ลอยกระทง เทศกาลหนึ่งสำหรับบูชาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12  คืนวันพระจันทร์เต็มดวง น้ำหนองเต็มตลิ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นี้ เชื่อเลยว่าเพื่อน ๆ อาจจะยังไม่รู้ประวัติที่แท้จริงของวันลอยกระทง วันนี้เราจะเปิดที่มาของ ลอยกระทง  เทศกาลนี้เกิดจากอะไร ทำไมถึงต้องลอยกระทง !?

ประเพณีลอยกระทง (Loy Krathong Festival) เทศกาลที่ไม่ได้แค่ในไทย แต่กลับมีในหลาย ๆ ประเทศ ทั้ง ประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ซึ่งมาจากความเชื่อที่แตกต่าง และมีรูปแบบในการจัดงานที่แตกต่างกันออกไป  

ลอยกระทง

เปิดที่มาของ ลอยกระทง เทศกาลบูชาพระแม่คงคาแล้วทำไมต้องลอย !?

 

ทำไมถึงลอยกระทง

การลอยกระทง ถ้าพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะเกี่ยวข้องกับการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือ แม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา


วัตถุประสงค์ของวันลอยกระทง

 วัตถุประสงค์ของการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน หรือเพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย

พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง อาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วง และรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดี ที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิต แรกที่ได้ ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อน เรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น 


ประวัติวันลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท

ความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงเพื่อขอบูชาพระพุทธบาทมีหลายตำนานด้วยกัน บางส่วนเชื่อว่าเป็นการรอรับเสด็จพระพุทธเจ้า หลังเสด็จไปโปรดพระมารดา บ้างก็ถือเป็นการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ ในขณะที่ชาวพุทธอีกจำนวนมาก ก็เชื่อว่าตำนานการลอยกระทงมีความเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาล

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ารับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย หลังเสวยแล้ว ก็ทรงนำถาดทองมาลอยน้ำและตั้งสัตยาธิษฐานว่า หากในภายภาคหน้าจะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดทองลอยทวนน้ำ ปรากฏว่าถาดทองลอยทวนน้ำจนกระทั่งพญานาคแห่งเมืองบาดาลเห็นเข้า จึงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาและขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อที่เหล่าพญานาคจะได้ขึ้นมาสักการะ


ประวัติวันลอยกระทง เพื่อรำลึกการปกป้องศาสนาของพญานาค

มีอีกหนึ่งความเชื่อประวัติลอยกระทงที่เล่ากันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช มีพระราชประสงค์ในการสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ ตามจำนวนพระไตรปิฎกที่มีจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ แต่ไม่สำเร็จเพราะมีมารมาขัดขวาง พระอุปคตมหาเถระ จึงไปขอให้พญานาคมาช่วยปราบมารเป็นผลสำเร็จ การลอยกระทงในคืนเดือนเพ็ญ จึงถือเป็นการรำลึกและบูชาพญานาคที่มาช่วยคุ้มครองพุทธศาสนา


ประวัติลอยกระทงสมัยสุโขทัย และตำนานนางนพมาศ

ตำนาน “นางนพมาศลอยกระทง” ซึ่งเป็นเรื่องเล่ากึ่งตำนานที่ยึดถือตามหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่เชื่อว่านางนพมาศเป็นพระสนมของพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย และเป็นกุลสตรีผู้คิดประดิษฐ์รูปดอกบัวโกมุท เพื่อใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระร่วง และรับสั่งให้ปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน


ความสำคัญของวันลอยกระทง

  • ช่วยสร้างจิตสำนึก และความตระหนักในความสำคัญของแม่น้ำ และแหล่งน้ำต่าง ๆ เน้นย้ำความสำคัญของทรัพยากรน้ำต่อการดำรงชีวิต
  • ช่วยสร้างจิตสำนึก และความตระหนักในความสำคัญของการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม
  • ได้สร้างความสามัคคีในครอบครัว
  • รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย  
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

กิจกรรมวันลอยกระทงในไทย

 ผู้คนมักจะประดิษฐ์กระทงหน้าตาสวยงาม ปักธูปเทียน และดอกไม้ เครื่องสักการบูชา ก่อนนำไปลอยในแม่น้ำ เพื่ออธิษฐานในสิ่งที่มุ่งหวัง และขอขมาต่อพระแม่คงคา ตามวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และงานมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน บางพื้นที่อาจจุดดอกไม้ ไฟร่วมในการฉลองด้วย  โดยการลอยกระทงนั้นเปรียบเหมือนการปล่อยให้ความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ลอยไปกับกระทงในแม่น้ำ 


การฉลองวันลอยกระทงในประเทศอื่น ๆ

  • ประเทศลาว ประเทศลาวมีงานไหลเฮือไฟ (ไหลเรือไฟ) ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือช่วงวันออกพรรษา โดยจะมีประเพณีการแข่งเรือที่ริมแม่น้ำโขง รวมทั้งการลอยประทีป โดยมีความเชื่อว่าเป็นการบูชาแม่น้ำโขง และบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
  • ประเทศเมียนมา (พม่า) ประชาชนจะพากันทำกระทงที่ตกแต่งเป็นรูปคล้ายกับดอกบัวบาน ปักธูป เทียน เพื่อบูชาและขอบคุณพญานาค ตามความเชื่อที่ว่าได้ช่วยปราบพญามารไม่ให้เข้ามาทำลายพระเจดีย์จากคำขอร้องของพระอุปคุต
  • ประเทศกัมพูชา เทศกาลน้ำของกัมพูชานั้นมีลักษณะคล้ายประเพณีลอยกระทงของไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต ประเทศกัมพูชามีการลอยกระทง 2 ครั้ง คือ ของราษฎร และของหลวง
  • ประเทศอินเดีย ประเพณีการจุดประทีปในช่วงปลายฝนต้นฤดูหนาว คือช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ทีปาวลี หรือ ดิวาลี ซึ่งแปลว่าเทศกาลแห่งแสงไฟ นิยมใช้วัสดุ เช่น กระดาษหนังสือหรือใบบัว เพื่อทำเป็นกระทงให้ใส่น้ำมันสำหรับจุดไฟได้ด้วย แล้วประดับให้สวยงามด้วยกลีบดอกไม้ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัตอโยธยาของพระรามและนางสีดา หรือเพื่อบูชาพระลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวย สมบูรณ์ และโชคลาภ
  • ประเทศจีน การลอยกระทงในประเทศจีนนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการไว้อาลัย และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต การลอยกระทงในประเทศจีนสามารถลอยได้ในทุกเทศกาล ไม่มีการกำหนดวันโดยเฉพาะ และแต่ละพื้นที่ก็จะมีความหมายแตกต่างกันออกไป เช่น ขอพรให้โรคภัยไข้เจ็บหายไปกับสายน้ำ หรือการขอพรให้เทพเจ้าปกป้องคุ้มครอง

 

นี้ก็เป็น ที่มาของ ลอยกระทง เพื่อน ๆ คงจะได้ความรู้ รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ ของวัฒนธรรมนี้ ซึ่งเทศกาลนี้ได้กลายเป็นวันสำคัญของทุก ๆ ปี เทศกาลที่เราจะชวนคนในครอบครัว รวมถึงคนรัก ไปลอยกระทงกัน เพื่อขอพรสิ่งดี ๆ และขอขมาพระแม่คงคา

 

Photo Credit:

p1

Source Credit

thairath

sanook

Comments

comments