เวลาที่เราอกหัก หรือเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ ทำไมหัวใจเราถึงรู้สึกเจ็บจริง ๆ หน่วงจริง ๆ ทั้งที่สิ่งที่รับรู้เป็นสมอง แต่หัวใจกลับเจ็บ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมโน หรือการคิดไปเองค่ะ ความเจ็บปวดที่หัวใจนี้มีชื่อเรียกนะคะ มันคือ “ภาวะหัวใจสลาย” หรือ Broken Heart Syndrome คนที่เป็นไม่ได้เว่อร์แน่นอน และมันจะเป็นยังไง ลองมาทำความรู้จักภาวะนี้กันค่ะ

 

ทำความรู้จัก Broken Heart Syndrome เจ็บจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน!!

 

เคยใช่ไหมล่ะ ที่เวลาเราอกหัก เสียใจ รู้สึกสะเทือนใจมาก ๆ แล้วนอกจากปวดหัวแล้ว ยังรู้สึกปวด ๆ เจ็บ ๆ ที่หัวใจอีกต่างหาก สิ่งนั้นเราไม่ได้คิดไปเองค่ะซิส แต่มันคือภาวะหัวใจสลาย ซึ่งเป็นโรคอย่างหนึ่งจริง ๆ อาการของมันเกิดจากอะไร ไปหาคำตอบกัน

Broken Heart Syndrome

ภาวะหัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome)  เป็นภาวะความผิดปกติของการทำงานของหัวใจที่ถูกกระตุ้นให้เกิดจากความเครียดทางจิตใจ อย่างการเสียใจ เศร้า ผิดหวัง อย่างรุนแรง เช่น สูญเสียคนในครอบครัวอย่างกะทันหัน สูญเสียคนรัก หรือตกใจอย่างรุนแรง ซึ่งพอเจอความเครียดที่กระทบจิตใจรุนแรงมาก ๆ ก็ส่งผลให้ทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจจะบีบตัวลดลง หัวใจอ่อนแรง จนเจ็บหน้าอกได้ แต่อาการพวกนี้มาจากความเครียดนะ คนที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจก็เกิดอาการนี้ได้ เพราะไม่ใช่การอุดตันของเส้นเลือดในหัวใจ และส่วนใหญ่คนที่เป็นก็จะฟื้นตัวได้เองในช่วงไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์

จริง ๆ อาการนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอายุเฉลี่ยราว ๆ 50 – 75 ปี แต่ดูเหมือนว่า สภาวะสังคมต่าง ๆ ที่มีความเครียด ความกดดัน และความคาดหวังมากขึ้น ก็ทำให้สาว ๆ มีอาการเจ็บ ๆ ที่หน้าอก ที่หัวใจมากขึ้น แม้จะยังไม่ถึงขั้นเป็นโรครุนแรงก็ตาม

Broken Heart Syndrome

อกหักแบบไม่ Move On ก็เสี่ยงเป็นภาวะนี้นะ

ก็อย่างที่ซิสบอกไปค่ะ ว่าคนอายุน้อย ๆ ก็เสี่ยงที่จะเป็นภาวะหัวใจสลายได้ ยิ่งถ้าได้รับเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ อย่างการอกหักแบบที่ไม่ได้เตรียมใจ จนร้องไห้ฟูมฟาย ร้องหนักมาก ร้องข้ามวันข้ามคืน เสียใจไปเป็นเดือน ๆ ถ้าปล่อยไว้นานเกินไป ก็จะเกิดภาวะ Broken Heart Syndrome นี้ได้ค่ะ

Broken Heart Syndrome

อาการชัด ๆ ของโรคหัวใจสลาย

พอเกิดโรคหัวใจสลาย หรือเกิดเป็นภาวะก็ตาม อาการชัด ๆ ก็คือ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด นานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก และถ้าเครียดจัด ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งอาการแทรกซ้อนเหล่านั้นก็คือ ความดันเลือดต่ำ ปอดบวมน้ำ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือถ้ารุนแรงมาก ๆ ก็อาจจะไปถึงขั้น หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย ช็อค หรือเสียชีวิต น่ากลัวใช่ไหมล่ะ

Broken Heart Syndrome

ภาวะหัวใจสลาย รักษาได้มั้ยนะ

รักษาได้ค่ะ เพราะหัวใจสลายไม่ใช่โรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเป็นโรคหัวใจโดยตรง แต่เกิดจากความเครียดเป็นหลัก และความเครียดนั้นส่งผลไปยังหัวใจ แต่ภาวะหัวใจสลายเนี่ย จะไม่มีวิธีการรักษาโดยตรงนะ เพราะปกติถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย ก็จะหายไปได้เองอย่างที่บอกข้างต้น หลัก ๆ คือต้องควบคุมจิตใจและความเครียดของตัวเอง แต่ว่าถ้าเป็นหนักจนส่งผลต่อหัวใจจริง ๆ คุณหมอจะรักษาอาการเบื้องต้นเช่นเดียวกับภาวะหัวใจขาดเลือดโดยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณหัวใจ ไปพร้อม ๆ กับการให้ยาคลายกังวล เพื่อลดความเครียด และจะให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลจนกว่าจะหายดี

แต่ถ้าหายดีแล้ว คนที่เป็นก็ต้องให้ความร่วมมือกับหมอด้วยนะ เพราะต้องกลับมาดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดี ต้องรู้จักจัดการกับความเครียด และต้องให้ความร่วมมือในการให้คุณหมอนัดเช็คสุขภาพหัวใจ รวมไปถึงสภาวะจิตใจด้วย

Broken Heart Syndrome

ป้องกันตัวเองจากภาวะหัวใจสลาย

อย่างที่บอกว่า หลัก ๆ คือการจัดการกับสภาวะทางจิตใจ ดังนั้น วิธีการป้องกันไม่ให้หัวใจสลาย อาจจะทำได้ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ

1. ถ้าอกหัก หรือโศกเศร้าจากความสูญเสีย อย่าฟูมฟายนาน ซิสเข้าใจดีว่า ความเสียใจไม่สามารถห้ามกันได้ แต่พยายามอย่าอยู่คนเดียวค่ะ หาเพื่อนที่ไว้ใจได้ คอยพูดคุยปลอบโยน เพราะถ้าอยู่คนเดียว และปล่อยเวลาเอาไว้นาน อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า จนอาจคิดสั้นได้ หรือเป็นสภาวะ “ตรอมใจ” จนป่วยไข้ ไม่กินไม่นอน และอาจอันตรายถึงชีวิต

2. พยายามหาทางจัดการกับความเครียด เช่น อาจจะปรึกษาเพื่อนสนิทหรือครอบครัว รู้จักปฏิเสธ ปล่อยวาง มองโลกในแง่ดี ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ เป็นต้น

3. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพราะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จะเป็นอีกหนึ่งปราการ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้หัวใจของเราต้องทำงานหนักจนเกินไปได้ แม้จะเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ ก็อาจไม่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง การดูแลตัวเองก็ง่าย ๆ เลยค่ะ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามหลีกเลี่ยงแอลกอลฮอล์และบุหรี่ คิดเอาไว้ว่า “รักตัวเองดีที่สุด”

4. ในรายที่เคยมีอาการ อาจจะต้องกินยาบางชนิดช่วย เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เพื่อป้องกันผลกระทบของความเครียดต่อหัวใจในระยะยาว

Broken Heart Syndrome

ความเศร้า ความเจ็บ ความกระทบกระเทือนที่จิตใจได้รับ ของแต่ละคนนั้นต่างกัน เราไม่สามารถบอกได้ว่า “เรื่องแค่นี้เอง” ได้หรอกค่ะ เพราะความเจ็บปวดของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจดจำเอาไว้ให้ดี ก็คือ เราต้องรักตัวเองมาก ๆ เพราะไม่มีใครสามารถมารับผิดชอบความรู้สึกของเราได้ตลอดเวลา ซิสก็เป็นกำลังใจให้น้องซิสทุกคนเลยนะคะ ในสถานการณ์ที่หดหู่แบบนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองและจิตใจให้แข็งแรงกันมาก ๆ นะคะ

 

ข้อมูลจาก www.samitivejhospitals.com , www.vichaiyut.com , www.voathai.com , www.pobpad.com

ภาพจาก Youtube : soft pinkon , discord.com , pbs.twimg.com , www.wattpad.com , gfriendunited.com , www.fosterthefamilyblog.com , cetrefilliruhum.tumblr.com

Comments

comments