ซิสเคยเป็นไหมคะ ทำงานเหนื่อย ๆ มาทั้งวัน จนรู้สึกว่า ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย ก็เลยถือโอกาสใช้เวลากลางคืนนี่แหละ ทำสิ่งที่อยากทำ จนกลายเป็นว่า ง่วงแต่ไม่อยากนอน อาการนี้ถ้าสั่งสมมากเข้า มันจะกลายเป็นภาวะ Revenge Bedtime Procrastination หรือนอนดึกเพื่อแก้แค้นชีวิต และจะกระทบต่อสุขภาพ อาการนี้มันเป็นยังไง ส่อโรคอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกันค่ะ

 

ง่วงแต่ไม่อยากนอน อาการนี้มันเป็นยังไง จะส่อโรคอะไรหรือเปล่า

 

ชีวิตการทำงานมันไม่ใช่เรื่องง่ายเนอะ ไหนจะต้องรับผิดชอบหน้าที่นั่นนี่นู่นเยอะแยะ เวลาพักผ่อนก็ไม่ค่อยจะมี สิ่งที่หลายคนมักจะทำกันก็คือ เอาเวลาช่วงดึกนี่แหละ มาใช้ในการพักผ่อน เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเองจากความเหนื่อยล้า แทนที่เราจะเอาเวลาไปนอนหลับ ถึงง่วงก็ไม่ยอมนอน เพราะอยากทดเวลานั่นเอง มันเลยกลายเป็นภาวะ Revenge Bedtime Procrastination หรือนอนดึกเพื่อแก้แค้นชีวิต นั่นเองค่ะ

ง่วงแต่ไม่อยากนอน

ภาวะ Revenge Bedtime Procrastination มันเป็นยังไง

อย่างที่บอกว่าเราเจอเรื่องเครียด ๆ มาตลอดทั้งวัน เจออะไรต่อมิอะไรมาดึงเอาเวลาส่วนตัวไปหมด ทำงานจนไม่เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น ซึ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของ Covid – 19 ทำให้ภาวะนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องมาจากคนรู้สึกว่ามีเวลาให้ตัวเองน้อยลง รวมถึงภาวะความเครียดที่ต้องแบกรับในช่วงกลางวัน  ก็เลยเลือกสละเวลาที่เราต้องนอนในเวลากลางคืน มาทำสิ่งที่อย่างทำ ไม่ว่าจะเป็นการดูซีรีส์ ส่องไอจี หรืออะไรต่อมิอะไรที่อยากทำ ทั้งที่รู้ว่านอนดึกจะส่งผลเสีย แต่ก็ยังจะทำ เพราะอยากแก้แค้นเวลากลางวัน ที่เราไม่ได้ทำอะไรตามใจอยากนั่นเอง ซึ่งข้อดีข้อเดียวของการผลัดเวลาเข้านอนก็คือ การได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ แม้ว่าการทำอะไรตามใจจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นก็จริง แต่การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานานก็ส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและใจ และทำให้เราทำอะไรต่าง ๆ ได้แย่ลงอีกด้วยนะ

ง่วงแต่ไม่อยากนอน

ข้อเสียของ Revenge Bedtime Procrastination เป็นยังไง

คือพฤติกรรมการนอนดึกเพื่อแก้แค้นตัวเอง หรือ Revenge Bedtime Procrastination เนี่ย ถึงแม้จะไม่ใช่การนอนดึกเพราะความเครียด หรือมีเรื่องวุ่นวายใจให้คิดในหัว แต่มันเป็นการฝืนร่างกายไม่ให้เดินตามนาฬิกาธรรมชาติ ถึงจะมีความสุข แต่สุดท้ายแล้ว การแก้แค้นเวลาที่เสียไปนั่นแหละ จะเป็นการกลับมาทำร้ายตัวเองนะคะซิส มาดูกันว่า เจ้าอาการง่วงแต่ไม่ยอมนอน จะส่งผลเสียต่อร่างกายยังไง

  • การอดนอน หรือนอนไม่พอ จะทำให้ร่างกายเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • ลดความสามารถในการคิด การเกิดไอเดียใหม่ ๆ และความสามารถในการจดจำ
  • ลดความสามารถในการตัดสินใจที่ดี ความสามารถในการแก้ปัญหาใด ๆ
  • หงุดหงิดง่ายขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง
  • ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง รู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวัน หรืออารมณ์แปรปรวน
  • เสี่ยงอ้วนง่าย เพราะมีความเสี่ยงที่ระบบเผาผลาญอาหารของร่างกายจะผิดปกติ
  • มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดง่ายขึ้น
  • เวลาที่เราจ้องมือถือนาน ๆ จะเจอกับแสงสีฟ้า และแสงสีฟ้านี้จะมีส่วนในการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการหลับ และการตื่น ส่งผลต่อการนอนในระยะยาว

นอกจากนี้ยังมีข้อเสียของการนอนดึกอีกมากมาย ดังนั้นหากเป็นไปได้ อย่าทดเวลาด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตอนดึกเลย ดูแลสุขภาพให้ดี แล้วเอาเวลาช่วงวันหยุดไว้ทดเวลาดีกว่าค่ะซิส

ง่วงแต่ไม่อยากนอน

ง่วงแต่ไม่อยากนอน จะแก้ไขยังไงดี

เข้าใจนะคะซิส ว่าการรีบนอน มันจะทำให้เราต้องไปเผชิญกับความเครียดในวันถัดไปได้เร็วขึ้น แต่การทดเวลา หรือหาเวลาผ่อนคลาย จนทำให้เรานอนดึกเป็นประจำ ก็ไม่ใช่เรื่องดีเลย ดังนั้นเราควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการนอน เพื่อสุขภาพที่ดีกันดีกว่า เมื่อสุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็จะดีตามไปด้วยนะ แล้วจะต้องทำยังไง ตามมาดูกัน

1. วางมือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ – กำหนดไว้เลยค่ะซิสว่าจะไม่แตะโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็ปเล็ต ก่อนนอนประมาณ 30 – 45 นาที เพราะแสงสีฟ้าจากอุปการณ์พวกนี้มักก่อกวนนาฬิกาชีวิต ทำให้เราจำเวลาที่ควรจะนอนตามธรรมชาติไม่ได้ แถมยังไปยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน ทำให้เราหลับยากขึ้นอีกต่างหาก ดังนั้นวางไว้ให้ไกลตัวเลยดีกว่า และถ้าเป็นไปได้ ควรใช้นาฬิกาปลุกแทนการตั้งเวลาปลุกในโทรศัพท์ด้วยนะ

2. ทำกิจกรรมผ่อนคลายตัวเองก่อนนอนเป็นประจำ – ทำให้เป็นนิสัยเลยยิ่งดีค่ะ กิจกรรมที่ว่าก็เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ฟังธรรมะ จิบชาสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการนอนหลับ ทำสมาธิ โดยควรจะเป็นสิ่งที่เราชอบนะ เพื่อผ่อนคลายตัวเองจากความเครียด ความวิตกกังวลต่าง ๆ เนื่องจากความเครียดจะทำให้เรานอนหลับได้ยากนั่นเองค่ะ

3. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน ในช่วงบ่าย หรือช่วงเย็น – การดื่มแอลกอฮอล์แม้จะช่วยให้รู้สึกมึน ผ่อนคลาย หลับง่ายขึ้น แต่ก็เป้นตัวขับน้ำออกจากร่างกายของเราเช่นกัน ทำให้เราต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น รบกวนการนอนไปมาก ส่วนคาเฟอีนนั้น ทราบกันดีอยู่แล้วว่าช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ยิ่งถ้าเรารับคาเฟอีนผิดเวลามันก็จะไปก่อกวนเวลานอนของเรา ดังนั้นควรงดก่อนถึงเวลานอนประมาณ 6 ชั่วโมงค่ะ

4. ทำห้องนอนให้มืดสนิท – ซิสหลายคนชอบเปิดไฟนอน รู้มั้ยคะว่าแสงไฟนี่แหละทำให้เรานอนหลับไม่สนิท เพราะร่างกายจะเตือนเราว่า มีแสงอยู่ แปลว่าเป็นเวลากลางวัน ทำให้รู้สึกว่าหลับ ๆ ตื่น ๆ แต่ถ้าห้องมืดสนิท ร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นเวลากลางคืน ทำให้เราหลับสนิท หลับลึก และหลับได้นานกว่านั่นเองค่ะ

5. รักษาเวลานอน และเวลาตื่น ให้สม่ำเสมอ – อย่างที่บอกไปว่านาฬิการ่างกายของเรามันฉลาด มันมักจะจำเวลาที่เราทำสิ่งใดซ้ำ ๆ กันว่าสิ่งนี้คือกิจวัตร หากเรานอนดึกตื่นเช้าบ่อย ๆ ร่างกายก็จะไม่ยอมนอนก่อนเวลา ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นจึงควรสอนร่างกายว่าเวลาไหนควรนอน เวลาไหนควรตื่น ควรตั้งเวลาให้เป็นกิจวัตร แม้ว่าจะเป็นวันหยุดก็ตาม จะทำให้เราง่วงตามเวลา และนอนหลับได้ในที่สุดค่ะ

6. ถ้าง่วงก็ต้องงีบ – ถ้าเรายังปรับพฤติกรรมการนอนดึกไม่ได้จริง ๆ เพราะเราง่วงแต่ไม่ยอมนอนจนร่างกายชินไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำเพื่อบาลานซ์ตัวเองคือการงีบระหว่างวัน แต่ควรงีบในเวลาประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น เพราะถ้านานกว่านั้นจะส่งผลให้ร่างกายเข้าสู่โหมดหลับลึก และส่งผลเสียเมื่อต้องรีบตื่น เช่น ปวดหัว เวียนหัว แถมยังส่งผลต่อการนอนครั้งต่อไปอีกต่างหาก

ง่วงแต่ไม่อยากนอน

อย่าล้างแค้นความเครียดของตัวเองด้วยการนอนดึกเพื่อทดเวลาเลยค่ะซิส เพราะข้อเสียมีมากกว่าข้อดีแน่นอน เอาเวลามาพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายสดชื่น พร้อมสู้ดีกว่า พอถึงเวลาพักจริง ๆ เราก็พักให้เต็มที่ไปเลย แบบนี้แฮปปี้ในระยะยาวมากกว่านะ

 

Credit Information from unlockmen.com, muangthai.co.th, mirrorthailand.com

Credit Pictures from Instagram lilililililico, bemy_rin, ysubini, ___solvely___, sooviin38, di.ndin

Comments

comments