การทำงานมันต้องทำเป็นทีม ถึงจะประสบความสำเร็จใช่ไหมคะ แล้วมายด์เซตในการทำงานของซิสเป็นแบบไหนกันบ้างคะ เป็นแบบ Win – Win ที่ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ หรือเป็นแบบ Lose – Win ที่ยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพื่อให้อีกฝ่ายได้ประโยชน์ ถ้าเป็นอย่างหลัง อันนี้ต้องระวังนะคะ เพราะถึงแม้จะดูประณีประณอม แต่สุดท้ายแล้ว เราก็จะกลายเป็นแค่บันไดให้คนอื่นเท่านั้นเอง มาทำความรู้จัก พฤติกรรม Lose-Win Mindset กันสักหน่อยดีกว่าค่ะ
พฤติกรรม Lose-Win Mindset ระวังให้ดี อาจถูกเอาเปรียบได้
จริงอยู่ที่การทำงานจะต้องมีคนที่ประณีประณอมบ้างเนอะ เพราะถ้าพร้อมใจพุ่งชนอย่างเดียว แทนที่งานจะสำเร็จ ก็อาจจะพังไปกันใหญ่ แต่ถ้าประณีประณอมมากจนเกินไป คนเห็นแก่ตัวก็อาจจะมองว่า จะโยนงานอะไรมาให้เราทำก็ได้ เพราะเรารับตลอด นี่แหละค่ะ จะกลายเป็นปัญหา
Lose – Win Mindset เป็นยังไง
ถ้าคนที่มีพฤติกรรมแบบ Win – Win Mindset เขาจะต้องหาข้อตกลงให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นประเภท Lose – Win Mindset เนี่ย เป็นสายเสียสละ ทำงานจนตัวตายก็ได้ ขอให้งานออกมาสำเร็จเป็นพอ เพราะเชื่อว่า ต่อให้งานหนักแค่ไหน แต่ถ้าทำให้คนอื่นพอใจ และทำให้งานเสร็จได้ ผลลัพธ์คือความสำเร็จของตัวเองเช่นกัน การที่องค์กรประสบความสำเร็จโดยมีฉันแบกรับงานไว้ ฉันโอเค ฉันรู้สึกว่าได้รับชัยชนะเหมือนกัน บางคนยังคิดไปอีกนะว่าการทำแบบนี้คือ Win – Win ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
ซึ่งพฤติกรรมนี้แม้จะน่าชื่นชม และทุกคนควรจะชื่นชม แต่ถ้าไม่ตั้งลิมิตของตัวเองว่าจะทำเท่าไหนถึงจะพอ ทำแค่ไหนถึงเรียกว่ามากไป ก็อาจจะโดนเอาเปรียบจากคนอื่นได้ง่าย ๆ เลยนะ เพราะเขาโยนอะไรมาก็ทำหมด และเราอาจจะเป็นเครื่องมือของคนเห็นแก่ตัว ที่ใช้เราเป็นบันไดในการก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างสบาย ๆ เลย แถมความสำเร็จ (ที่เราคิดว่าเป็นของเรา) อาจจะแลกมาด้วยการ Burn Out หรืออาการหมดไฟ เพราะเราทุ่มเทแรงกายแรงใจไปจนหมดแล้ว เห็นไหมล่ะว่ามันไม่ดีหรอก
ไม่อยากมี Lose – Win Mindset แล้ว อยากเปลี่ยนเป็น Win – Win Mindset ต้องทำยังไง
ถ้าซิสเริ่มรู้สึกว่า เออ เรามีพฤติกรรมแบบ Lose – Win Mindset จริง ๆ ด้วย แต่ไม่อยากถูกเอาเปรียบแล้ว ไม่อยากหมดไฟเร็วเกินไป จะทำยังไงให้เรามีพฤติกรรมแบบ Win – Win Mindset ได้บ้าง ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้กันดูค่ะ
1. จำเป้าหมายของคนอื่น – คือสมมติเวลาที่ต้องคุยงานกรือดีลงานกัน เราต้องจำว่าอีกฝ่ายเขาต้องการอะไรมากที่สุดในสถานการณ์นี้ เช่น ถ้าจะดีลเรื่องซื้อสินค้า ฝั่งเราก็ต้องการควบคุมให้อยู่ในงบประมาณ ส่วนอีกฝั่งก็ต้องการกำไรบ้าง เมื่อทราบอย่างนี้แล้วจึงค่อยเจรจาตกลงให้พึงพอใจทั้งสองฝ่าย หรือหากต้องทำงานให้เสร็จทันเดธไลน์ ก็อาจจะต้องมีการเจรจาว่าเราสามารถทำให้ได้เร็วที่สุดแค่ไหนที่เราไหว ภายในเวลาที่อีกฝ่ายพึงพอใจ ไม่ใช่ “ได้ค่ะ ๆ” แต่สุดท้ายทำไม่ไหว หรือฝ่ายใดฝ่ายหรือเสียผลประโยชน์
2. ประเมินความคาดหวังของตัวเอง – เนื่องจากการแก้ปัญหาแบบ Win – Win หมายความว่า ทั้งสองฝ่ายคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราคาดหวังจากอีกฝ่ายหนึ่งนั้นยุติธรรมสำหรับพวกเขา เช่น สมมติเราคาดหวังจะไปต่อรองขึ้นเงินกับนายจ้าง ก็ต้องดูว่า สิ่งที่เราคาดหวังเนี่ย มันมากเกินไปไหม ถ้าเทียบกับคุณภาพ และปริมาณงานของเรา ถ้าเราทำงานได้ดี คนจ้างเราพึงพอใจกับงานเราแน่นอน ก็อาจจะสามารถขึ้นค่าจ้างให้ได้ แต่คือต้องไม่คาดหวังเว่อร์จนเกินไปด้วยนะ ว่าจะได้ตามที่เราต้องการเสมอ
3. สร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน – ถ้าแค่การเจรจามันอาจจะไม่บรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน บางครั้งเราอาจจะลองสร้างสถานการณ์ใหม่ขึ้นมาได้ ในการเจรจาต่อรอง เช่น เราอาจจะยอมเสียประโยชน์นิดหน่อย เพื่อแลกกับบางอย่างจากอีกฝ่ายที่เราต้องการ หรือยอมรับงานบางส่วนมาทำเพิ่มขึ้น แลกกับการได้เงินเพิ่มขึ้น ตามจำนวนที่เราร้องขอ แบบนี้ก็เรียกว่า Win – Win กันทุกฝ่ายเหมือนกัน
4. อย่าลืมวัตถุประสงค์เดิม – เวลาเราเจรจากับอีกฝ่าย อย่าลืมวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ และพิจารณาจากสิ่งอื่น ๆ หรือสถานการณ์อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การทำงานออกมาได้สำเร็จ, อัตราค่าจ้างที่กำหนดให้, งานเสร็จสมบูรณ์เกินความคาดหมาย, การประมาณการใด ๆ ก่อนหน้านี้หรือข้อตกลงที่ไม่ได้เขียนไว้ การพิจารณาทั้งหมดนี้ไม่ได้แค่ยุติธรรมต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ต้องยุติธรรมเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามวัตถุประสงค์ด้วยนะคะ
5. กำหนดทางเลือกที่ดีที่สุดของเรา – แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ที่ต้องการมากที่สุด เราควรกำหนดว่าผลลัพธ์ทางเลือกใดที่อาจมีประโยชน์สำหรับเรา คือแบบว่า ลองคิดดูว่าถ้าไม่ได้แบบนี้ แล้วแบบไหนเราถึงจะโอเค ถ้าคิดแบบนี้ได้ ก็จะ Win – Win ค่ะ เพราะเราไม่ได้คิดว่าเราจะได้ผลประโยชน์มากที่สุดแล้ว แต่เอาอะไรที่เราโอเค และได้ประโยชน์
6. ยอมรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น – เพราะการเจรจาต่าง ๆ ย่อมอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ด้วย ดังนั้นต้องยอมรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน หาทางออกที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ และพอ เท่านี้ก็โอเคแล้วค่ะ
เคล็ดลับในการบรรลุ Win – Win Mindset
บางทีการเจรจาต่อรองมันก็ทำให้เราล่กเนอะ แบบว่าเครียด จะทำยังไงให้การตกลงได้ด้วยดี แบบที่เราไม่เสียเปรียบ มาดูเคล็ดลับกันค่ะซิส
ใจเย็น ๆ ไว้ – แม้ว่าเราอยากจะได้ผลประโยชน์มากแค่ไหน แต่การสงบสติอารมณ์ไว้ก่อนน่ะช่วยได้เสมอนะ ให้ใช้เวลาหายใจ และรวบรวมความคิดก่อน จะได้มีสติ และสามารถเสนอการต่อรองหรือวิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
คิดบวก – แม้จะไม่แน่ใจว่าจะได้ทุกสิ่งที่ต้องการ แต่การมองโลกในแง่ดีสามารถเตือนเราได้ว่ายังมีวิธีแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย แถมทัศนคติเชิงบวกยังสามารถทำให้บรรยากาศการเจรจาดีขึ้นได้ด้วย
เคารพซึ่งกันและกัน – จำไว้ว่า อีกฝ่ายที่เขาต้องเจรจา เขาก็กำลังพยายามให้ได้สิ่งที่พวกเขาคิดว่ายุติธรรม แล้วเขาก็เคารพเวลา ความคิดเห็น และคำขอของเราด้วย เราก็ต้องเคารพเขาเหมือนกัน การเจรจาจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น
อย่าเป็นคนดีจนเกินไป จนยอมให้คนอื่นเขาเอาเปรียบนะคะซิส บางอย่างเราก็ได้รับผลประโยชน์บ้าง จะได้สำเร็จลุล่วงไปพร้อมกับทีมแบบที่ไม่มีใครเหนื่อยจนเกินไป ถ้ายอมตลอดเวลา ก็ลองเปลี่ยนพฤติกรรมบ้างก็ดีค่ะ
Credit Information from PRTR, indeed.com
Credit Pictures from Twitter etherealdior / Instagram taeri__taeri
Stay connected