพราะบางคนถึงขั้นติด จนกลายเป็นโรค Nomophobia โรคกลัวการขาดมือถือ นานไปอาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้เลยนะ เราไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่าโรคนี้มันเป็นยังไง แล้วเราจะแก้ยังไงได้บ้าง
ขาดมือถือแล้วใจจะขาด ต้องระวัง! Nomophobia โรคกลัวการขาดมือถือ
เชื่อว่าหลายคนเป็นแน่นอน กับการต้องมีมือถือไว้ติดตัว ติดมือ ให้มองเห็นตลอดเวลา จะได้รู้สึกอุ่นใจ เผื่อมีการแจ้งเตือนอะไรมาจะได้เห็นทันทีใช่มั้ยล่ะ แต่ถ้าติดหนักขนาดห่างจากมือไม่ได้เลย ไม่งั้นจะรู้สึกกระวนกระวาย แบบนั้นก็น่ากลัวแล้วค่ะ เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ
Nomophobia คืออะไร
Nomophobia ย่อมาจากคำว่า No-mobile-phone phobia คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการหวาดกลัวเมื่อต้องดำรงชีวิตอยู่โดยไม่มีมือถือ หรือไม่ได้ใช้มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการลืมพกมือถือติดตัว มือถือแบตหมด หรือการอยู่บริเวณที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ไม่ทันเหตุการณ์ หรือสูญเสียความสะดวกสบาย มักจะพบในกลุ่มอายุ 18-24 ปี มากถึง 70% รองลงมาคือกลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ อายุ 55 ปีขึ้นไป
อาการของ Nomophobia เป็นยังไง
อาการของโรค Nomophobia เนี่ย นอกจากความกังวลที่ได้บอกไปแล้ว อาการที่ตามมาก็คือ รู้สึกกระวนกระวายใจ หงุดหงิด เครียด รู้สึกไม่ดีเมื่อขาดโทรศัพท์ จนบางรายถึงขั้นมีเหงื่อออก ตัวสั่น หรือคลื่นไส้ ไปเลยก็มีนะ
อาการแบบไหนเข้าข่าย Nomophobia แล้ว
หากซิสยังไม่แน่ใจว่าตัวเองติดโทรศัพท์มือถือแบบหนัก ๆ จนเข้าข่าย Nomophobia หรือเปล่า ลองดูอาการด้านล่างนี้เป็นแนวทางก็ได้ค่ะ ใครเข้าข่ายก็ต้องฝึกตัวเองให้เพลา ๆ การใช้โทรศัพท์ได้แล้วนะ
- ไม่สามารถปิดโทรศัพท์ได้
- พกโทรศัพท์ติดตัวไปทุกที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำ
- หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความในโทรศัพท์
- ได้ยินเสียงแจ้งเตือนไม่ได้ ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็กทันที
- แค่สายตาเหลือบเห็นข้อความแว้บ ๆ ก็ต้องเช็คมือถือทันที
- รู้สึกกังวล หรือกระวนกระวายใจ ถ้าไม่พกโทรศัพท์ติดตัว
- วางโทรศัพท์ได้ไม่เกิน 5 นาทีก็หยิบขึ้นมาเล่น
- เล่นโทรศัพท์ตอนกินข้าว
- รู้สึกอุ่นใจที่มีโทรศัพท์ติดตัวอยู่ตลอดเวลา
- ถ้าไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตจะหงุดหงิดมาก ๆ จนถึงขั้นกระวนกระวาย
ติดมือถือมาก ๆ อันตรายไหม
ถ้าจะบอกว่าไม่อันตรายก็คงจะไม่ใช่ เพราะการติดมือถือมาก ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือการใช้ชีวิตประจำวันด้านต่าง ๆ เพราะเราไม่เงยหน้าออกมาคุยกับคนรอบตัวเลย และหมกมุ่นกับสิ่งที่ปรากฏหน้าจอโทรศัพท์มากเกินไป นอกจากนี้การใช้มือถือมากเกินไป อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพดังนี้ค่ะ
- การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์นาน ๆ จะทำให้ปวดเกร็งบริเวณคอ บ่า ไหล่ หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัย เส้นประสาทสันหลังบริเวณคอถูกกดทับ จนเป็นเหตุให้เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง
- การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์นาน ๆ อาจส่งผลไปถึงการทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนาน ๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา
- การจ้องหน้าจอมือถือนาน ๆ ทำให้ดวงตากับเราสัมผัสกับแสงสีฟ้าโดยตรง ส่งผลให้ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง สายตาสั้น วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม
- การถือมือถือไว้กับตัวตลอดเวลา รวมถึงการไถดูหน้าจอ และการพิมพ์แชทรัว ๆ อาจทำให้นิ้วล็อก ข้อมืออักเสบ ปวดแขน มือชา แขนไม่มีแรงได้
- คนที่นั่งหรือนอนเล่นมือถือเป็นเวลานาน ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เพราะไม่ยอมขยับไปทำกิจกรรมอื่น ๆ
- การติดมือถือจะทำให้สมาธิสั้น เพราะการติดมือถือจนเป็นนิสัย ทำให้จดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น ๆ ที่ต้องทำน้อยลง (เพราะจะหันมาดูโทรศัพท์ตลอดเวลา)
- นอกจากสมาธิสั้นแล้ว ยังทำให้กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ใจร้อน ฉุนเฉียวขึ้นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากต้องตอบข้อความทันทีตลอดเวลานั่นเอง
- เกิดความเครียด สุขภาพจิตเสีย เพราะตามดราม่าในโซเชียลมากเกินไป จนเก็บมาเป็นอารมณ์
- การเดินเล่นมือถือ หรือเล่นมือถือระหว่างเดินทาง อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินอีกด้วย
ดูแลตัวเอง ไม่ให้เป็น Nomophobia ทำยังไงได้บ้าง
ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มเข้าข่ายแล้ว และไม่อยากติดมือถือ เพราะไม่อยากมีอาการเจ็บป่วยหรือผลเสียตามมา ก็ควรดูแลตัวเองให้ดี ปรับวิถีการใช้ชีวิตใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมสักนิด ดังนี้ค่ะ
- ตั้งขอบเขตการใช้งาน กำหนดกฎหรือช่วงเวลาในการใช้โทรศัพท์ หยุดใช้งานบ้าง หรือปิดเครื่องไปเลยในบางช่วงเวลาของวัน เช่น เวลากินข้าว เวลาทำงานด่วนหรือประชุม หรือจะเป็นเวลานอนก็ได้
- สร้างสมดุลในชีวิต คือในแต่ละวันควรคุยกับคนเป็น ๆ บ้าง เพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุยกับคนใกล้ชิดแบบอยู่ต่อหน้าให้มากขึ้น
- จัดให้มีเวลาหยุดใช้โทรศัพท์เป็นระยะสั้น ๆ เช่น วางโทรศัพท์ทิ้งไว้เมื่อเดินไปที่อื่น อย่างการเดินไปเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่น
- หากิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทำบ้าง เช่น วาดรูป อ่านหนังสือ ระบายสี ปักครอสติสคริสตัล เล่นกีฬา หรืองานอดิเรกอะไรก็ได้ที่ชอบ
โทรศัพท์มือถือจัดเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสบายและสร้างความบันเทิงได้ดี แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนดาบสองคม ที่จะทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัวเหมือนกันนะคะ ดังนั้น ซิสควรจะจัดสรรเวลาดี ๆ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดียาวนานนะ เป็นห่วงค่ะ
Credit Information from : healthsci.swu.ac.th, chulalongkornhospital.go.th, mw-wellness.com, www.dmh.go.th
Credit Pictures from : Pinterest : jungkook365 / Dilys_Chilly / canessodeamorim, Ulzzang girl, koreanstvff.tumblr.com, iprofiles.ru, www.tumbex.com, favim.com
Stay connected