เคยเป็นกันบ้างหรือเปล่าคะ ที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่เก่งสักที ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่พอใจในตัวเอง แม้จะพยายามแค่ไหน หรือได้รับคำชมมาแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า คำชมนั้น หรือความพยายามนั้นยังไม่พอ หรือเป็นคำชมที่ไม่จริงใจ อาการนี้อาจจะไม่ใช่แค่ความคิดมาก หรือรู้สึกไปเอง แต่อาจจะเป็นโรคของสภาวะจิตใจโรคหนึ่งก็ได้ โรคนั้นเรียกว่า โรค Imposter Syndrome หรือเรียกอีกอย่างคือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง โรคนี้มันเป็นยังไง เราเข้าข่ายหรือเปล่า ซิสจะพาไปทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

 

ทำความรู้จัก โรค Imposter Syndrome กัน

 

เชื่อว่าซิสหลาย ๆ คนมักจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นมันดีหรือไม่ดี ถ้าดีแล้วจะดีพอหรือเปล่า พอได้รับคำชมก็กลายเป็นว่าไม่มั่นใจว่าที่เขาชมนั้นชมจริง ๆ หรือแกล้งชม แม้จะมีคนให้กำลังใจมากมาย แต่ก็รู้สึกว่าไม่ดีพอสักที ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นน้อย ๆ ก็ไม่เป็นอะไรหรอก แต่หากมีความรู้สึกแบบนี้ตลอดเวลา เฝ้าโทษตัวเองตลอดเวลา นั่นอาจจะต้องกลับมาสังเกตตัวเองสักหน่อยแล้วค่ะ ว่าเราเข้าข่ายโรค Imposter Syndrome หรือเปล่า

โรค Imposter Syndrome

เจ้าโรค Imposter Syndrome นั่นคือโรคที่ผู้ที่เป็นมักจะด้อยค่าตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีคุณภาพ ไม่เก่ง ไม่มั่นใจ เรียกว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่สามารถกลายไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และไม่ใช่เพียงแค่การถ่อมตัว เพราะมันคือการไม่พอใจในตนเองสักที

โรค Imposter Syndrome

โรคนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะคะ เพราะมีผลวิจัยชี้ว่า มีคนถึง 70% ที่เป็นโรคนี้ และอาการส่วนใหญ่คือ ชอบโชว์ศักยภาพให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองเก่ง เป็นที่หนึ่ง แต่ลึก ๆ ในใจแล้วก็กลัวความผิดพลาด กลัวคนอื่นจับได้ว่าตัวเองไม่เก่งจริง และรู้สึกว่าต้องพยายามมากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ

โดยนักจิตวิทยาคลินิก “Pauline Clance” และ “Suzanne Imes” ได้ให้คำนิยามของ Imposter Syndrome ไว้ว่า “แม้ว่าจะประสบความสำเร็จ สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงได้ แต่คนที่มีอาการเหล่านี้จะยังรู้สึกว่า ตัวเองไม่เหมาะสมหรือสมควรที่จะได้รับความสำเร็จเหล่านั้น และที่ผลงานออกมาดีนั่นก็เพราะ พวกเขาแค่โชคดีหรือบังเอิญจังหวะดีและเป็นช่วงที่เวลาเหมาะสมพอดีต่างหาก”

 

อาการแบบนี้ เข้าข่ายโรค Imposter Syndrome แล้วนะ

มาสังเกตตัวเองกันค่ะซิส ว่าซิสมีอาการเข้าข่าย 5 อาการนี้หรือเปล่า เพราะถ้ามีอาการ หรือมีนิสัยแบบนี้ แสดงว่าซิสเข้าข่ายจะเป็นโรค Imposter Syndrome แล้วนะ

โรค Imposter Syndrome

1. เป็น Perfectionist – พวกที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องเพอร์เฟ็กต์เต็ม 100% แม้จะทำได้ดีตั้ง 99% แล้ว แต่ถ้า 1% ยังไม่ดี ก็จะรู้สึกเฟล รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ และจะรู้สึกไม่พอใจ คิดว่าตัวเองไม่เก่งในเรื่องนั้น ๆ ทันที คนประเภทนี้เหมือนจะมีความมั่นใจนะ แต่ที่จริงแล้วลึก ๆ กลับรู้สึกลังเล และไม่เชื่อในความสามารถของตัวเอง ถึงได้ย้ำคิดย้ำทำบ่อย ๆ

2. เป็นพวกชอบกดดันตัวเอง – รู้สึกว่าสิ่งที่จะทำต้องออกมาดีมาก ๆ จนรู้สึกกดดัน และไม่ว่าผลงานที่ออกมาจะมีคนชื่นชม หรือมีกระแสตอบรับดีแค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่ามันต้องดีกว่านี้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความเป็น Perfectionist พอมีอะไรไม่ดีแม้สักนิด ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอทันที

โรค Imposter Syndrome

3. ต้องรอบรู้ทุกเรื่อง – เป็นคนที่ต้องตามทันกระแสในทุก ๆ เรื่อง จะรู้สึกชนะถ้าสามารถตอบคำถามหรืออธิบายในเรื่องต่าง ๆ ได้ก่อนคนอื่น ข้อดีคือจะหมั่นหาความรู้ และศึกษาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่รู้ จะรู้สึกเสียหน้า ไม่กล้าแลกเปลี่ยน ไม่กล้าอภิปราย เพราะกลัวว่าจะดูโง่ถ้าตอบคำถามไม่ได้

คนพวกนี้ถ้าตัดสินใจจะสมัครงาน เขาจะลังเลมาก ๆ ถ้าคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ระบุแม้เพียงข้อเดียว หรือเวลาพรีเซ้นต์งาน จะต้องทำการบ้านหนักมาก (แบบว่ามากจนเกินไป) เพื่อให้ตัวเองดูเก่ง ดูฉลาดมากที่สุด

4. เป็นพวก One Man Show ชอบทำทุกอย่างคนเดียว – จะเป็นประเภทที่ว่า ชอบทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว รู้สึกว่าตัวเอง “ต้อง” ทำได้ทุกอย่าง อาสารับทุกอย่างมาทำเองหมด เพราะถ้าต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งขึ้นมาทันที จะรู้สึกว่าล้มเหลวที่ไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้

5. ชอบอยู่ใน Comfort Zone กลัวที่จะต้องเจอสิ่งใหม่ ๆ – ข้อนี้เป็นประเภทที่ว่า ชอบทำในสิ่งเดิม ๆ เพราะรู้สึกว่าทำได้ดี กลัวว่าถ้าออกจาก Comfort Zone แล้วจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ดี เลยไม่อยากออกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ หรือลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะกลัวเสียงตำหนิที่อาจจะตามมา

 

Imposter Syndrome แก้ได้ แค่เปิดใจ

ถ้าซิสคนไหนที่มีอาการแบบข้างต้น แต่แค่แรกเริ่ม ยังไม่ถลำลึก สามารถปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง และแก้ไขอาการ Imposter Syndrome ได้นะคะ วิธีแก้มีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

โรค Imposter Syndrome

1. ยอมรับความจริง – สิ่งแรกที่ต้องเปิดใจยอมรับเลยคือ ยอมรับความจริง เพราะไม่มีใครบนโลกนี้สมบูรณ์แบบ และทุกอย่างก็สามารถผิดพลาดได้ เปลี่ยนแปลงได้ มองทุกอย่างตามความเป็นจริง พยายามปล่อยวาง และทำใจให้สบาย อย่ากดดันตัวเองมากจนเกินไป และเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว ก็ค่อย ๆ ตั้งสติ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และนำความผิดพลาดนี้มาเป็นแรงผลักดันตัวเอง

2. เปิดใจรับฟังคำติชม – อย่ารับแต่คำชม ต้องน้อมรับคำติบ้าง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อแรก ว่าต้องยอมรับความจริงก่อน ว่าทุกอย่างสามารถผิดพลาดได้ และเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์ เพื่อให้รู้ถึง ข้อดี หรือจุดที่ผิดพลาดในชิ้นงานนั้นๆ เพื่อนำมาปรับแก้ไขจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง และนี่แหละจะเป็นการลดการด้อยค่าในตัวเองลงไปได้

โรค Imposter Syndrome

3. ระบายออกมาบ้าง – เวลาที่รู้สึกกดดันมาก ๆ กลัวว่างานจะออกมาไม่ดี หรือสิ่งที่กำลังจะทำจะออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ ลองพูดคุยกับเพื่อนสนิทสักคนที่ไว้ใจได้ พวกเขาจะไม่เพียงแต่รับฟัง แต่ยังให้กำลังใจซิสได้ด้วย และการได้แลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และสร้างความมั่นใจให้กับเราได้ด้วยนะ

4. วางเป้าหมายไว้ไกล ๆ – อย่าคิดว่าทุก ๆ อย่างที่ทำต้องสำเร็จภายใน 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน เพราะหลาย ๆ อย่างก็อาจจะต้องใช้เวลา ลองวางเป้าหมายไว้ไกล ๆ สัก 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ค่อย ๆ ทำทุก ๆ อย่างให้สำเร็จไปเป็นข้อ ๆ และเมื่อสำเร็จ ซิสจะพบว่าซิสภูมิใจมาก ๆ แถมไม่กดดันด้วย

 

ซิสรู้ค่ะว่าสภาวะการณ์ในปัจจุบันทำให้หลาย ๆ คนกดดันมาก ๆ เพราะมีการแข่งขันกันสูงมาก ๆ แต่การกดดันตัวเองมากเกินไป และคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีอะไรดี รังแต่จะทำให้เครียด และไม่มีความสุขในชีวิต ดังนั้นให้กำลังใจตัวเองเยอะ ๆ ดีกว่านะ

 

ข้อมูลจาก www.fwd.co.th , www.terrabkk.com , www.smethailandclub.com

ภาพจาก k.sina.com.cn , .milkcocoa.co.kr , weheartit.com , www.tumblr.com , www.wattpad.com , Pinterest : dedeleonna

Comments

comments