โลกปัจจุบันอะไรมันก็รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด ทันใจไปหมด เรียกว่าแทบจะไม่ต้องรออะไรนาน ๆ กันเลยทีเดียว จนทำให้หลายคนเกิดพฤติกรรมหัวเสีย เมื่อต้องรออะไรนาน ๆ ถ้าเป็นแป๊บ ๆ ก็อาจจะไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าเป็นบ่อยมาก หัวร้อน จะต้องได้ทันที ไม่พอใจเมื่อต้องรอ ระวังนะคะ ซิสอาจจะเสี่ยงเป็น โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness อยู่ก็ได้ ว่าแต่เจ้าโรคนี้มันคืออะไร ร้ายแรงไหม แล้วต้องจัดการกับมันยังไงดี มาหาคำตอบกันค่ะ

 

เช็คสัญญาณ โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness เอ๊ะ? เราเป็นอยู่มั้ยนะ

 

ต้องยอมรับเลยว่า แม้ว่าโรคทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ในสังคมปัจจุบันที่โลกโซเชียลมันหมุนไปไวมาก ๆ ก็ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นโรคนี้กันเยอะขึ้นทีเดียวค่ะ เพราะอะไร ๆ มันก็ทันใจไปหมด การรอคอยเลยทำให้รู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่าน ถ้าเป็นกับบางเรื่องยังพอเข้าใจได้ แต่ถ้าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงานก็น่าเป็นห่วงแล้วนะ เพราะมันจะกดดันทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง จนส่งผลให้เกิดความเครียดมากเกินไป ไหน ๆ แล้ว เรามาลองทำความรู้จักกับเจ้าโรคนี้กันสักหน่อยดีกว่าค่ะ

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness

Hurry Sickness โรคทนรอไม่ได้ คืออะไร

โรคทนรอไม่ได้ ความหมายก็ตามตัวเลยค่ะ คือไม่สามารถทนรออะไรนาน ๆ ได้ คนที่เป็นดรคนี้มักต้องการให้สิ่งต่าง ๆ บรรลุถึงเป้าหมายอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด คนที่เป็นดรคนี้มักจะคิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว ชอบทำงานหรือทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันโดยแข่งกับเวลา และมักจะรู้สึกกดดันในตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ทำให้เสร็จ

หนำซ้ำยังพานไปกดดันคนอื่นอีกต่างหากว่าต้องทำให้เสร็จตามที่ตัวเองต้องการ จนเกิดเป็นอาการป่วย เนื่องจากเครียดมากจนเกินไป ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ในปัจจุบันก็มักจะมาจากความรวดเร็วของเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลานี่แหละ เช่น ไลน์ตามงานแล้วจะเอาให้ได้ทันที อะไรประมาณนี้

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness

ผลกระทบของโรค Hurry Sickness คืออะไร

หากปล่อยให้ตัวเองเป็นโรคทนรอไม่ได้นานเข้า ต้องบอกเลยว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจไม่น้อยเลยนะคะ เพราะหนึ่งเลยคือ จะสูญเสียความสามารถในการหยุดและคิด ตรึกตรอง ตัดสินใจให้ถี่ถ้วน ทำให้เกิดความผิดพลาดในชิ้นงานมากขึ้น แทนที่จะเสร็จแบบเพอร์เฟ็กต์ก็ต้องเอามาแก้แล้วแก้อีก แบบว่าเร็วแต่ไม่ได้คุณภาพ เครียดมั้ยล่ะทีนี้

นอกจากนี้การทำอะไรแบบเร่งรีบจนเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น ภาวะซึมเศร้าและความเหนื่อยหน่าย มิหนำซ้ำยังเอาไอ้เจ้าความเครียดเหล่านี้กลับไปโยนใส่คนที่บ้านหรือคนใกล้ชิดอีก ความสัมพันธ์พังไปอีก เห็นมั้ยว่าการไม่ยอมรอมันส่งผลกระทบเยอะนะ

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness

สัญญาณบอกว่าเราเป็น Hurry Sickness แล้ว

สำหรับซิสที่เริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วเราเป็นเจ้าโรคนี้หรือเปล่านะ เพราะรู้สึกว่าเข้าข่ายเหลือเกิน ลองมาเช็กสัญญาณเหล่านี้กันค่ะ

1. ทำทุกอย่างเหมือนต้องแข่งตลอดเวลา – จริงอยู่ที่ปกติแล้ว คนเรามักจะเคยมีช่วงเวลาที่รีบเร่งกว่าปกติเกิดขึ้นได้ เช่น ต้องเร่งทำงานที่ต้องให้เสร็จตามกำหนด หรือต้องเร่งรีบเพื่อไปสนามบินให้ตรงเวลา แต่มันจะมีคนประเภทที่ว่าแยกไม่ออกว่าอะไรควรรีบ อะไรไม่ต้องรีบ ก็เลยรีบไปหมด เช่น ช้อปปิ้งเร็ว ทำงานเร็ว กินข้าวเร็ว ขับรถเร็ว รถติดไฟแดงนิดเดียวในช่วงที่ไม่ได้จำเป็นต้องรีบก็หงุดหงิดแล้ว นั่นแหละ เข้าข่ายโรคนี้แล้วค่ะ

2. ชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน – คนที่เป็นโรคนี้มักจะทนไม่ได้ที่ต้องทำอะไรทีละอย่าง คนเป็นโรคนี้มักจะชอบมีหน้าที่ในหลายบทบาท และคิดว่าทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันจะเสร็จเร็วขึ้น

3. หงุดหงิดเวลาเห็นอะไรล่าช้า – คนที่เป็นโรคนี้มักจะทนไม่ได้ถ้าต้องพบเจอกันเหตุการณ์ที่ต้องรอหรือล่าช้า เช่น เวลาติดไฟแดง อาจจะหงุดหงิดจนต้องบีบแตร หรือต้องขยับตัวงุ่นง่านตลอดเวลาเมื่อต้องต่อคิว หรือประเภทที่ต้องกดปุ่มลิฟต์ซ้ำ ๆ เมื่อรู้สึกว่าลิฟต์มาช้า (ทั้งที่มันก็มาตามรอกของมัน)

4. รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรช้าตลอดเวลา – คือใจมันไปไวกว่าแล้วอะเนอะ ก็เลยรู้สึกว่าต้องไล่ตามความคิดและทำอะไรให้ทันใจตลอดเวลา จนบางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองช้าเกินไป ไม่ว่าจะเรื่องการทำงาน การเดินทาง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้เกิดความกังวล และส่งผลต่ออารมณ์ข้างใน จนบ้างครั้งก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ หลุดอารมณ์เสียออกมาบ่อย ๆ จนส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

5. ขัดจังหวะคนอื่นบ่อย ๆ – ด้วยความที่ทนรอไม่ได้ก็เลยทำให้อาจมีหลายครั้งที่เข้าไปขัดจังหวะเพื่อร่วมงานหรือเจ้านายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเขาอาจจะยังไม่พูดไม่จบหรือพูดไม่เข้าประเด็นที่เราอยากฟัง ทำให้เกิดการตัดบทสนทนาและพูดแทรกในเรื่องที่ตัวเองอยากสื่อสารออกไปเร็ว ๆ นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานเสียไปด้วย

6. หมกมุ่นกับสิ่งทำต้องทำมากเกินไป – คือต้องทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้เสร็จ เมื่อเสร็จตามเวลาที่ตัวเองกำหนดได้จะพอใจมาก แต่ก็จิตใจสงบอยู่ไม่นาน เพราะสมองคิดถึงเรื่องต่อไปที่ต้องทำแล้ว แล้วก็หมกมุ่นวนลูป  อย่าลืมนะว่าการเร่งรีบทำทุกอย่างโดยไม่หยุดพักไม่ได้ส่งผลดีเลย หนำซ้ำอาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ด้วย

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness

ไม่อยากเป็น Hurry Sickness แก้ไขยังไงดี

สำหรับใครที่รู้สึกว่าเริ่มละ ฉันต้องเข้าข่ายโรคนี้แน่ ๆ เลย แล้วอยากแก้ไข ทำให้อาการของตัวเองดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องพบจิตแพทย์ ซิสมีคำแนะนำดังนี้ค่ะ

1. รู้จักถามบ้าง – บางทีความรีบเร่งของเรามันอาจจะมาจากการที่เรารับทุกอย่างมาทำโดยไม่ถาม แล้วก็ต้องทำให้เสร็จ ลองถามถึงเหตุผลที่ต้องทำสิ่งสิ่งนั้น จะได้รู้ว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นและสามารถให้คนอื่นทำแทนได้ เราจะได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ การกระจายงานไปให้คนอื่นบ้างจะทำให้เรามีเวลาว่างพอที่จะลำดับความคิดว่าเราควรรีบทำอะไรก่อน

2. ไว้ใจคนอื่นบ้าง – หลายครั้งที่เรารับงานมาทำหมดเพราะรู้สึกว่าคนอื่นทำไม่ถูกต้อง ทำไม่ทันใจใช่ไหมล่ะ ลองปรับความคิด ไว้ใจให้คนอื่นเขาทำบ้าง แต่เราต้องแนะนำและชี้ให้เห็นจุดบกพร่องที่ชัดเจน จะได้เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องรับงานคนอื่นมาทำจนเกิดความรีบเร่งไปเสียหมด

3. หยุดทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน – การทำหลายอย่างจะทำให้เราสมาธิสั้น แถมยังทำให้เราทำงานไม่สุดความสามารถหรือทำอะไรไม่ได้เลย ให้มุ่งความสนใจไปที่สิ่งหนึ่งทีละอย่างแทน จะได้ทำงานได้ดีขึ้นและไม่เร่งรีบ

4. ช้าลงหน่อย – เราทุกคนต้องการเวลาที่จะหยุดและคิด เพื่อฟื้นมุมมองและทบทวนงานของเรา เวลาที่รู้สึกว่าทุกอย่างเร่งรีบถาโถม ลองหยุดทำทุกอย่างไปเลย แล้วนิ่งนิ่ง ๆ เหยียดขาสักหน่อย ค่อย ๆ คิดว่าจะทำอะไรยังไง แล้วจะได้ผลดีไหม ทำทุกอย่างให้ช้าลงสักนิด แล้วจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเอง

5. ทุกอย่างไม่ต้องรีบเสมอไป – เปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่เลยค่ะ คิดใหม่ว่าทุกอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มีเรื่องที่รอได้กับเรื่องที่ต้องทำทันที แต่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และทำให้เสร็จทีละอย่าง 

6. อนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้าง – ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ลองนอนหลับนิ่ง ๆ สบาย ๆ ในวันหยุด หยิบหนังสือที่ซื้อมาตั้งนานแล้วไม่ได้อ่านมาอ่านสักหน่อย ออกไปเดินเล่นสูดอากาศบ้าง ดูหนังสักเรื่อง ออกกำลังกาย และฝึกสมาธิ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย 

7. ก่อนนอนพยายามหากิจกรรมที่ทำให้ใจสงบทำ – เพื่อปรับสมดุลทางอารมณ์และฟื้นฟูจิตใจ เช่น แช่น้ำอุ่นก่อนนอน จดบันทึก หรือฟังเสียงบรรเลงช่วยกล่อมนอน เพื่อให้สงบและนอนหลับดี เมื่อเรานอนหลับสนิทอารมณ์ก็จะดีขึ้น 

8. ให้คนอื่นช่วยเตือน – ถ้าเรารู้สึกว่ามีอาการ Hurry Sickness แล้ว สิ่งที่สำคัญเลยคือบอกให้คนรอบข้างรับรู้และช่วยเตือนสักหน่อยว่าเราทำอะไรเร็วเกินไปแล้ว เครียดมากเกินไปแล้ว เพื่อดึงสติให้เราปรับพฤติกรรมตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป เชื่อเถอะว่ามีคนที่รักเราและพร้อมช่วยเหลือเราในส่วนนี้อย่างแน่นอน

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness

เข้าใจนะคะว่าบางพฤติกรรมมันปรับกันยาก เพราะมันฝังรากลึกไปแล้ว แต่ถ้าลองปรับสักหน่อยก็จะดีกับทั้งงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การใช้ชีวิต และสุขภาพนะ ทำอะไรช้า ๆ บ้าง ชีวิตจะผ่อนคลายขึ้นค่ะ

 

Credit Information from www.mindtools.com, thestandard.co, www.huffpost.com

Credit Pictures from Instagram sooviin38, zzyen__113, i.am.zoo, Freepik

 

Comments

comments