ผู้หญิงหลายคนมักมีอาการก่อนเป็นประจำเดือน อย่าง อาการปวดท้องน้อย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า PMS หรือ Premenstrual Syndrome อาการที่สร้างกวนใจแก่สาว ๆ หลายคน  วันนี้เราจึงรวบรวม วิธีรับมือ PMS อาการก่อนเป็นประจำเดือน มาฝากสาว ๆ ทุกคนกันค่ะ

ประจำเดือน หมายถึง การที่มีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเกิดกับคนที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์  ประจำเดือนเกิดจากการที่สมองหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมรอรับการฝังตัวของตัวอ่อน ในแต่ละเดือนจะมีไข่ตกเดือนละ 1 ฟอง หากไม่มีการปฎิสนธิหรือไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมไว้รอรับตัวอ่อนก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน

 

วิธีรับมือ PMS

 

โมโหร้ายทุกที! มาบอก วิธีรับมือ PMS อาการก่อนเป็นประจำเดือน

 

PMS คืออะไร ?

PMS (Premenstrual Syndrome) คือ อาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน 5-11 วัน (เฉลี่ย 6 วัน) หายเมื่อประจำเดือนหมด (วันที่ 4-7 ของประจำเดือน) โดยสาเหตุของอาการนั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการ PMS จะส่งผลทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิตใจ ของสาว ๆ ส่วนสาเหตุของ PMS นั้น ยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด  แต่งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า PMS เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • พันธุกรรม คนที่เป็น PMS รุนแรงหรือ PMDD พบยีน ESR1 (Estrogen Receptor Alpha) ที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรม
  • ความแปรปรวนของฮอร์โมนเพศหญิง พบว่าในคนที่เป็น PMS และไม่เป็น PMS มีค่าของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างคือคนที่มีความแปรปรวนของฮอร์โมน อย่างเช่น การตัดรังไข่ 
  • อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คนที่รายได้น้อย มีความเครียดที่มากกว่า จึงทำให้มีโอกาสเป็น PMS มากกว่า เพราะ PMS ส่วนนึงมาจากความเครียด และการกินของที่มีประโยชน์
  •  สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) การแปรปรวนของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดสารสื่อประสาท Opioid, GABA, เบต้าเอ็นโดรฟิน (Beta endorphin) และเซโรโทนิน (Serotonin) จะทำให้เกิดความวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า  คนที่มีความแปรปรวนของสารสื่อประสาท จะทำให้เกิดอาการ PMS  และการใช้ยาที่ทำให้ลดระดับของสารสื่อประสาท จะช่วยลดอาการ PMS
  • วิตามินบี 1 บี 2  มีส่วนช่วยในการลด PMS ส่วนการรักษาโรคนี้ด้วยวิตามินบี 6, อี, ซี, แคลเซียม, แมกนีเซียม หรือเชสต์เบอร์รี ใช้ได้ผลกับแค่บางคน  

 

 อาการ PMS มีอาการมากมายถึง 150 อาการเลยค่ะ ซึ่งจะแสดงอาการก่อนมีประจำเดือน โดยสามารถแบ่งได้เป็นอาการทางด้านอารมณ์ และพฤติกรร และอาการทางด้านร่างกาย คร่าว ๆ ได้ ดังนี้

 

อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม ได้แก่

 

  • มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
  • มีความตึงเครียด และไม่มีสมาธิ
  • มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้กับเรื่องเล็ก ๆ วิตกกังวล
  • มีความต้องการหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
  • มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal)
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ (Insomnia)

 

อาการทางด้านร่างกาย ได้แก่

 

  • เจ็บเต้านม
  • ปวดกล้ามเนื้อ และข้อต่อ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องอืด
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • มีสิวขึ้น

 

วิธีรับมืออาการ PMS

ในช่วงก่อนมีประจำเดือนเราสามารถรับมือ PMS ได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งยาเลยค่ะ เราสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็มจัดหรือหวานจัด พยายามไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายด้วยการอาบน้ำอุ่น ๆ 

อีกหนึ่งคำแนะนำสำหรับสาว ๆ แนะนำให้จดบันทึกการมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจสภาพร่างกาย และอารมณ์ของตัวเอง แล้วพยายามเข้าใจตัวเองว่าการหงุดหงิด และรู้สึกซึมเศร้า เกิดจากระดับฮอร์โมนของเพศหญิง ไม่ใช่โรคแต่อย่างใด อย่าคิดมาก 

 

รับมือ ปวดท้องประจำเดือน

  • ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน ความอุ่นจากกระเป๋าน้ำร้อนมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และลดอาการปวดได้
  • ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ ควรเป็นน้ำอุ่นนะ ห้ามรับประทานน้ำเย็น เพราะอาจจะทำให้มีอาการปวดมากกว่าเดิม
  • นอนขดตัว ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องคลายตัว เป็นวิธีช่วยลดอาการปวดท้องได้แบบง่าย ๆ
  • รับประทานอาหารไขมันต่ำ (Low Fat) เช่น บลูเบอรี่ มะเขือเทศ พริกหยวก เป็นต้น อาหารเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดตัว เพราะจะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว
  • รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน แต่อาจจะรับประทาน ตอนที่มีอาการปวดมาก เพราะการรับประทานยาบ่อย ๆ อาจทำให้ติดได้

 

อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ อาการต่อไปนี้ที่บ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนปกติ

  • รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
  • อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น และมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
  • มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
  • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย เกือบทุก 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่า 80 ml. ต่อรอบเดือน
  • รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม
  • มีบุตรยาก

 

 

PMS อาการที่กวนใจสาว ๆ แล้วยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง อย่าปล่อยให้อาการ PMS เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราเกินไป  ถ้าปล่อยไว้ จนไม่สามารถควบคุมอาการได้  จะทำให้เราเกิดความผิดปกติทางสุขภาพ และอารมณ์อย่างรุนแรง  ใครที่รู้ว่าตัวเองมีอาการที่ส่งผลกับชีวิตประจำวัน แนะนำให้พบแพทย์ค่ะ

 

 

Photo Credit:

wandeehouse

 

Source Credit:

siphhospital

bumrungrad

phyathai

thestandard

Comments

comments