ซิสเคยเป็นหรือเปล่าคะ ที่นอน ๆ อยู่แล้วขาหรือแขนของเราก็กระตุกขึ้นมา โดยเฉพาะเวลาที่กำลังเคลิ้ม ๆ นี่แหละตัวดี กระตุกซะแรงจนบางทีเราสะดุ้งตื่น ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ ว่าแต่ อาการกระตุกขณะนอนหลับ แบบนี้ มันเกิดขึ้นได้ยังไง อันตรายไหม แล้วสามารถป้องกัน หรือแก้ไขได้ไหมนะ เรามาหาคำตอบกันดีกว่าค่ะ
อาการกระตุกขณะนอนหลับ อันตรายไหม แก้ยังไงดี
การกระตุกขณะนอนหลับ มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็ไม่รู้ตัวด้วยค่ะ เขาเรียกอาการนี้ว่า นอนกระตุก หรือ Hypnic Jerk บางคนก็จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น รู้สึกคล้ายตกจากที่สูง หัวใจเต้นรัว หรือหายใจถี่ ส่วนใหญ่มักจะเป็นในช่วงเคลิ้ม ๆ ก่อนจะผล็อยหลับ ก็เลยเป็นเหตุให้เราสะดุ้งตื่นขึ้นได้ค่ะ จริง ๆ แล้ว อาการนี้สามารถเจอได้กับคนทุกเพศ ในวัยกลางคนขึ้นไป แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงและไม่ส่งผลต่อสุขภาพ (ยกเว้นทำให้เรารู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม)
ลักษณะของอาการกระตุกขณะนอนหลับ
เนื่องจากการกระตุกแบบนี้ เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อเป็นระยะในขณะนอนหลับ อาการและความรุนแรงของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปค่ะซิส อย่างบางคนก็อาจจะแค่กระดิกนิ้วหัวแม่เท้า กระดิกเท้า หรือกระดิกนิ้วมือเป็นระยะ ๆ แต่บางคนก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเตะ ถีบ ฟาดแขน ฟาดขา หรือแม้กระทั่งกระตุกทั้งตัวเลยก็ได้ และส่วนใหญ่ก็มักไม่รู้สึกตัว
อาจจะมีตื่นมาแว้บนึง แล้วก็นอนต่อ คนทั่วไปจะไม่มีอาการนี้ หรือถ้ามีจะไม่เกินคืนละ 5 ครั้ง และกระตุกไม่แรง แต่ถ้ากระตุกมากกว่า 5 ครั้งและเป็นการกระตุกที่รุนแรง อาจเกิดจากโรคทางระบบประสาทและสมองได้ค่ะ
สาเหตุของการนอนกระตุก
สำหรับอาการนอนกระตุกนั้น มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์กันค่ะว่า อาจเกิดจากปฏิกิริยาที่สับสนของสมอง โดยเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะนอนหลับ ระบบการทำงานต่าง ๆ ก็เริ่มปรับตัวให้ทำงานน้อยลง เช่น หัวใจเต้นช้าลง หายใจช้าลง กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ก็เข้าโหมดการทำงานที่ช้าลงเช่นกัน โดยกล้ามเนื้อจะได้รับสัญญาณจากสมองเพื่อให้คลายตัวลงพร้อม ๆ กัน เพื่อเตรียมพร้อมสู่การนอนหลับ แต่พอกล้ามเนื้อคลายตัวพร้อม ๆ กัน ก็อาจทำให้สมองเกิดความสับสนว่า เอ๊ะ เราตกจากที่สูงลงมาหรือเปล่านะ
เพราะกล้ามเนื้อต่าง ๆ ไม่ได้ทำงานเพื่อให้ร่างกายยืน เดิน วิ่ง นอน นั่ง สมองจึงตอบสนองด้วยการให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว และกระตุกอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเอาชีวิตรอดตามสัญชาตญาณ นั่นแหละค่ะ เราถึงรู้สึกคล้ายกับตกจากที่สูงด้วยไง แต่นอกเหนือจากนี้ ก็มีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เรานอนกระตุกค่ะ โดยสาเหตุร่วมต่าง ๆ มีดังนี้
1. ความเครียด และความวิตกกังวล รวมถึงอารมณ์ทางลบอื่น ๆ ที่อยู่ภายในจิตใจ อาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง จนกระตุ้นให้สมองและร่างกายตื่นตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังกังวล จึงทำให้ร่างกายเกิดการกระตุกแบบฉับพลัน
2. การออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและสมองทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะออกกำลังกายตอนค่ำ ๆ หรือก่อนจะนอน สมองกับกล้ามเนื้อเขาก็อาจจะดีเลย์ ทำงานต่อเนื่องหลังจากที่ร่างกายหลับไปแล้วหลายชั่วโมง ทำให้เกิดการกระตุกระหว่างนอนหลับได้
3. คาเฟอีน อย่างที่เรารู้กันดีนะคะว่า คาเฟอีนมีฤทธิ์ทำให้สมองตื่นตัว ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชา ช็อกโกแลต โกโก้ หรือน้ำอัดลม ในช่วงเวลาใกล้เข้านอน จะทำให้คาเฟอีนยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย จึงอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทระหว่างนอนหลับ และเกิดอาการนอนกระตุกตามมา
4. สูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นอย่างหนึ่ง โดยจะไปออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสมอง จึงทำให้เกิดร่างกายเกิดอาการกระตุกขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสูบเยอะ ๆ หรือสูบก่อนนอน จนทำให้สารพิษตกค้างในร่างกาย
5. การกินยาคลายเครียด มีการศึกษาพบว่า ยาเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ที่เป็นยารักษาภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า อาจมีส่วนทำให้เกิดการกระตุกของร่างกายขณะนอนหลับค่ะ เนื่องจากยาตัวนี้เป็นยาที่ส่งผลต่อการทำงานของสารเคมีในสมองนั่นเอง
6. เลือดลมเดินไม่ดี ถ้าวิเคราะห์ตามหลักแพทย์แผนจีน เขาจะบอกว่าอาการกระตุกเกิดจากลม ซึ่งเกิดจากตับทำงานผิดปกติ ตับและไตอ่อนแอ เลือดและลมปราณน้อย จึงส่งพลังไปเลี้ยงปลายแขนและขาได้ไม่ดี จึงมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้
นอกจากนี้อาการกระตุกขณะนอนหลับ อาจเกิดจากโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้เช่นกัน เช่น กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic Limb Movement Disorder) โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคลมชัก เนื้องอกในสมอง และการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เป็นต้น หรืออาจจะมาจากพันธุกรรมก็ได้ เห็นไหมล่ะว่าสาเหตุน่ะเพียบเลย
ป้องกันและเยียวยาการกระตุกขณะหลับ ยังไงได้บ้าง
ถึงการกระตุกตอนนอนจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ทำเอาเราหงุดหงิดรำคาญใจไม่น้อย แถมทำให้นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลียระหว่างวันอีกต่างหาก ดังนั้น เรามาลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เล็ก ๆ น้อย ๆ จะได้ป้องกันการนอนกระตุก หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความถี่ได้ค่ะ
1. งดเครื่องดื่มคาเฟอีน ตั้งแต่ช่วงบ่าย ๆ ไปจนถึงก่อนนอน ถ้างดไม่ไหว ลดปริมาณลงก็ยังดี
2. งดสูบบุหรี่ และงดสารกระตุ้นอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง
3. อย่ากินมื้อเย็นให้อิ่มเกิน และควรงดมื้อดึก
4. หากมีอาการอ่อนเพลียระหว่างวัน ลองงีบหลับสัก 5 – 15 นาที จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น
5. เปลี่ยนเวลาในการออกกำลังกาย ไม่ให้ใกล้เวลานอนมากเกินไป
6. ไม่ควรทำงานในช่วงหัวค่ำหรือก่อนนอน ถ้านอนช่วง 4 ทุ่มได้จะดีมาก เพราะอวัยวะต่าง ๆ จะทำงานได้ดี
7. หากแขน – ขาเมื่อยล้า ลองให้แช่น้ำอุ่นวันละ 10 – 15 นาที
8. ผ่อนคลายร่างกายก่อนเข้านอน เช่น นั่งสมาธิ งดเล่นโซเชียล อ่านหนังสือ
9. กินพุทราจีนเพื่อบำรุงเลือด กินงาดำเพื่อบำรุงไต
10. ถ้าคิดว่าอาการกระตุกน่าจะมาจากยาที่ใช้ ลองปรึกษาแพทย์ดู
แต่ถ้าทำทุกทางแล้ว อาการกระตุกยังไม่ดีขึ้น แถมรุนแรงด้วย จนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรไปปรึกษาแพทย์ดูนะคะ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เพราะคุณหมออาจจะจ่ายยาบางตัวเพื่อลดอาการกระตุกได้ค่ะ
ถึงแม้จะไม่ใช่โรครุนแรงอะไร แต่ถ้าร่างกายผิดปกติมันก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละค่ะซิส ดังนั้น หมั่นสังเกตตัวเองบ่อย ๆ และรีบดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรงนะคะ
Credit Information from www.rajavithi.go.th, www.pobpad.com, goodlifeupdate.com
Credit Pictures from boredrobingirl.wordpress.com, www.wattpad.com, www.goody25.com, www.elsiglodetorreon.com.mx, www.medicinenet.com, Pinterest : Puchaczniuchacz
Stay connected