“พรุ่งนี้วันจันทร์” วลีสั้น ๆ ที่สะเทือนใจใครหลายคน เพราะความเครียดและภาระมากมายเหมือนกำลังรอให้จัดการอยู่ในวันจันทร์ เลยทำให้หลายคนรู้สึกเกลียดวันจันทร์ และรู้สึกหดหู่ในคืนวันอาทิตย์ บางคนอาการหนักมาก ถึงขั้นใช้ชีวิตลำบาก มีอารมณ์ซึมเศร้าเลยทีเดียว ซิสเชื่อไหมว่าไม่ได้คิดไปเอง เพราะ โรคเกลียดวันจันทร์ มีจริง โรคนี้เป็นยังไง แล้วจะแก้ยังไงดี

 

โรคเกลียดวันจันทร์ มีจริง! เป็นยังไง แล้วจะแก้ยังไงดี

 

เคยเป็นไหมคะ พอวันอาทิตย์เริ่มจะหมดวันทีไร ก็รู้สึกหมดพลัง เซ็ง หดหู่ อยากให้เหลือเวลาอีกเยอะ ๆ และไม่อยากทำอะไรเลย เพราะกลัวจะหมดวันเร็ว นั่นแหละ โรคหดหู่ในวันอาทิตย์ หรือโรคเกลียดวันจันทร์ กำลังจะคืบคลานเข้ามาแล้ว ซึ่งเป็นความเครียดลึก ๆ ภายในใจของเรา มาทำความรู้จักโรคนี้กัน และหาทางแก้กันดีกว่าค่ะ

โรคเกลียดวันจันทร์

โรคเกลียดวันจันทร์ คืออะไร

โรคเกลียดวันจันทร์ที่ซิสกำลังจะพูดถึงคือ โรค Sunday Blues หรือ Sunday Scaries พูดง่าย ๆ คือ พอวันอาทิตย์บ่ายคล้อยไปปุ๊บ ก็จะมีอาการปั๊บ รู้สึกไม่ค่อยดี ไม่อยากให้วันจันทร์มาถึง เพราะต้องกลับไปสู่การทำงาน และยังมาขัดจังหวะการพักผ่อนอีกต่างหาก  มีงานวิจัยงานหนึ่งพบว่า ช่วงเวลาที่คนจะมีอาการ Sunday blues มากที่สุดคือช่วง 15.58 น. บางคนก็เลยเรียกกันว่า Sunday Afternoon Anxiety นั่นเอง

โรคเกลียดวันจันทร์

อาการของโรค Sunday Blues

อาการของโรคหดหู่วันอาทิตย์ หรือเกลียดวันจันทร์ อาการของหลาย ๆ คนอาจจะแตกต่างกันไป หลัก ๆ ก็คือ

  • กระสับกระส่าย
  • นอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์ หรือไม่ยอมนอน เพราะอยากใช้เวลาวันอาทิตย์ให้ได้นานที่สุด
  • หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์ไม่สดใส
  • มีความกังวลเมื่อนึกถึงวันจันทร์
  • บางคนจะรู้สึกปวดท้อง มวนท้อง

โรคเกลียดวันจันทร์

สาเหตุของโรค Sunday Blues

จริง ๆ ก็มาจากความรู้สึกในใจและความเครียดทั้งนั้นเลยละค่ะซิส และเป็นกับคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น

  • ไม่พึงพอใจในงานที่ทำอยู่
  • แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานไม่ได้
  • ไม่ต้องการทำงาน เพราะไม่ชอบงานที่ทำ จึงกังวลถึงการเริ่มต้นสัปดาห์ที่ตนเองไม่ชอบ
  • ชอบการทำงาน แต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ เพราะสงสัยในศักยภาพการทำงานของตนเอง รู้สึกว่ายังทำงานได้ไม่ดีพอ
  • รู้สึกว่ายังพักผ่อนไม่เพียงพอในวันเสาร์-อาทิตย์

โรคเกลียดวันจันทร์

หาทางแก้โรคเกลียดวันจันทร์

นักจิตวิทยาแนะนำว่า ให้ใช้เวลาไตร่ตรองความรู้สึกของตัวเอง เพื่อดูว่าความรู้สึกนั้นเกิดจากอะไร จะได้จัดการตัวเองได้ถูก และทำตามวิธีดังนี้ จะได้รู้สึกดีขึ้นค่ะ

1. นอนหลับให้เพียงพอ – หลายคนจะอดหลับอดนอนในช่วงสัปดาห์ทำงาน นอกจากจะทำให้สุขภาพย่ำแย่ ส่งผลต่อการลดน้ำหนักแล้ว ยังส่งผลต่อจิตใจด้วยนะ เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น และแม้จะนอนชดเชยในวันหยุดก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรปรับเวลานอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุก ๆ วันนะ

2. สร้าง Work Life Balance – กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานของเรา แปลว่าเราไม่ควรนำงานกลับบ้านไปด้วย และไม่ควรปล่อยให้อารมณ์และชีวิตในบ้านมารบกวนงาน แต่ตอนนี้หลาย ๆ คนต้องทำงานที่บ้าน ดังนั้นซิสต้องพยายามไม่ทำงานในห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่พักผ่อน เวลาพักก็ต้องพักจริง ๆ เวลาเลิกงานก็เลิกให้ตรงเวลา ก็จะช่วยได้ค่ะ

โรคเกลียดวันจันทร์

3. วางแผนตอนสุดสัปดาห์ – ว่าเราจะใช้เวลายังไงในช่วงเสาร์ – อาทิตย์ ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานในแต่ละสัปดาห์ไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญเลยนะ พอเลิกงานวันศุกร์ปุ๊บก็คือต้องทิ้งงานปั๊บ อย่าเอางานมาคิดหรือคุยงาน ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วใช้เวลาในวันหยุดอย่างเต็มที่ เพื่อให้ตัวเองผ่อนคลายความเครียด และมีความสุข ซิสจะไม่รู้สึกว่าเหนื่อย หรือรู้สึกว่ายังไม่ได้พักผ่อนเลย และเมื่อซิสพักผ่อนอย่างเพียงพอ เมื่อถึงวันที่ต้องทำงานก็จะได้พร้อมสำหรับการทำงานอย่างเต็มที่

4. สร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้ดี – มีมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานบ้าง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญเลยที่จะทำให้บรรยากาศในการทำงานดี เพื่อร่วมงานจะช่วยเหลือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ และถ้าสนิทกับเพื่อนร่วมงาน ก็จะทำให้รู้สึกอยากทำงานมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกเกลียดเวลาที่ต้องไปเจอคนที่ทำงานไง

โรคเกลียดวันจันทร์

5. หาวิธีผ่อนคลาย – ถ้าซิสเริ่มรู้สึกเครียด หรือกระวนกระวายในบ่าย ๆ วันอาทิตย์แล้ว ลองหาวิธีทำให้ตัวเองสงบลงดูค่ะ เช่น ออกกำลังกาย, แช่น้ำร้อน, อ่านหนังสือ, ฟังเพลง, นั่งสมาธิ, เล่นกับสัตว์เลี้ยง, ออกไปเดินเล่น หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ชอบ แค่เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกใจสงบ และมีสมาธิจริง ๆ 

6. วางแผนทำอะไรสนุก ๆ สำหรับเย็นวันอาทิตย์ – ลองทำชาเลนจ์ตัวเองง่าย ๆ ว่าจะทำเมนูใหม่ หรือจะออกกำลังกายให้ได้กี่นาทีก็ว่าไป หรือจะเป็นการจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ กับเพื่อนสนิทหรือครอบครัว เพื่อคลายความกังวล ทำให้ลืมงานที่กำลังจะมาถึงในวันรุ่งขึ้น 

โรคเกลียดวันจันทร์

7. ทำกิจกรรมที่ชอบให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องสนใจคนอื่น – ลองเลือกสิ่งที่ชอบมาค่ะซิสว่าอยากจะทำอะไร เพราะความคุ้มค่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะอยากนอนทั้งวัน บางคนอาจจะอยากดูซีรีส์แบบมาราธอน หรือบางคนอยากออกไปตะลอนเที่ยว สิ่งที่สำคัญคือสุดคือกิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุขและผ่อนคลาย เมื่อเราผ่อนคลาย ก็จะเป็นการชาร์จพลังทั้งร่างกายและจิตใจ

8. ปรึกษาจิตแพทย์ – บางทีเราก็ลองทำมาทุกอย่างแล้ว แต่ความหดหู่ในคืนวันอาทิตย์ก็เกิดขึ้นทุกที นั่นอาจเป็นเพราะว่าลึก ๆ ในใจของเรามีความกังวล หรือมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวเอง นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญจะสามารถช่วยระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้ และสามารถแนะนำวิธีการรับมือที่ดีเพื่อช่วยให้ซิสแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี

 

ใครมีอาการอย่างที่บอกมา ไม่ต้องกังวลว่า เอ๊ะ เราผิดปกติหรือเปล่า เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แค่เรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง และพยายามปรับความคิด รวมถึงพฤติกรรมบางอย่าง เท่านี้ก็จะทำให้ซิสเกลียดวันจันทร์น้อยลงแล้วละค่ะ

 

Credit Information from www.healthline.com, istrong.center, ooca

Credit Pictures from app.fetcherx.com, www.wattpad.com, fineboys-online.jp, osyamyun.tumblr.com, thecliqueblog.com, kenh14.vn, Pinterest : beem_boomboom78, www.sohu.com

Comments

comments