โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โรคนี้ทำให้ตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล หรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน โรคนี้เป็นโรคปกติที่สามารถเป็นได้ทุกคน แล้วมีงานวิจัยนึงจากจุฬา ฯ บอกว่าคนไทยกว่า 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และพยายามคิดฆ่าตัวตาย 50,000 คนต่อปี เราจึงจำเป็นต้องรู้วิธีดูแลตัวเอง และ วิธีดูแลคนไกล้ตัว ซึ่งวันนี้เราได้เอา วิธีดูแลคนเป็นโรคซึมเศร้า มาฝากกันค่ะ
ทำยังไงได้บ้าง? “เมื่อคนไกล้ตัวเป็นซึมเศร้า” มาบอก วิธีดูแลคนเป็นโรคซึมเศร้า
สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก
- เกิดขึ้นจากพันธุกรรม : โรคซึมเศร้าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่อาจไม่ใช่ว่าพ่อแม่เป็น แล้วลูกจะเป็น แค่มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น หากมีฝาแฝดเป็นโรคซึมเศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้สูงถึง 60 – 80% หรือหากมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20%
- เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม : สภาพแวดล้อมภายในครอบครัวหรือบริบทสังคมในที่ทำงาน ที่มีความกดดันสูง มีโอกาสที่ทำให้ความคิด และพฤติกรรมเปลี่ยน ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้า
- อารมณ์ซึมเศร้าท้อแท้ สิ้นหวัง
- ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
- นอนมากหรือนอนน้อยกว่าปกติ
- กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หรือเชื่องช้าลง
- เหนื่อย และอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงอยู่เกือบตลอด
- รู้สึกตนเองไร้ค่า รู้สึกผิด และโทษตนเองอยู่ตลอด
- สมาธิ ความสามารถในการคิด และการตัดสินใจลดลง
- คิดเรื่องตายหรือคิดอยากตาย
นอกจากนี้ ยังมี 5 สัญญาณโรคซึมเศร้า จากทางโซเชียล ถ้าเราเห็นเพื่อนหรือ คนใกล้ชิด โพสต์ลงโซเชียลในแนวนี้ ให้ระวังไว้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูง มีดังนี้
- โพสข้อความสั่งเสีย เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน
- โพสต์อยากตาย เช่น ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว
- โพสต์ความเจ็บปวด ทรมาน
- โพสต์ความรู้สึกผิด หมดหวังในชีวิต
- โพสต์เป็นภาระผู้อื่น หรือ รู้สึกไร้ค่า
การรักษาโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด ซึ่งแต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้ต่อสู้กับปัญหาได้ดีกว่าเดิม การมีเพื่อนคอยอยู่ข้าง ๆ รับฟังจะช่วยได้ดีเลยค่ะ แต่ถ้าใครมีอาการหนัก ถึงขั้นฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า
สิ่งที่ควรทำเมื่ออยู่กับคนเป็นโรคซึมเศร้า
- คอยพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้เห็นถึงข้อดีของตัวเองเสมอ : ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาเลยก็ว่าได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้หันมามองเห็นคุณค่าของตัวเองที่จะทำให้มีกำลังใจสู้ต่อ และอยากใช้ชีวิตต่อไป
- รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่กดดัน ไม่ตัดสิน : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น การจะให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกในใจ จึงต้องให้เขารู้สึกว่ามีคนอยากรับฟังเขาอยู่จริง ๆ ไม่กดดัน ไม่ตัดสิน และต้องสร้างความไว้วางใจ ซึ่งการฟังที่ดีจะช่วยให้เราเก็บข้อมูลไว้ใช้สำหรับการป้องกัน และรักษาได้ด้วย
ประโยคที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- “อีกไม่นานเธอก็จะดีขึ้น หรือ อดทนไว้นะ”
- “ไม่มีใครตั้งใจให้เรื่องร้ายๆ มันเกิดหรอก ฉันรู้ดี
- ”“ฉันก็ไม่รู้หรอกนะว่าเธอจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน แต่ฉันยินดีจะทำความเข้าใจเธอนะ”
- “พวกเราจะไม่ทิ้งเธอนะ เราจะอยู่ข้างๆ เธอ”
- “เธอไม่ได้เป็นบ้า เธอก็แค่เศร้า”
- “มากอดกันไหม”
- “ออกไปเดินเล่นกันไหม”
- “ฉันขอโทษที่ทำร้ายคุณ ฉันจะช่วยเธอได้อย่างไรบ้าง”
- “ฉันรักเธอ แม้เธอจะเป็นยังไง”
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่ออยู่กับคนเป็นโรคซึมเศร้า
- อย่าบอกปัดหรือตีตัวออกห่าง : การทำตัวออกห่างจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งพิง รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ อาจทำให้เกิดความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อได้
- เมื่อพูดถึงเรื่อง “ความตาย” ห้ามทำเป็นไม่ได้ยิน : คนใกล้ชิดไม่ควรมีท่าทีต่อต้าน กับคำพูดอยากตายของผู่ป่วย เพราะจะทำให้สภาวะจิตใจของผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงได้
- ห้ามกดดัน เร่งรัด หรือ ตัดสิน : เช่น “ทำไมยังไม่หายอีก” เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดันว่าตัวเองเป็นภาระ อาจทำให้อาการแย่หนักลงกว่าเดิม
- ห้ามกล่าวโทษ : ห้ามโทษผู้ป่วยว่าทั้งหมดเป็นความผิดของเขา หรือพอป่วยแล้วก็ทำอะไรไม่ดีสักอย่าง
- ห้ามโต้แย้ง : ถ้าผู้ป่วยระบายความรู้สึกออกมา เราควรรับฟังอย่างเดียวก็พอแล้ว ไม่ควรไปโต้แย้งว่าสิ่งที่เขาพูดมันผิด
ประโยคต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
สิ่งที่ไม่ควรพูดคือ คำห้าม คำกดดัน คำพูดเชิงลบ คำที่กระทบจิตใจผู้ป่วย
- “อย่าคิดมาก”
- “เลิกคิดมาก”
- “สู้ ๆ นะ”
- “คิดในแง่ดีเข้าไว้”
- “ร้องไห้ทำไม ห้ามร้องไห้”
- “เสียใจด้วยนะ / แย่จังเลย”
- “พยายามอีก / ต้องทำได้ / ทำไมทำไม่ได้”
- “แค่นี้เอง เดี๋ยวก็ดีเอง”
- “อย่าท้อ”
- “มีคนที่แย่กว่าคุณอีก”
นอกจากคำพูดที่เราสามารถช่วยคนไกล้ตัวที่เป็นซึมเศร้าได้แล้ว เราลองพาคนที่เป็นซึมเศร้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จะช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขี้น แ แต่สิ่งสำคัญต้องชวนไปทำกิจกรรมในตอนที่พร้อม แล้วถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการทำกิจกรรม ก็ไม่ควรบังคับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยได้ดูแลตัวเอง ให้มีอาการที่ดีขึ้น ถึงจะชวนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
1. ชวนไปออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว แล้วยังช่วยให้จิตใจของผู้มีอาการซึมเศร้าดีขึ้นอีกด้วย อาจจะเลือกออกกำลังกายง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้สมาธิมาก อย่าง การวิ่ง การเดิน แอโรบิก กิจกรรมต่าง ๆ ที่แนะนำ จะช่วยให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้านอนหลับ และทานอาหารได้ดีขึ้น แถมการได้ออกกำลังกายกับเพื่อน จะทำให้ผู้ป่วยหายจากความรู้สึกไม่โดดเดี่ยว
2. กิจกรรมที่ทำให้รู้สีกดี และเกิดความผ่อนคลาย เช่น พาไปเดินเล่น ชวนไปเที่ยวทะเล ภูเขา
การที่เราอยู่ใกล้กับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เราต้องใช้ความเข้าใจ และดูแลคนป่วยอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และคอยให้กำลังอยู่เสมอ วิธีต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เขาหายจากโรคซึมเศร้า ส่วนใครไม่มีคนไกล้ตัวที่เป็นซึมเศร้า เราก็จำเป็นต้องรู้เอาไว้ เมื่อคนไกล้ตัวเป็นซึมเศร้า ขึ้นมา วิธีต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยซัพพอร์ตความรู้สึกของผู้ป่วยได้ดีเลยแหละ
Photo Credit:
Source Credit:
Stay connected