สวัสดีค่ะสาวๆ Clubsister ที่น่ารักทุกคน และก็เหมือนเดิมทุกครั้ง ถ้าเรามาปุ๊บก็จะมีเกร็ดความรู้จากหนัง หรือรีวิวความมันส์ความสนุกของหนังให้สาวๆ ทุกคนได้รับชมกันค่ะ สาวๆ เคยคิดไหมคะว่าในหนังจิตวิทยาหลายๆ เรื่องที่เราดู ทำไมตัวละครบางตัวถึงมีความคิดแบบนี้ ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น มีเหตุผลอะไร วันนี้เรามีคำตอบมาให้สาวๆ กันกับ ” วิเคราะห์ตัวละคร หนังแนวจิตวิทยา “ ที่ไม่ดูไม่ได้! และบอกเลยว่าคอหนังแนวจิตวิทยา ระทึกขวัญไม่ควรพลาดเป็นที่สุด งั้นเราขอไม่ยืดยาวให้เสียเวลา เรามาเริ่มที่เรื่องแรกกันเลยค่ะ
วิเคราะห์ตัวละครและบทขั้นเทพ 4 หนังแนวจิตวิทยา
ใครไม่ดูถือว่าพลาด!
** คำเตือน: บทความนี้มีสปอยล์เนื้อหาสำคัญบางส่วน
เรื่องที่ 1 : We Need to Talk About Kevin
ระดับความสนุก: 4.5 / 5
สามารถรับชมได้ที่: –
หากจะต้องแนะนำหรือยกหนังแนวจิตวิทยาซักเรื่องขึ้นมาวิเคราะห์บทตัวละคร หรือวิเคราะห์พล็อตเรื่อง เราขอแนะนำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา แถมยังมีให้เห็นได้ทั่วไปอีกด้วย
We Need to Talk about Kevin เป็นหนังที่สร้างมาจากนิยายขายดีจากปลายปากกาของ Lionel Shriver ที่ใช้ชื่อเรื่องเดียวกัน โดยเรื่องราวของหนังและหนังสือเกี่ยวกับ
คดีสังหารหมู่นักเรียนมัธยมจากการลงมือของเด็กชายธรรมดาคนหนึ่ง ต้องขอบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้พูดและสะท้อนความคิด, สภาพจิตใจเบื้องลึกของตัวละครหลักอย่างเควินให้คนดูได้เห็นอย่างชัดเจน
We Need to Talk about Kevin พูดถึง “เควิน” เด็กชายผู้ก่อคดีสังหารพ่อและน้องสาวของตน พร้อมสังหารหมู่เพื่อนในโรงเรียนอย่างเลือดเย็น พูดคุยพร้อมกับคำสารภาพเรื่องราวทั้งหมดในชีวิตเขาให้ “อีวา” ผู้เป็นแม่ได้ฟัง ในขณะที่อีวาพูดคุยและฟังลูกชายเล่าเรื่องต่างๆ นั้น เธอก็ได้แต่คิดถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับลูกชายเธอว่า เพราะอะไร, ทำไม, และเพราะใคร ที่ทำให้ลูกชายเธอเป็นแบบนี้??
เราอยากจะบอกว่าหนังแนวจิตวิทยาเรื่องนี้ตีแผ่ตัวละคร ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องอย่างเควินและอีวาได้อย่างลึกซึ้งและกระเทาะจิตใจของทั้งคู่ได้แบบบาดลึกสุดๆ โดยคนแรกที่อยากพูดคืออีวา เดิมทีก่อนที่เธอจะมีเควินนั้น เธอใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ โลดแล่นไปกับความฝันที่อยากจะท่องเที่ยวทั่วโลกไปพร้อมกับสามีของเธอ แต่ทว่าในวันที่เธอรู้ตัวว่าเธอท้องเควินนั้น เหมือนแพลนการท่องเที่ยวซึ่งเปรียบเสมือนเป้าหมายของเธอพังทะลายลง และเมื่อเควินลืมตาดูโลกมานั้น อีวาก็ไม่พร้อมที่จะให้นมเขา ไม่พร้อมที่จะดูแลเขาอย่างเต็มที่
อาจะเพียงเพราะเธอไม่ตั้งใจจะมีเขานั่นเอง ต่อมาในส่วนของเควิน เด็กชายผู้เงียบขรึม หากพูดในมุมหนังแนวจิตวิทยาแล้วนั้น เควินนี่แหละที่เรียกได้ว่าเป็นฆาตกรที่น่าสงสารที่สุด สิ่งที่เควินได้กระทำไปนั้น คือการเรียกร้องความสนใจแบบขั้นรุนแรงอีกทั้งเป็นการเอาคืนคนที่เขารักมากที่สุดอย่างอีวา เขาเพียงแค่อยากจะบอกกับแม่ คนที่เขารักมากที่สุดแบบนัยๆ ว่า เขาไม่ได้การอะไรนอกจากความรักและดูแลเอาใจใส่เขาอย่างแท้จริงเพียงเท่านั้น และในเมื่อแม่ไม่ได้รักเขาเหมือนที่เขารู้สึก ก็จงอยู่กับเขาและความเจ็บปวดทั้งนี้ด้วยกันเถอะ
เรื่องที่ 2: Black Swan
ระดับความสนุก: 5 / 5
สามารถรับชมได้ที่: –
ถ้าพูดถึงหนังแนวจิตวิทยาแล้วละก็ เราขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังแนวจิตวิทยาที่ขึ้นหิ้ง แถมยังเป็นหนังที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก ของการแสดงที่โดดเด่นเข้าถึงจิตใจตัวละครได้ดีของ นาตาลี พอร์ตแมน เลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ Black Swan เรื่องราวของโศกนาฏกรรมของนักบัลเล่ต์สาวดาวรุ่งที่เกิดจากความรักและความไม่ตั้งใจของผู้เป็นแม่
Black Swan เล่าถึง “นีน่า” นักบัลเล่ต์สาวในโรงละครแห่งหนึ่ง เธอกำลังจะได้รับเลือกสู่จุดสูงสุดของนักบัลเล่ต์ นั่นก็คือการได้รับเลือกให้เป็น ราชินีหงส์ ในเรื่อง Swan Lake (เจ้าหญิงหงส์ขาว) ซึ่งโดยปกติแล้วนีน่านั้นเป็นนักบัลเล่ต์ที่เต้นได้ดี ท่วงท่าสวยงามถูกต้องตามแบบฉบับ ซึ่งเข้ากันอย่างลงตัวกับบทราชีนีหงส์ขาว แต่ผู้กำกับมองว่าเธออาจจะไม่ไหวกับบท ราชีนีหงส์ดำ ที่ต้องใช้อารมณ์ที่ยั่วยวนและความก้าวร้าว ดังนั้นเขาจึงมอง “ลิลลี่” เพื่อนร่วมโรงละครเดียวกับเธอไว้แทน เพราะเหตุนี้นีน่าจึงกังวลและกลัวว่าตัวเองจะโดนแย่งตำแหน่งและอาจจะทำให้แม่ของเธอผิดหวัง เธอจึงหมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ในทางกลับกันความกดดันเหล่านี้ทำให้ตัวเธอเริ่มเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย ในที่สุดไม่มีนีน่าคนเดิมอีกต่อไป
เรื่องนี้เป็นหนังแนวจิตวิทยาอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่และลูก ซึ่งเรามักได้ยินตลอดว่าการเลี้ยงดูของพ่อและแม่นั้น มีผลโดยตรงกับลูก ไม่ว่าจะในทางความคิดหรือพฤติกรรม มาดูในมุมของอิริก้าแม่ของนีน่ากัน เดิมทีแต่ก่อนเธอเป็นนักบัลเล่ต์ดาวรุ่งเหมือนกับลูกของเธอ และความฝันสูงสุดของนักบัลเล่ต์ทุกคนคือการได้รับบทราชีนีหงส์ แต่ทว่าอิริก้านั่นดันท้องนีน่าเสียก่อน เลยทำให้เธอต้องพลาดโอกาสที่มีค่าของเธอไป ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังรักและถนุถนอมลูกสาวของเธอเหมือนไข่ในหิน
แต่ทว่าในความรักที่ดูเหมือนจะมากจนเกินไปของเธอดันมีอะไรแอบแฝง อิริก้าคอยสอนและบอกในสิ่งที่เธออยากให้ลูกเธอทำในแบบของเธอเอง ไม่ว่าจะเรื่องการเรียนบัลเล่ต์ การเรื่องคบเพื่อน การกินการนอน ทุกอย่างอิริก้าคอยบงการเธอทั้งหมด
และนั่นก็หมายถึงการนำเอาความฝันของตัวเองไปใส่ไว้ที่ลูก ให้เหมือนตัวตายตัวแทนเพื่อต่อยอดความฝันของตน ในส่วนของนีน่า เธอรักและเชื่อฟังแม่ของเธอมาโดยตลอด แต่เพราะเหตุนี้ทำให้เธอไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นของเธอเหมือนคนอื่นๆ เธอเหมือนแบกเอาความสุขของแม่เอาไว้บนบ่าของเธอตลอดเวลา อีกทั้งแรงกดดันจากคนที่เป็นแม่ที่มาในรูปแบบความรัก นำไปสู่ความกดดันในการใช้ชีวิต แต่ด้วยหลังจากที่เธอรู้จักด้านมืดหรือราคะซึ่งเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตที่มาจากฝั่งราชีนีหงส์ดำนั้น ทำให้แรงกดที่อยู่ภายในใจเธอมันทะลุทะลวงออกมาจนยากที่จะห้าม และมันก็พาเธอไปสู่ด้านมืดที่ยากจะเดินย้อนกลับมาได้
เรื่องที่ 3: Gone Girl
ระดับความสนุก: 5 / 5
สามารถรับชมได้ที่: NETFLIX (คลิกเพื่อรับชมภาพยนตร์)
เมื่อพูดถึงการวิเคราะห์ตัวละครและหนังเกี่ยวกับจิตวิทยาแล้วนั้น เราจะขาดเรื่องนี้และขาดตัวละครตัวนี้ไปไม่ได้เลย เพราะเธอคืออดีตสาวน้อยมหัศจรรย์ที่เป็นตำนานอย่างแท้จริงกับเรื่อง Gone Girl หนังแนวจิตวิทยา ระทึกขวัญ ที่สร้างมาจากนิยายแนวสืบสวน สอบสวน, จิตวิทยา ของนักเขียนมือทองที่ไม่ว่าเขียนเรื่องไหนก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากับ Gillian Flynn ไม่เพียงแค่นั้น ยังจับมือคู่กับผู้กำกับฝีมือร้ายกาจอย่าง David Fincher ด้วยแล้ว ทำให้หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังแนวจิตวิทยาที่เพอร์เฟ็คเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
Gone Girl เป็นเรื่องราวของ คู่สามี-ภรรยา “นิคและ เอมี่” ซึ่งจริงๆ แล้วเอมี่เป็นอดีตคนดังจากหนังสือนิยาย เรื่อง Amazing Amy โดยพ่อแม่เธอเขียนอ้างอิงจากไดอารี่ของเอมี่ในวัยเยาว์ จึงทำให้ใครหลายคนเข้าใจว่าเธอเป็นเหมือนผู้หญิงเพอร์เฟ็คและเพรียบพร้อมไปทุกอย่าง แต่แล้วในวันครบรอบแต่งงาน นิคกลับบ้านมาเห็นสภาพห้องนั่งเล่นที่รกเละเทะ ห้องครัวเหมือนมีคราบเลือดกระเด็น อีกทั้งภรรยายังหายตัวไป ทิ้งไว้เพียงปริศนาคำใบ้ที่เหมือนเกมล่าหาสมบัติเพื่อให้นิคค้นหาตัวเธอที่กำลังเล่นซ่อนหาอยู่เท่านั้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นกับประโยคที่ว่า “รักมาก เกลียดมาก”
Gone Girl เป็นหนังแนวจิตวิทยาที่ยอดเยี่ยม ด้วยตัวดำเนินเรื่องที่ดูแสนจะธรรมดา แต่แท้จริงแล้วเอมี่เองเป็นหญิงสาวที่มีความฉลาดหลักแหลมแต่แฝงด้วยยาพิษ เพราะการที่เธอสร้างฉากการฆาตกรรมและการลักพาตัวขึ้นมานั้น เธอทำไปเพราะต้องการแก้แค้นสามีของเธอล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิธีการฆาตกรรมมาจากรายการสืบสวน สอบสวน, การสร้างเรื่องราวในชีวิตผ่านการเขียนไดอารี่แบบปลอมๆ, การตีสนิทเพื่อนบ้าน พร้อมเล่าเรื่องภายในบ้านที่ตนทุกข์ร้อนใจให้ฟัง
อีกทั้งยังสร้างฉากเพื่อดูเหมือนสามีของเธอนั้นแหละที่เป็นคนลงมือทำ แต่ทว่าเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่เอมี่ทำไปนั้น ไม่ใช่แค่แก้แค้นสามีเธอเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำไปเพื่อต้องการกลับมาเป็น เอมี่ สาวน้อยมหัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ 4: American Psycho
ระดับความสนุก: 4.5 / 5
สามารถรับชมได้ที่: –
แค่ชื่อหนังก็รู้แล้วว่าเป็นหนังแนวจิตวิทยา ที่สะท้อนเสียดสีสังคมแบบอเมริกัน American Psycho เรื่องนี้เป็นหนังที่สะท้อนสังคมคนอเมริกันในสมัยยุค 90’s ซึ่งเป็นยุคที่อเมริกันเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่ทว่าเต็มไปด้วยสังคมแบบทุนนิยม มีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนภาพของเศรษฐกิจที่มีผลกระทบโดยตรงกับคนได้เป็นอย่างดี
American Psycho เป็นหนังแนวจิตวิทยาที่เล่าเรื่องราวของ “แพทริก” ชายหนุ่มสุดแสนจะเพอร์เฟ็ค ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ฐานะการงานและหน้าตาทางสังคม แพทริกทำงานเป็นนายธนาคารในบริษัทของพ่อตนเอง โดยกิจวัตรส่วนตัวในทุกๆ วันของแพทริกนั้นจะค่อนไปทางผู้ชาย Metro ที่ดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เช่น ตื่นเช้ามาออกกำลังกาย, เฟิร์มร่างกายให้ฟิตอยู่ตลอดเวลา, อาบน้ำโดยใช้สกินแคร์ที่ต้องเป็นออร์แกนิคเท่านั้น, ฟังเพลงแนวยุค 80’s และใช้แต่ของแบรนด์เนม แต่ด้วยนิสัยที่เป็นคนเก็บตัว ทำให้เขาต้องฝืนและทำตรงกันข้ามเวลาที่เขาต้องเข้าสังคม และด้วยความอึดอัดที่ไม่เป็นตัวของตนเองอีกทั้งสังคมทุนนิยมที่เน่าเฟะ สิ่งเหล่านี้เริ่มกัดกินจิตใจของเขาจนทำให้คนดีหนึ่งคน ต้องกลายเป็นคนบ้าไปในที่สุด
หนังแนวจิตวิทยาเรื่องนี้กำลังสะท้อนเรื่องราวของสังคมที่ส่งผลต่อบุคคล โดยสะท้อนผ่านแพทริกผู้ชายที่ค่อนข้างเก็บตัวแต่ดันต้องมาทำงานที่ไม่ชอบเพราะอยากจะเข้ากับคนอื่นได้ แต่เมื่อเขาได้มาอยู่จริง ๆ กลับพบว่าสังคมมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ คนรอบข้างเขาล้วนแต่เป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดี อีโก้สูง ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ต่างแสดงสรรพคุณอวดอ้างชื่อเสียง, ความร่ำรวยและความมีรสนิยมของตน ตัวอย่างเช่น การอวดนามบัตรของตนว่าคนนี้ใช้แบบนี้, คนนี้มีลายน้ำ, คนนี้มีกลิ่นหอม หรือแม้กระทั่งในวงสนทนาที่ว่าตอนนี้ควรดื่มอะไรทำอะไร เอาจริง ๆ ในความคิดเรามันดูน่าเบื่อและไร้สาระสิ้นดี เพราะเหตุนี้ทำให้แพทริกรู้สึกว่าตัวเองยังมีส่วนด้อยกว่าคนอื่น ไม่ใช่แค่เองรายละเอียดเล็กน้อยแต่มันหมายถึงทุกอย่าง
Photo Credit:
Stay connected