สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญนะคะซิส บางอย่างเราไม่เห็นจากอาการภายนอก แต่เกิดขึ้นจากภายใน อย่างเรื่องฮอร์โมน ก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้จริง ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจทำให้ระบบร่างกายรวน ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ยิ่งถ้าเกิดฮอร์โมนไม่สมดุลขึ้นมา นั่นแหละยิ่งทำให้ร่างพังแน่ ๆ เอ้า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าฮอร์โมนของเราเริ่มไม่สมดุลแล้ว มาค่ะ ซิสมี 10 สัญญาณเตือน ฮอร์โมนไม่สมดุล มาบอก ว่ามีอะไรบ้าง แล้วมันเกิดจากอะไร จะแก้ไขยังไงดี
10 สัญญาณเตือน ฮอร์โมนไม่สมดุล เกิดจากอะไร แก้ยังไงดี
ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่ผลิตโดยต่อมในระบบต่อมไร้ท่อ และปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนมีความสำคัญต่อการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงความอยากอาหารและการเผาผลาญแคลอรี่ วงจรการนอนหลับ วงจรการสืบพันธุ์และการทำงานทางเพศ อุณหภูมิของร่างกายและอารมณ์ ความไม่สมดุลของฮอร์โมนอาจเกิดขึ้นเมื่อมีฮอร์โมนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ตั้งแต่ความเหนื่อยล้า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงอาการคันที่ผิวหนัง หรืออารมณ์ไม่ดี แค่ฮอร์โมนไม่สมดุลเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้นะคะ เรามาดูกันค่ะ ว่าฮอร์ไมนไม่สมดุล เกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุหลัก ของฮอร์โมนไม่สมดุล ในผู้หญิง
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ผู้หญิงเราเนี่ย ฮอร์โมนแปรปรวน ผันผวนได้ง่ายมาก เรียกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเลยทีเดียว ฮอร์โมนของผู้หญิงจะผันผวนช่วงมีรอบเดือน ซึ่งอาจนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น ท้องอืด หรือนอนไม่หลับ นอกจากนี้การตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังส่งผลต่อฮอร์โมนด้วย หรือแม้แต่วัยหมดประจำเดือนก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนได้เช่นกัน แต่นอกจากสาเหตุหลัก ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลอีกด้วย เช่น
– ปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ – หากใครมีปัญหาเรื่องต่อมไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนักไปหรือทำงานน้อยไปของต่อมไทรอยด์ก็ตาม ก็ส่งผลถึงฮอร์โมนได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากภาวะภูมิต้านตนเอง ยา เนื้องอก และอื่น ๆ
– ความเครียด – ความเครียดทำให้ร่างกายผลิตคอร์ติซอล ซึ่งหากมีฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการ Cushing Syndrome เช่น หิวบ่อย กินจุ ใบหน้าอ้วนกลม น้ำหนักเพิ่ม ยิ่งถ้ามีอาการเครียดสะสมเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลไปยังฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกายด้วย
– การกินอาหารผิดปกติ – เช่น อาจจะลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี หรืออาการเบื่ออาหาร อาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนได้ ทำให้มีเอสโตรเจนน้อยเกินไป ส่งผลต่อปัญหาอื่น ๆ ในร่างกาย
– การคุมกำเนิด – ยาคุมบางประเภทมีฮอร์โมนอยู่ในตัว ซึ่งจะส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติ เลือดออกมาก น้ำหนักเพิ่ม ปัญหาทางเดินอาหาร ฯลฯ ยิ่งถ้าหยุดยาคุมก็ยิ่งอาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติชั่วคราว ในขณะที่ร่างกายกำลังปรับสมดุลในตัวเองอยู่
10 สัญญาณของฮอร์โมนไม่สมดุล มีอะไรบ้าง
เมื่อทราบสาเหตุคร่าว ๆ ของฮอร์โมนไม่สมดุลกันแล้ว เรามาดูกันค่ะว่า สัญญาณที่บ่งบอกว่า ฮอร์โมนของเรากำลังมีความผิดปกติ ไม่สมดุลแล้ว มีอะไรบ้าง
1. อารมณ์แปรปรวน – ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่อสารสื่อประสาทในสมองรวมทั้งเซโรโทนิน หรือสารเคมีที่ช่วยเพิ่มอารมณ์ ซึ่งความผันผวนของเอสโตรเจนนี่แหละ จะทำให้เกิดอาการ PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือน อย่างพวก นอยง่าย หดหู่ ร้องไห้ง่าย หรืออยู่ ๆ ก็หงุดหงิด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
2. ประจำเดือนมามาก และปวดท้องประจำเดือนมาก ๆ – ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วยระหว่างรอบเดือน เช่น ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย ปวดหลังส่วนล่าง ท้องผูก แปลว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนของเราอาจจะมากเกินไปจนเกิดการไม่สมดุลได้ และอาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอกอีกด้วย
3. ความใคร่ต่ำ – จริง ๆ อาการหมดความรู้สึกทางเพศ หรือความใคร่ต่ำนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเทอโรนลดลง ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ก่อนวัยอันควร แปลว่าฮอร์โมนของเราเริ่มผิดปกติแล้ว
4. นอนไม่หลับ หรือนอนหลับได้ไม่ดี – เวลาที่ฮอร์โมนของเราไม่สมดุล โดยเฉพาะเวลาที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง อาจส่งผลให้มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งรบกวนการนอนหลับ ทำให้เหนื่อยง่าย หมดพลัง
5. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ – ภาวะที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหลายอย่างอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมทั้งต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยด้วย เพราะเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยก็จะทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานไม่เพียงพอ ทำให้อ้วนขึ้นได้
6. ปัญหาผิว – ใครที่มีสิวเรื้อรัง อาจเกิดจากฮอร์โมนไม่สมดุลได้ เพราะเป็นสัญญาณบอกว่าเรามีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ และฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง ส่วนถ้ามีอาการผิวแห้งแสดงว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ อีกทั้งยังบ่งบอกว่าเราอาจมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้
7. ปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ – ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง ความไม่สมดุลของฮอร์โมนอาจส่งผลต่อรอบเดือน ซึ่งทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้นด้วย
8. ปวดหัว – ผู้หญิงหลายคนต้องปวดหัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างรอบเดือน การตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน ถ้าปวดหัวบ่อย ๆ ก็ต้องดูแล้วล่ะว่าฮอรโมนของเราไม่สมดุลหรือเปล่า
9. กระดูกอ่อนแอลง – ใครที่ฮอร์โมนไม่สมดุล ฮอร์ดมนเอสโตรเจนลดลง ก็อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกผุ หรือมวลกระดูกลดลงได้
10. ช่องคลอดแห้ง – ช่องคลอดแห้งมักเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ไม่เฉพาะกับแค่วัยหมดประจำเดือนนะ แต่ใครที่กินยาคุมหรือยากล่อมประสาทก็อาจจะทำให้ฮอร์โมนเกิดปัญหาได้ด้วย
แก้ปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุลยังไงดี
เมื่อทราบสาเหตุและสัญญาของฮอร์โมนไม่สมดุลแล้ว เราก็ต้องมาหาทางแก้ปัญหานี้กัน ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มฮอร์โมนไม่สมดุล ลองทำวิธีการเหล่านี้ดูค่ะ
– ปรับการกิน – กินอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุลด้วย อย่าให้น้ำตาลตก ดังนั้นควรกินอาหารทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง อย่ารอจนกว่าจะหิวจนหน้ามืด ไส้กิ่ว หรือรู้สึกจะเป็นลม เพราะจะทำให้ฮอร์โมนของเราสวิง และที่สำคัญคือต้องกินให้ช้าลงด้วย ลองเคี้ยวอาหารคำละ 20 – 30 ครั้ง และต้องกินแบบสบาย ๆ ไม่เครียด เพราะถ้าเราเครียด ลำไส้ก็จะไม่สามารถดูดซึมอาหารที่เข้าไปในร่างกายได้ ยิ่งทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนไปอีก
– งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ – แอลกอฮอล์หนึ่งแก้วเปรียบเสมือนการกินคุกกี้ที่มีน้ำตาลหนึ่งกำมือ ซึ่งส่งผลไปยังกระแสเลือดทันที โดยทำให้ความดันเลือดสูงปรี๊ด แถมยังทำให้ตับทำงานหนัก ดังนั้นจึงไม่สามารถดีท็อกซ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนออกไปได้ แล้วการที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนมามาก นานขึ้น แถมอาการระหว่างมีประจำเดือนยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก
– ปรับการนอน – พยายามปรับเวลานอนให้เร็วขึ้น งดอาหาร ชา กาแฟ เครื่องดื่มต่าง ๆ ก่อนนอน 2 – 3 ชั่วโมง สวมชุดนอนสบาย ๆ ทำห้องให้เย็นและมืดสนิท งดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน เพื่อให้นอนหลับสนิทที่สุด การนอนหลับอย่างมีคุณภาพจะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายได้
– ออกกำลังกายเบา ๆ – การออกกำลังกายทำให้อะดรีนาลีนหลั่ง และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้ฮอร์โมนสมดุลได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นขยับร่างกายอย่างต่อเนื่องวันละ 30 นาที จะช่วยทำให้อาการฮอร์โมนไม่สมดุลดีขึ้นได้
หมั่นสังเกตตัวเองเป็นประจำ จะได้รู้ว่าเกิดอะไรผิดปกติกับร่างกายหรือเปล่า และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที อย่าลืมนะคะว่าเรื่องฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อย่าปล่อยให้ฮอร์โมนไม่สมดุลนะ
Credit Information from hormonehealth.co.uk, www.healthline.com, www.medicinenet.com
Credit Pictures from Freepik
Stay connected