หลังจากวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ใครเจออาการซึม ไม่อยากทำงาน เบื่อหน่ายบ้าง รู้มั้ยว่ามีอาการเหล่านี้ ถือว่าเป็น “ภาวะหดหู่หลังวันหยุดยาว” หรือ Post Vacation Blues หรือ อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ใครยังไม่เคยได้รู้จักอาการนี้ มาอ่าน ! วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้ภาวะ อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว พร้อมบอกวิธีรับมือกับอาการเหล่านี้ เพื่อให้กระทบการทำงาน และชีวิตประจำวันของเราอีกต่อไป
ภาวะ Post Vacation Blues คืออะไร?
ภาวะอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นหลังจากเราใช้ชีวิตสนุกสนานไปกับวันหยุดยาว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ใหม่ ๆ กิจกรรมใหม่ ๆ หรือพบปะผู้คนใหม่ ๆ แต่ละคนอาจจะมีอาการแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะรู้สึกคิดถึงบรรยากาศในช่วงวันหยุดยาว ความรู้สึกของช่วงเวลาที่กำลังท่องเที่ยว หรือ กิจกรรมที่ทำระหว่างเที่ยว จนรู้สึกไม่อยากทำงาน เบื่อหน่าย และมีอาการซึมเศร้า ภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายเคยชินกับการพักผ่อน และไม่พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้น และมักเกิดกับคนที่เบื่องานของตัวเองอยู่แล้ว โดยระดับความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับความเบื่อหน่ายที่มีอยู่เดิม อาการนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพ การทำงานลดลง สมาธิลดลง หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียใจ อาการนี้สามารถพบได้ในทุกวัยเลยค่ะ
อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว รับมือยังไง ให้ทำงานต่อไหว !?
1. มองหากิจกรรม หรืองานอดิเรก
ในช่วงแรก ๆ หลังจากกลับมาจากวันหยุดยาว ใน 2-3 วันแรก เป็นช่วงที่สภาพจิตใจแย่ ต้องการปรับสภาพจิตใจ ถ้าเรามีงานอดิเรกอยู่แล้ว ให้ทำในสิ่งที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข ให้ลืมความรู้สึกหาเศร้าหลังจากการเที่ยว ส่วนใครที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ไม่มีสิ่งที่ชอบทำเป็นพิเศษ แนะนำให้ทำความสะอาดบ้าน วิธีนี้ช่วยให้เราคุ้นชินกับบ้านมากขึ้น แล้วยังช่วยให้บ้านของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นอีกด้วย
2. พยายามทำทุกที่ให้มีความสุขเหมือนได้ใช้ชีวิตในวันหยุด
สิ้นสุดวันหยุด ใช่ว่าจะสิ้นสุดความสนุก เราสามารถหาวิธีที่จะได้สัมผัสกับการเดินทางมากขึ้น โดยนำความคิดแบบนักท่องเที่ยวมาใช้ในชีวิตที่บ้าน อาจจะลองร้านอาหารใหม่ เดินเล่นผ่านย่านใหม่ ไปในร้านเปิดใหม่ที่ยังไม่เคยไป
ดร. เทรซี โธมัสนักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ด้านอารมณ์ แนะนำให้ทำอาหารบางอย่างที่คุณชอบในขณะที่ไปท่องเที่ยว เช่น “เมื่อฉันไปอิตาลี และกินพาสต้าโพโมโดโร อาจจะเป็นเดือนที่ดีหลังจากนั้นเมื่อฉันกลับถึงบ้าน ฉันจะทำมันหรือสั่งมันไปเรื่อย ๆ แทนที่จะปล่อยให้ความทรงจำหายไป
3. นับถอยหลังวันหยุดครั้งหน้า ในทริปต่อไป
เมื่อเรามีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยว เราอาจตั้งเป้าไว้สำหรับทริปหน้า ว่าเราจะไปที่ไหน พักที่ไหน ไปกี่วัน เพื่อที่จะได้รู้สึกว่ามีความสนุกตื่นเต้นรออยู่ วิธีการนี้จะทำให้มีแรงในการใช้ชีวิตมากขึ้น ตั้งใจเก็บตัง ตั้งใจทำงาน เพื่อที่จะได้ไปเที่ยวอีกรอบ
4. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยได้ เพราะเวลาเราออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน ให้เรามีความสุข ทำให้เราลืมเศร้าไปได้ในขณะนึงเลย และยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย การสุขภาพกายที่ดี ทำให้สุขภาพจิตดีตามด้วย หรือถ้าไม่ว่างไปออกกำลังกาย เราแค่ทำกิจกรรมประจำวันให้ขยับมากขึ้น ให้ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เผาผลาญแคลอรี และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หรือให้ที่อยู่บ้านแล้วอยากออกกำลังกาย อาจจะเริ่มจากการวิดพื้น แพลงก์ สควอช หรือเปิดคลิปออกกำลังกาย แล้วออกตามที่บ้าน แค่นี้ก็ช่วยลดความเครียด และช่วยให้กลับมามีรูปร่างดีอีกด้วย
5. ทานอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน
ใครที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้า และอ่อนเพลียไม่พร้อมทำงาน แนะนำให้กินอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้ และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่าง ๆ เช่น น้ำมันมะกอก และถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอาหารเสริมที่จะช่วยให้คุณปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี สารแคโรทีน สารไลโคพีน โคเอนไซม์ Q10 และ N-acetylcysteine (NAC) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกาย และกล้ามเนื้อ
6. พูดคุยกับผู้อื่น
การติดต่อกับเพื่อน ครอบครัว และคนที่คุณรักเป็นสิ่งสำคัญ การพูดความรู้สึกเราไป จะทำให้อารมณ์นั้นรู้สึกน่ากลัวน้อยลง และเรารู้สึกว่าควบคุมได้มากขึ้น เราสามารถมีหลายอารมณ์ในเวลาเดียวกัน เช่น เศร้าแต่ตื่นเต้น” ซึ่งหากใครยังมีอาการ Post-Vacation Blues ติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ สามารถปรึกษาปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้
7. สมดุลการนอนหลับ
ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับหลายคน ก็คือการเที่ยวในช่วงวันหยุดทำให้เหนื่อยมากขึ้น เพราะกิจกรรมหลากหลายที่ได้วางแผนไว้ และการนอนหลับที่ไม่เป็นเวลาสำหรับประเทศที่เวลาต่างจากประเทศเรามาก ๆ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มที่ การนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังเที่ยว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ต่อสุขภาพ เพราะขณะหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซม และปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อกลับมาสู่โหมดภาวะปกติ ดังนั้นเราจึงควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น. ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็ว
8. หาก “หมดไฟ” ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดว่า ‘เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรง และคุกคามการใช้ชีวิต สาเหตุจาก การเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ เหนื่อยล้า หมดพลัง ชอบคิดลบต่อความสามารถของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานประเมินว่าเรามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานได้ไม่เหมือนเดิม และที่พบบ่อยคือ ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน และคนรอบข้างแย่ลง
ใครรู้สึกว่าตัวเองมี อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว ลองนำวิธีรับมือต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้นะคะ แต่ถ้าวิธีที่แนะนำ ช่วยเราไม่ได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรักษานะคะ เพราะอาจกระทบทั้งเรื่องงาน และชีวิตประจำวันได้ รับรักษาแล้วรีบหาย อย่ากลัวการไปพบแพทย์ และนักจิตวิทยาค่ะ
photo Credit:
Source Credit:
Stay connected