“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ประโยคนี้ได้ยินมาตั้งแต่เกิด! เรื่องของการจะทำอะไร ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น เป็นทักษะที่สำคัญและหลัง ๆ มานี้ Empathy Skill หรือ ทักษะการเอาใจใส่ การเห็นอกเห็นใจคนอื่น ก็กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากอย่าง เรียกว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่คนในสังคม และคนในทุกบทบาทอาชีพให้ความใส่ใจ เพราะมนุษย์จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้คน ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง การเรียน การทำธุรกิจ ไปจนถึงการบริหารงาน ทุกบทบาทล้วสนต้องการ การเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน
โตอย่างมีคุณภาพ Empathy Skill ทักษะการเอาใจใส่ ที่คุณควรมี!
: : Empathy คืออะไร? : :
Empathy คือ การเอาใจใส่ ความเห็นอกเห็นใจ ความสามารถในการเข้าใจ ร่วมสัมผัสความรู้สึกและความคิดของผู้อื่น มองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของพวกเขา และจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ของพวกเขา โดยพื้นฐานแล้วมันคือ การทำให้ตัวเองรู้สึกถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึก หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เช่น เมื่อคุณเห็นคนอื่นกำลังทุกข์ทรมาน จากที่พวกเขาสูญเสียคนที่รักไป คุณจะนึกภาพตัวเองที่ต้องผ่าน ประสบการณ์เดียวกันนั้นได้ทันที และคุณจะรู้สึกได้ว่าพวกเขากำลังเผชิญกับอะไรอยู่
: : แต่การเอาใจใส่คืออะไรกันแน่? : :
ในขณะที่ผู้คนสามารถปรับตัว เข้ากับความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้ดี แต่การเข้าไปอยู่ในหัวของคนอื่น เพื่อจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เข้าใจอารมณ์ที่ผู้อื่นรู้สึก มันมักจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า ความเห็นอกเห็นใจ ความสามารถในการเข้าใจและร่วมสัมผัส กับความรู้สึกและความคิดของผู้อื่น ในทางปฏิบัติอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะคุณต้อง “เดินโดยการสวมรองเท้าของผู้อื่น” สิ่งนี้ต้องทำโดยละ ‘สิ่งของ’ ของคุณเอง และเลือกที่จะเห็นสถานการณ์ผ่านสายตาของบุคคลอื่น
- ความเห็นอกเห็นใจคือการไม่ตัดสิน – การตัดสินสถานการณ์ของบุคคลอื่น จะเป็นการลดความเข้าใจที่คุณมีต่อเรื่องราวของพวกเขา
- การเอาใจใส่คือการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น – คุณต้องเชื่อมต่อกับความรู้สึกของตัวเอง เพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
- ความเห็นอกเห็นใจคือการสื่อสารว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของคนนั้น – แทนที่จะพูดว่า “มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้…” ให้ลองพูดว่า “ฉันเคยรู้สึกมาแล้ว และมันเจ็บปวดจริง ๆ” หรือ “ฉันรู้ว่าคุณกำลังแย่ เล่าให้ฉันฟังได้นะ” หรือเพียงแค่ “ฉันไม่รู้ว่าจะพูดอะไร แต่ฉันดีใจนะที่คุณบอกเรื่องนี้กับฉัน”
: : Empathy Skill สร้างได้ : :
การเข้าใจความคิดและความรู้สึกของคนอื่นอาจฟังดูยาก และไม่จำเป็นที่คุณต้องเกิดมาพร้อมกับมัน มันเกี่ยวข้องกับทักษะที่คุณสามารถ พัฒนาได้ด้วยความตั้งใจและการฝึกฝนได้
1. ทักษะการฟัง – มนุษย์เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘รับฟัง’ เพราะโดยทั่วไปแล้วเราไม่ได้คิด มอง หรือรับรู้โลกเหมือนกันทั้งหมด เราทำตามวิธีคิด วิธีมองเห็นโลกในแบบของเราเอง และคาดหวังให้คนอื่น ๆ คิดหรือทำในแบบเดียวกัน การฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจที่สำคัญ คือการรับฟังอย่างแท้จริงในสถานการณ์ต่าง ๆ กระตือรือร้นและเอาใจใส่ รับฟังอย่างมีสติ พยายามตั้งใจฟังอย่างจริงใจตลอดการสนทนา ลองแสดงการตั้งใจฟังด้วยวิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น วางโทรศัพท์ลงในระหว่างการสนทนา
* ก้าวแรกสู่การฟังอย่างแท้จริง คือการให้ความสนใจ 100% และละทิ้งอัตตาหรือการยึดมั่นถือมั่นในตนเองของคุณ เพื่อนำตัวเองเข้าสู่เรื่องราวนั้นให้มากขึ้น
2. ทักษะการไตร่ตรองอย่างมีสติ – คำนึงถึงสถานการณ์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รีบเร่ง ไม่ตั้งสมมติฐานด้วยตัวเอง หากความเห็นอกเห็นใจ คือการทำความเข้าใจเรื่องราวของผู้อื่น ต้องเริ่มด้วยการมีสติในการฟัง รู้จักไตร่ตรองเรื่องราวที่ได้รับรู้มา มันอาจจะเป็นเรื่องยาก เมื่อคุณเริ่มรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณอาจจะฟุ้งซ่านหรือรู้สึกหนักใจ การมีสติไคร่ครอง จะช่วยคุณไม่ให้ตัดสินใครโดยยังไม่ได้รับฟังเหตุผล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมวิธีการโต้ตอบและโต้ตอบกับผู้อื่น ในลักษณะที่คุณได้ไตร่ตรองมาแล้ว
3. ทักษะในการจินตนาการ – จินตนาการว่าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณบ้าง ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา แบ่งปันปฏิกิริยาและความรู้สึกของคุณ กับเรื่องราวของผู้อื่น ราวกับว่ามันเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ การทำแบบนี้จะทำให้เราได้เห็นภาพ ได้รับอิทธิพล จนเกิดความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย อย่างชัดเจนมากขึ้น
4. ทักษะการดูแลตนเอง – ความเห็นอกเห็นใจต้องเริ่มที่ตัวคุณเองก่อน ถ้าการเอาใจใส่คือการเข้าใจผู้อื่น ดังนั้น การแสดงความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ ก็ต้องเริ่มด้วยการทำเช่นนี้กับตัวเองได้ มันเหมือนกับเวลาที่พวกเขาบอกคุณบนเครื่องบิน ว่าให้สวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเอง ก่อนที่คุณจะช่วยลูกหรือคนข้าง ๆ นั่นแหละ เว้นแต่เราจะสามารถดูแลตัวเองได้ เราถึงจะมีพลังและความพยายาม ที่จะไปดูแลผู้อื่นได้เช่นกัน การดูแลตัวเองก่อน ยังเป็นการเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการให้ความเห็นอกเห็นใจ กับคนที่คุณอาจรู้สึกว่าน่ารำคาญหรือหนักใจได้
เพราะตลอดชีวิตของเรา ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ จะลดลงเมื่อคุณอยู่ภายใต้ความเครียด ความเหนื่อยล้า หรือเพียงแค่ไม่ดูแลตัวเอง ก็ทำให้คุณรู้สึกแย่ จนไม่มีพลังหรือไปเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ ดังนั้น ให้ความสนใจกับตัวเอง ดูแลตนเองทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ให้คุณรู้สึกดีและมีพื้นฐานที่ดีก่อน
: : สัญญาณของการเอาใจใส่ : :
ถึงแม้การเอาใจใส่ การเห็นอกเห็นผู้อื่น จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่สำหรับหลาย ๆ คน การเห็นคนอื่นเจ็บปวด อาจจะตอบสนองด้วย ความเฉยเมยก็เป็นได้ หากคุณสงสัยว่า คุณเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจหรือไม่? ต่อไปนี้คือสัญญาณบางอย่าง ที่แสดงว่าคุณมีแนวโน้มของการเอาใจใส่
- คุณเก่งในการรับฟังสิ่งที่คนอื่นพูดจริง ๆ
- ผู้คนมักจะมาบอกคุณ เกี่ยวกับปัญหาและความรู้สึกของพวกเขา
- คุณเก่งเรื่องเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
- คุณมักจะคิดตามเสมอว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร
- คนอื่นมาหาคุณเพื่อขอคำแนะนำ
- คุณมักจะรู้สึกร่วมไปด้วย กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสลดใจ
- คุณพยายามช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังทุกข์ทรมาน
- คุณกล้าแสดงความจริงใจ ในขณะที่คนอื่นไม่ซื่อสัตย์
- บางครั้งคุณรู้สึกเหนื่อยหรือหนักใจ ในสถานการณ์แวดล้อมทางสังคม
- คุณใส่ใจคนอื่นอย่างลึกซึ้ง
- คุณพบว่ามันยากที่จะกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์กับใครสักคน
: : ประโยชน์จาก Empathy Skill : :
– การเอาใจใส่ทำให้คุณสามารถ สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นได้ เมื่อเข้าใจสิ่งที่ผู้คนคิดและรู้สึก คุณจะสามารถตอบสนองอย่างเหมาะสม ในสถานการณ์ต่าง ๆ ทางสังคม การวิจัยพบว่าการเชื่อมโยงทางสังคม มีความสำคัญต่อความสุขทางร่างกายและจิตใจ
– การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นช่วยให้คุณ เรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเอง การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณจัดการกับสิ่งที่คุณรู้สึกได้ แม้ในยามที่มีความเครียดสูง โดยไม่รู้สึกหนักใจ
– การเอาใจใส่ส่งเสริมพฤติกรรมการช่วยเหลือตามมา Empathy Skill ไม่เพียงแต่เป็นแนวโน้ม ของพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่คนอื่นๆ ยังมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคุณมากขึ้น เมื่อพวกเขาได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคุณ
Source: trainingzone.co.uk, verywellmind,
Stay connected