ปัจจุบันโลกโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายมาก และสามารถสร้างตัวตนของคนคนหนึ่งขึ้นมาได้ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากตัวจริงอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังทำให้คนระบายสิ่งต่าง ๆ ลงไปได้อย่างง่ายอีกด้วย โดยไม่มีทางรู้เลยว่า โมเมนต์ ณ ตอนนั้นเกิดขึ้นจริง หรือเขียนขึ้นเล่น ๆ เพราะบางคนนั้นมีพฤติกรรม Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า เรียกยอดไลค์ ให้คนหันมาสนใจตัวเอง แต่การโพสต์แบบนี้นั้นส่งผลกระทบต่อคนเป็นซึมเศร้าจริง ๆ ด้วยนะ เราไปทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า

 

Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า เรียกยอดไลค์แต่กระทบใจคนเป็นซึมเศร้าจริง ๆ

 

การโพสต์ลงโซเชียลมีเดียถือได้ว่าเป็นการระบายความอัดอั้น หรือเรื่องราวภายในใจของเราได้อีกทางหนึ่ง แต่บางอย่างถ้าเราโพสต์มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องเศร้าต่าง ๆ แต่ไม่ใช่เรื่องจริง แบบนั้นเรียกว่า Sadfishing ค่ะ อ้าว แล้วมันคืออะไร แปลว่าอะไร แล้วทำไปเพื่ออะไรกันล่ะ มาดูคำอธิบายกันค่ะ

 

Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า
Picture from Pixabay / Kirill Averianov

Sadfishing คืออะไร ?

คำว่า Sadfishing ให้คำนิยามได้ว่า “การบ่มเพาะความเศร้า” คือการโพสต์ที่สื่อถึงความรู้สึกเศร้า ตัดพ้อชีวิต สิ้นหวัง และหดหู่ของตัวเอง โดยข้อความเหล่านั้นอาจจะเกินจริงจากความรู้สึกของคนโพสต์ แต่ใส่สีตีไข่ให้เว่อร์ ๆ เข้าไว้ และบางข้อความอาจรุนแรงถึงขั้นการทำร้ายตัวเอง และฆ่าตัวตาย เรียกง่าย ๆ ก็คือ การแกล้งเศร้าเกินเหตุ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น หรือหวังเรียกยอดไลค์และคอมเม้นต์ มาเห็นใจให้มากที่สุด

 

Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า
Picture from Pixabay / Pexels

ทำไมคนถึงมีพฤติกรรม Sadfishing ?

หลัก ๆ การโพสต์เศร้า ๆ ในโซเชียล ก็เพื่อเรียกร้องความสนใจนั่นแหละค่ะ เนื่องจาก อาจมี Self Esteem หรือความนับถือในตัวเองต่ำ หรือเป็น Nobody ในชีวิตจริง ไม่ได้รับความสนใจมากพอ หรือในวัยเด็กขาดอบอุ่น จึงต้องการถูกกดไลค์ คอมเมนต์ หรือมีคนมาให้ความสนใจ แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ เหล่าคนดัง เซเลบ ดารา อินฟลูเอนเซอร์บางคน ใช้การ Sadfishing เพื่อเรียกร้องความสนใจ ความเห็นใจ เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

เช่น การขายของ ยกตัวอย่างเช่น “เคยถูกล้อ มีปมเรื่องหน้า เศร้าจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ได้คลินิกความงามช่วยทำให้มั่นใจมากขึ้น” แบบนี้คนที่เคยเห็นใจในตอนแรกก็จะเกิดความรู้สึกว่าโดนหลอก และทำให้ความเห็นอกเห็นใจในกรณีอื่น ๆ ลดน้อยลง เพราะคิดว่าจะเป็นการกระทำเพื่อหาผลประโยชน์เหมือนเดิม นี่แหละที่จะเป็นปัญหากับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ

 

Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า
Picture from Pixabay / JESHOOTS-com

Sadfishing ส่งผลกับคนเป็นโรคซึมเศร้ายังไง

การเรียกร้องความสนใจ แบบเศร้าเกินกว่าเหตุอย่างต่อเนื่อง อย่างประโยคที่ว่า “ทนไม่ไหวแล้ว” “รู้สึกแย่มาก ๆ” “ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร” อะไรทำนองนี้บ่อย ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้คนมาคอมเมนต์ให้กำลังใจ โดยที่ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ก็คือในโพสต์อื่น ๆ ก็ดูใช้ชีวิตร่าเริงตามปกติ แต่แป๊บ ๆ ก็เศร้าอีกแล้ว จะทำให้คนอื่น ๆ ที่มาเห็นเริ่มรู้สึกชินชา ไม่สนใจ ไม่กดไลค์ หรือคอมเมนต์ให้กำลังใจอีกต่อไป 

เมื่อเริ่มรู้สึกชินชากับพฤติกรรมแบบนี้ ก็จะทำให้เราไม่สามารถแยกแยะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กับกลุ่ม Sadfishing ได้ออก ว่าใครเศร้าจริง ใครอ้างว่าเศร้ากันแน่ ทั้งที่บางทีผู้ป่วยจริง ๆ เขาพยายามสื่อสารข้อความขอความช่วยเหลือบางอย่าง แต่ก็ถูกกลับมองว่าเป็น Sadfishing หรือการเรียกร้องความสนใจไปซะอย่างนั้น จนอาจจะทำให้คนที่รู้สึกแย่จริง ๆ หรือเศร้าจริง ๆ รู้สึกไม่ดียิ่งกว่าเดิม เพราะมีคนเมินเฉยกับเขา จนหากเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ก็ไม่สามารถจัดการสถานการณ์ได้ทัน จนกลายเป็นได้รับข่าวร้ายไปเลย

Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า
Picture from Freepik / pvproductions

เรื่องนี้เป็นปัญหาหนักมากในต่างประเทศค่ะซิส โดยเฉพาะในหมู่เด็กวัยรุ่น เพราะมีผลการสำรวจความคิดเห็นของเด็ก ๆ จำนวน 50,000 คนในอังกฤษโดย Digital Awareness UK พบว่า ในระยะหลังนี้ เมื่อเด็ก ๆ มีการแชร์ความรู้สึกแย่ ๆ ของตัวเองลงไปบนโซเชียลมีเดีย

แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ หรือการซัพพอร์ตต่าง ๆ จากเพื่อน ๆ กลับถูกมองว่าเป็นพฤติกรรม Sadfishing หรือถ้าบางคนมีการโพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจจริง ๆ แล้วถูกจับได้ ก็จะถูก Bully จากเพื่อน ๆ ทีนี้หลังจากนี้ถ้าเด็กคนนั้นเกิดเรื่องกระทบใจจริง ๆ ก็จะไม่มีคนสนใจแล้ว เห็นไหมล่ะ ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะ

 

Sadfishing ชอบโพสต์เศร้า
Picture from Pixabay / vdnhieu

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแบบไหนคือ Sadfishing แบบไหนคือซึมเศร้าจริง ?

เรื่องแบบนี้แม้จะแยกออกยาก แต่ถ้าคนรอบข้างใส่ใจจริง ๆ ก็สามารถรู้ได้ว่าเขาแค่ “แกล้งเศร้า” หรือเป็นซึมเศร้าและต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ โดยสังเกตพฤติกรรมโดยรวมของคนคนนั้นว่ามีอะไรแปลกไปไหม ค่อย ๆ พูดคุย ถามไถ่ และพร้อมจะรับฟังปัญหาหากต้องการเล่า ถ้าคนคนนั้นไม่หลบเลี่ยงที่จะตอบคำถาม หรือมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ดูเศร้าและน่าเป็นห่วงจริง ๆ ก็ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกหันหลังให้

ซึ่งทั้งหมดนี้อย่าเพิ่งตัดสินคนไปก่อนจากโพสต์ของเขา แต่ต้องสังเกตปัจจัยร่วมอื่น ๆ ด้วยค่ะ (เพราะบางทีคนเป็นซึมเศร้าเขาก็ไม่แสดงออกว่าเศร้าจริง ๆ) จำไว้ว่า การถามไถ่และรับฟังเป็นเรื่องที่ดีเสมอนะคะ

 

แม้การใช้โซเชียลมีเดียจะเป็นเรื่องสะดวกสบายและง่ายต่อการแชร์เรื่องราวต่าง ๆ แต่มันก็เหมือนดาบสองคมเหมือนกันนะ ดังนั้นคิดเยอะ ๆ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ  และอย่าอยู่กับมันมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้สุขภาพจิตเสียได้ค่ะ

 

Credit Information from www.brandthink.me, www.brandbuffet.in.th, tonkit360.com

Pictures from Freepik, Pixabay

Comments

comments