จากบทความที่แล้ว ”ทะเลาะกันทีไร เราผิดตลอด! มาดู Gaslighting คือ อะไร? สรุปเราผิดจริงหรือแค่โดนปั่นหัว!” เราได้ทำความรู้จัก กับความหมายของ Gaslighting กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ดูตัวอย่างพฤติกรรมที่เข้าข่าย รวมถึงสัญญาญเตือนต่าง ๆ แล้วถ้าเรากำลังเผชิญกับสิ่งนี้อยู่จริง ๆ ต้องทำยังไง มาดู วิธีรับมือกับ Gaslighting ในบทความนี้กันเถอะ
วิธีรับมือกับ Gaslighting เมื่อโดนปั่นหัว เจอแบบนี้ต้องทำยังไง!?
ก่อนอื่นขอสรุปสั้น ๆ สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้ Gaslighting คือ รูปแบบการกระทำ ที่โน้มน้าว ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสงสัย กับความคิด ความทรงจำ ความสมเหตุสมผลของความรู้สึก ของตัวเอง เช่น โทษว่าเราโมโหมากเกินไป คนทั่วไปไม่คิดแบบเรา เราจำผิด เขาไม่ได้พูดแบบนั้น เป็นต้น หากโดนทำแบบนี้มาก ๆ อาจทำให้เรา เชื่อมั่นในตัวเองน้อยลง และ ถูกควบคุมจาก Gaslighter ได้ง่าย ๆ
ต่อจากนี้ เรามาดู วิธีรับมือกับ Gaslighting กันเลย
1. จำไว้ว่า สิ่งที่เจออยู่ คือการ Gaslighting
ขั้นแรกของการรับมือ คือ การรู้ตัวว่า เรากำลังเจออยู่กับอะไร ระลึกไว้เสมอว่า การที่เขาพยายามที่จะโทษทุกอย่างให้เป็นความผิดของเรา มันไม่ใช่เรื่องจริง อย่าโทษตัวเอง หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะนั่น คือเป้าหมายของเขา
2. บันทึก การสนทนา , ปฏิสัมพันธ์ , เรื่องที่เกิดขึ้น
เป้าหมายของการ Gaslighting คือ การทำให้เราสงสัย กับความคิด และ ความทรงจำของตัวเอง หลาย ๆ ครั้ง เราอาจจะได้ยิน Gaslighter ถามเราว่า เราจำผิดหรือเปล่า เขาจำได้ว่าเรื่องที่เกิดมันไม่ใช่แบบนั้นนะ และ เราก็มักจะไขว้เขว สงสัยกับตัวเองว่า หรือเราจะเป็นคนที่ จำผิดจริง ๆ การบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ จะช่วยให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น ว่าเราไม่ได้คิดไปเอง หรือจำผิดแน่ ๆ
3. มองหากลุ่มคน ที่เราพึ่งพาได้
การถูก Gaslighting จะทำให้เรา เกิดความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง มีความเชื่อมั่นใจตัวเองลดลง และ มองเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง ดังนั้น การมองหาคนที่ช่วยยืนยันความเป็นจริงกับเราได้ ว่าจริง ๆ แล้ว เราก็ ไม่ได้ไม่ดีพอ หรือไม่ได้มีความผิดปกติ แต่อย่างใด นอกจากนี้ การเข้าพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้เช่นกัน
4. ใจดีกับตัวเองหน่อย
การโดน Gaslighting นั้น ส่งผลลบ ต่อจิตใจของเรา การดูแลตัวเอง หากิจกรรมคลายเครียด อย่างเช่น ทำงานอดิเรก หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หาสิ่งที่ฮีลใจ ก็ช่วยเยียวยา และ ลดความรู้สึกไม่ดีออกไปได้
5. ขีดเส้นให้ชัด อย่าให้เขาล้ำเส้น
จริง ๆ แล้ว การมีขอบเขต เป็นเรื่องสำคัญ ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ แต่ในความสัมพันธ์ที่มีการ Gaslight เกิดขึ้น ก็ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีก เราสามารถจำกัดการพูดคุยกับคน ๆ นั้น ว่าจะคุยได้มากแค่ไหน หัวข้อเรื่องอะไรที่เราจะไม่ตอบโต้ และพยายามปลีกตัวออกมา อย่างเช่น เมื่อเขาพูดประโยคที่ทำให้เราเกิดสงสัยในตัวเอง หรือทำให้เราไม่สบายใจ เป็นต้น
6. อย่าไปเสียเวลาเถียง
คนที่เป็น Gaslighter เขาไม่สามารถปรับมุมมอง มามองในมุมของเราได้อยู่แล้ว การพยายามอธิบายให้เขาฟัง ว่าเรามองอย่างไร เขาผิดอย่างไร และเราถูกอย่างไร ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะน่าปวดหัวมากกว่าเดิม
7. เว้นระยะห่าง
เว้นระยะห่างในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง Social distance แต่อย่างใด แต่หมายถึงการเว้นระยะห่างทางความสัมพันธ์ เพราะบางทีมันก็ไม่คุ้ม ที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของ Gaslighter การทำตัวห่างเหินจากคน ๆ นั้น อาจจะเป็นทางเลือกเดียวที่เหลือ ถ้าเป็นความสัมพันธ์แบบแฟน การเลิกรา ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา
แล้วถ้าเราอยากตอบโต้ล่ะ จะพูดอะไรกลับไปดี
สำหรับคนที่โดน Gaslight มานาน มันก็เป็นเรื่องยากที่จะโต้ตอบ เราอาจยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำในวันนี้ แต่สำหรับคนที่อยากทำ เราจะพูดยังไงดี
- “เธอคงมองกันคนละมุมกับเรา ก็ไม่เป็นไร แต่ที่แน่ ๆ เราไม่ได้มโนขึ้นมาเอง”
- “ความรู้สึกของเราทั้งคู่ต่างก็สมเหตุสมผล เธอไม่ผิดที่จะรู้สึกแบบนั้น ฉันก็ไม่ผิดเหมือนกัน”
- “รู้สึกว่าการเถียงกันครั้งนี้มันยากเหลือเกิน เราพักกันก่อน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ดีไหม”
- “ถ้ายังพยายามมองข้ามความรู้สึกของเรา เราคงคุยกันต่อไม่ได้แล้วล่ะ”
ประโยคด้านบนเป็นตัวอย่าง การพูดที่กำหนดขอบเขต ไม่ให้เขาล้ำเส้น มาลดทอนความรู้สึกของเรา มาบอกว่าเราอ่อนไหวมากเกินไป หรือมาตั้งคำถามกับความทรงจำของเรา และ อย่าลืมว่า การพูดด้วยน้ำเสียงนิ่ง ๆ สงบ ๆ และท่าทางที่ดูมั่นใจ จะดีกว่าสำหรับการพูดกับ Gaslighter
และทั้งหมดนี้คือ บทความ วิธีรับมือกับ Gaslighting เมื่อโดนปั่นหัว ถูกโยนความผิด เจอแบบนี้ต้องทำยังไง!? ค่ะ หวังว่า คนที่อ่านจะสามารถนำไปปรับใช้ กับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ได้นะคะ
content credit : psychcentral
picture credits : stylist , istock , Pinterest , home dialysis
Stay connected