สวัสดีค่าชาวซิสที่น่ารักทุกคน หากพูดถึงเดือนมกราคมนอกจากวันขึ้นปีใหม่และวันเด็กแล้วละก็ อีกวันหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นวันสำคัญไม่แพ้กันเลยนั่นก็คือวันครูแห่งชาติ และด้วยวันนี้ก็เป็นอีกวันที่สำคัญให้เราได้ระลึกถึงกันนั้น ทำให้เราอยากหยิบยกหนังดีๆ ที่เกี่ยวกับครูมาฝากกัน งั้น Clubsister ขอเสนอ “4 หนังครูในดวงใจ ซึ้งตรึงใจ ศิษย์ที่รักควรหาดู!” ไปตามดูกันเลยว่าจะมีหนังเรื่องอะไร และซึ้งยังไงกันบ้าง เริ่มกันที่เรื่องแรกได้เลย
“4 หนังครูในดวงใจ ซึ้งตรึงใจ ศิษย์ที่รักควรหาดู!”
เรื่องที่ 1: Dead Poets Society (1989)
ความยาวของเรื่อง: 2 ชั่วโมง 8 นาที
ได้รับคะแนนจาก iMDB: 8.1 / 10
หากพูดถึงหนังครูในดวงใจ เรามั่นใจว่าคอหนังจะต้องนึกถึงหนังเรื่องนี้แน่นอน และบอกได้เลยว่าหนังเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งหนังดังที่สร้างชื่อให้กับนักแสดงมากความสามารถอย่าง Robin Williams เลยก็ว่าได้กับ “Dead Poets Society” หรือที่มาในชื่อไทยที่ว่า “ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน” กับประโยคยอดฮิตในเรื่องที่ว่า “Carpe diem” เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนชายล้วนในรั้วโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยที่ชื่อดังที่สุดในประเทศอังกฤษอย่าง “เวลตันอะคาเดมี” โรงเรียนที่เต็มไปด้วยประเพณี ขนบธรรมเนียม และเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนชายล้วนชั้นสูงเลยก็ว่าได้
แต่ภายนอกกับภายในมันช่างต่างกันสิ้นเชิง เนื้อหาและตำราเรียนชวนง่วงและน่าเบื่อ แต่ทว่าชีวิตของกลุ่มนักเรียนในชั้นเรียนนี้ก็ได้เปลี่ยนไป เมื่อคุณครูคนใหม่อย่าง “จอห์น คีตติ้ง” อาจารย์ประจำวิชากวีและบทประพันธ์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของสถาบันนี้ เข้ามาฉีกกฏและรูปแบบการเรียนของโรงเรียนนี้ใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีอิสระในการใช้ความคิดและจินตนาการของเขาได้อย่างเต็มที่
Dead Poets Society เป็นหนังครูในดวงใจอีกเรื่อง ที่ร้องไห้และประทับใจทุกครั้งที่ได้เปิดดู เนื้อหาของเรื่องต้องการตีแผ่และสามารถสื่อสารให้กับเราที่เป็นคนดูได้ ณ ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าตัวหนังนั้นจะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม “จอห์น คีตติ้ง” เป็นเหมือนตัวแทนของครูและความคิดที่อยากออกนอกกรอบ เพื่อยกระดับและศักยภาพของผู้เรียนให้ได้ดีขึ้น โดยดึงเอาความคิด จิตนาการ สอดแทรกกับบทเรียนในหนังสือ แต่แค่ไม่ใช่รูปแบบเดิมอย่างที่เราคุ้นเคย
สิ่งที่ทำให้เราประทับใจในหนังเรื่องนี้เลยคือ ความเข้าใจของครูที่มีต่อนักเรียน, การไม่ตีกรอบและตัดสินการตัดสินใจของนักเรียน อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งหนังที่ทำให้เรารู้ว่า การแสดงออกทางความคิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยให้จินตนาการและทักษะของเราเติบโต รวมถึงเขาไม่เคยดูถูกความคิดของเด็กนักเรียนของเขาเลยแม้แต่น้อย
** Carpe diem เป็นวลีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่ว่า “ใช้ชีวิตให้เต็มที่”
เรื่องที่ 2: Good Will Hunting (1997)
ความยาวของเรื่อง: 2 ชั่วโมง 6 นาที
ได้รับคะแนนจาก iMDB: 8.3 / 10
เป็นหนังครูในดวงใจอีกเรื่องที่ได้รับการแสดงนำจาก Robin Williams อีกครั้ง (อย่าเพิ่งเบื่อกันน้า) โดยเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับรางวัลออสการ์ และมีชื่อเสียงกับประโยคและข้อคิดที่คมคายอย่างหาที่จับไม่ได้กับหนังดีที่มีชื่อว่า “Good Will Hunting”
เรื่องราวของ วิล เด็กหนุ่มที่รับจ้างเป็นภารโรงเรียนอยู่ในสถาบันคณิตศาสตร์ชื่อดังระดับโลก เขาใช้ชีวิตกับการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ได้เรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ในขณะที่เขาทำงานปกติ เขาดันเหลือบไปเห็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งเขียนเอาไว้บนกระดาน และเขาก็สามารถแก้โจทย์นั้นได้ โดยที่ไม่มีนักเรียนคนไหนแก้มันได้มาก่อน นั่นทำให้ศาสตราจารย์เจอร์รี่รับรู้ได้ว่า วิล เป็นเด็กที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์
แต่ทว่าเขามีปัญหากับการเข้าสังคมและเป็นคนก้าวร้าว เขาจึงส่งตัววิลไปพบจิตแพทย์เพื่อแลกกับการเรียนคณิตศาสตร์ แต่ไม่ว่าจะไปเจอจิตแพทย์คนไหน วิลก็ก่อกวนและป่วนเขาทั้งหมด จนไม่มีใครอยากรักษาเขา ทำให้เจอร์รี่ต้องพาวิลไปพบเพื่อนเก่าของเขาอย่าง ฌอน และนั่นคือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้วิลค้นพบตนเอง ที่มาพร้อมมิตรภาพใหม่ๆ
เป็นอีกหนึ่งหนังที่คอหนังสร้างแรงบันดาลใจและจิตวิทยาควรดูเป็นที่สุด เพราะ Good Will Hunting เป็นอีกหนึ่งหนังครูในดวงใจ ไม่ใชแค่ครูผู้ให้คำสอนหรือความรู้ แต่การแสดงออกของเจอร์รี่และฌอนนั้น สะท้อนให้เราเห็นว่า ครู เป็นได้ทั้งเพื่อนและคนที่คอยมอบโอกาสที่ดีอีกคนหนึ่ง
เอาจริงๆ หากวิลไม่ได้รับโอกาสจากเจอร์รี่ในการสอนและพาไปพบจิตแพทย์ และถ้าวิลไม่ได้เจอจิตแพทย์ที่เป็นเหมือนครูแนะแนวที่คอยรับฟังปัญหา และเปรียบเสมือนเพื่อนของเขา วิลอาจจะไม่ค้นพบตนเองก็เป็นได้
หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มเด็กที่มีปัญหา สิ่งที่พวกเขาอยากได้รับมากที่สุด คงไม่ใช่คำพูดปลอบโยนหรือการที่บอกว่า เขาน่าสงสารมากแค่ไหน แต่เป็นการหยิบยื่นโอกาสและความเข้าใจ พร้อมกำลังใจในการสนับสนุนพวกเขาไม่ว่าด้านใด ด้านหนึ่งเท่านั้นเอง
เรื่องที่ 3: Coach Carter (คลิกเพื่อรับชมภาพยนตร์)
ความยาวของเรื่อง: 2 ชั่วโมง 16 นาที
ได้รับคะแนนจาก iMDB: 7.3 / 10
หนังครูในดวงใจเรื่องนี้เป็นหนังที่สร้างจากชีวประวัติของโค๊ชบาสเก็ตบอลระดับมัธยมอย่าง “เคน คาร์เตอร์” กับ “Coach Carter” ซึ่งได้รับการแสดงนำโดยนักแสดงมากความสามารถอย่าง “Samuel L. Jackson” โดยเรื่องราวพูดถึง โค้ชคาร์เตอร์อดีตนักกีฬาบาสเก็ตบอลที่โรงเรียนมัธยมริชมอนด์ เขาได้มีโอกาสในการกลับมาเป็นโค้ชให้กับทีมอีกครั้ง ซึ่งหน้าที่นี้ไม่ว่าครูคนไหนก็ไม่อยากรับเอาไว้ นั่นก็เพราะว่าเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเกรดเฉลี่ยที่ต่ำกว่ามาตราฐาน, ครอบครัว, ความรุนแรง และยาเสพติด
แต่ทว่าการที่โค้ชคาเตอร์เข้ามาเป็นโค้ชให้นั่น เขามีข้อแม้และกฏบางอย่างนั่นก็คือ หากใครที่จะอยู่ในทีมของเขาจะต้องเข้าเรียนทุกคาบ, นั่งหน้าสุด, เกรดเฉลี่ยจะต้องเกิน ขึ้นไป, แต่งการเรียบร้อย และ ต้องผูกเนคไททุกครั้งที่เข้าการแข่งขัน หากถามว่าทำไม เพราะเขาไม่ได้มาเพื่อเป็นโค้ชที่ควบคุมชัยชนะ แต่มาเป็นโค้ชเพื่อมองดูอนาคตของผู้เล่นในทีม
สิ่งที่เราชอบในหนังครูในดวงใจเรื่องนี้เลยคือ บ่อยครั้งที่เราพบเห็นว่าการเข้ามาเป็นโค้ชนั้น จุดมุ่งหมายเดียวในการดูแลและรับผิดชอบของเขาคือ การแข่งขันและการเอาชนะคู่ต่อสู้ แต่ทว่าสิ่งที่โค้ชคาร์เตอร์ทำนั้น มันกลับแตกต่างออกไป เขาไม่ได้เข้ามาเพื่อทำให้ทีมของเขาชนะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่เขาเข้ามาเพื่อมองหาอนาคตและหนทางการดำเนินชีวิตต่อของเด็กหรือลูกทีมของเขา ในวันที่ไม่มีเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องการเรียน, เรื่องส่วนตัว, ภาพลักษณ์ต่างๆ ที่คนภายนอกมองเด็กเหล่านี้ โค้ชคาร์เตอร์พยายามลบสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เด็กๆ ของเขามีอนาคตและชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่เล่นกีฬาและชนะไปวันๆ โดยที่ไม่รู้ว่าความฝันตนเองจะทำอะไรหรือเติบโตต่อไปอย่างไร
เรื่องที่ 4: Freedom Writers (2007)
ความยาวของเรื่อง: 2 ชั่วโมง 3 นาที
ได้รับคะแนนจาก iMDB: 7.5 / 10
เราพบกับครูผู้ชายจากหนังครูในดวงใจก่อนหน้านี้ไปแล้ว และในลิสต์นี้เรามีคุณครูผู้หญิงติดอันดับด้วยอีกคนหนึ่งนั่นก็คือ “เอรีน” จากหนังครูในดวงใจที่สร้างจากเรื่องจริงของคุณครูและนักเขียนอิสระที่ทะลายกำแพงและต่อพร้อมสานสร้างความฝันของเด็กนักเรียนที่ถูกสังคมละเลย จากการถูกเหยียดของเชื้อชาติประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศแห่งเสรีภาพ
“Freedom Writers”
เรื่องราวของ เอรีน คุณครูสาวจบใหม่ ผู้มีแรงไฟในการทำงาน เธอถูกส่งตัวมาเป็นครูประจำชั้นที่โรงเรียนนอกเมืองในประเทศแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกา โดยเธอต้องเข้ามาเป็นครูประชั้นห้อง 203 ซึ่งเป็นห้องที่ไม่ว่าใครก็ต่างพากันขยาดกับห้องนี้ เมื่อเธอเข้าชั้นเรียนในครั้งแรก เธอก็สัมผัสได้ทันทีว่า ห้องนี้เป็นเด็กที่ถูกลืมจากสังคม เพราะเหมือนนำเด็กที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นผิวสี, ผิวขาว หรือ ผิวเหลือง อีกทั้งยังเป็นเด็กนักเรียนที่มาจากสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหา ทำให้เธอเหมือนถูกต่อต้านจากเด็กๆ
ดังนั้นสิ่งที่เธอตั้งใจจะทำเลยคือ การเข้าหาและกระเทาะกำแพงใจจากเด็ก ด้วยการให้นักเรียนของเธอ เขียนไดอารี่ มาส่งเธอในทุกๆ วัน จะเขียนอะไรก็ได้ แต่เธอขอให้เขียนมาให้เธออ่าน เมื่ออ่านไปอ่านมา ทำให้เธอรับรู้และเข้าใจได้ว่า เด็กเหล่านี้ มีปัญหาจากการถูกเหยียดหยามและดูถูกเชื้อชาติ ทำให้เขาถูกปิดกั้นโอกาสที่ดีบางอย่างไป
และหนังครูในดวงใจเรื่องสุดท้ายนี้ ที่ทำให้เราเกิดความสนใจและประทับใจเลยนั้น คือประโยคที่พูดออกจากปากคุณครูคนใหม่คนนี้ว่า “I’m a teacher, it doesn’t matter what color I am.” เพราะเธอรู้ว่าสิ่งที่เด็กนักเรียนของเธอ ถูกตีตรามาตลอดนั้นคืออะไร และเธอเข้าใจว่าเด็กๆ เหล่านี้ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ดังนั้น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจและอยากมอบครูในดวงใจนี้ให้เธอเลยคือ “ความเข้าใจ” ที่คุณครูหลายคนควรมี
บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่มักลืมว่าก่อนที่จะโน้นมน้าวหรือทำให้เด็กกล้าที่จะเชื่อใจเขาได้นั้น เขาต้องมอบสิ่งเหล่านั้นให้เด็กก่อน ต้องเข้าใจว่า “เพราะอะไรและทำไมเขาถึงได้เป็นแบบนี้” ที่สำคัญต้องไม่ตัดสินจากสิ่งที่เห็น อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจเรื่องนี้เลยคือ การหยิบยกเรื่องราวความรุนแรงในการเหยียดเชื้อชาติอย่างเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวยิว ขึ้นมาทำให้เด็กๆ เหล่านี้รู้ว่า การที่ทำแบบนี้ หรือ ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ มันไม่ได้เป็นเรื่องดี มีแต่จะทวีคูณความรุนแรงขึ้นไปทุกที
และนี่คือ “4 หนังครูในดวงใจ” ที่เราอยากจะแนะนำให้สาวๆ ได้ดูกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังที่เวลายาวนาน (กว่าปกติ) แต่บอกได้เลยว่า หากได้ลองดูแล้ว สาวๆ จะเข้าใจเลยว่า ครูเหล่านี้ คือครูในดวงใจของใครหลายๆ คนแน่นอน และพบกันใหม่กับบทความหน้า ขอบคุณที่ติดตามกันค่า 🙂
Photo credit:
Stay connected