โรค Dysania หรือโรคเตียงดูดคืออะไร ? สาเหตุนี้ไม่ได้มาจากความขี้เกียจ
ภาวะ Dysania หรือ โรคเตียงดูด คืออะไร?
ภาวะลุกจากเตียงได้ยาก ไม่อยากตื่นมาทำอะไร ไม่มีเป้าหมาย รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอน และรู้สึกเศร้า ภาวะนี้อาจไม่ถือว่าเป็นโรค แต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา ที่จะกระทบต่อสุขภาพ และจิตใจ
นอนแค่ไหนเรียกว่ามากเกินไป?
ระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของแต่ละคนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุ และสุขภาพ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่ควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าต้องการมากกว่านั้นอาจส่งผลต่อสุขภาพ
ระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของแต่ละช่วงวัย
เด็กทารก ควรนอน 12 -16 ชั่วโมง/วัน
เด็ก 1-2 ปี ควรนอน 11 -14 ชั่วโมง/วัน
เด็ก 3-5 ปี ควรนอน 10 -13 ชั่วโมง/วัน
เด็ก 6-12 ปี ควรนอน 9 -12 ชั่วโมง/ วัน
วัยรุ่น 13-18 ปี ควรนอน 8 -10 ชั่วโมง/วัน
วัยทำงาน ควรนอน 7 -9 ชั่วโมง/วัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Dysania
1. กล้ามเนื้อสมองอักเสบ/กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (ME/CFS)
ผู้ที่มีอาการของโรค กล้ามเนื้อสมองอักเสบ และ กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ME/CFS อาจรู้สึกเหนื่อยได้แม้ว่าจะนอนหลับสนิทหรือไม่ก็ตาม รวมถึงยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้าหลังจากทำกิจกรรมทางร่างกายหรือจิตใจที่มากเกินไป
2. ภาวะซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้า และดีซาเนียมีความเชื่อมโยงกัน นั่นเป็นเพราะภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการนอนหลับ และการอดนอนอาจทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม อาการซึมเศร้าเป็นภาวะที่รักษาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที
3. ความเศร้าโศก
การสูญเสียมักจะส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธ กังวล และความรู้สึกผิด ผลกระทบทางจิตใจต่าง ๆ เหล่านี้อาจส่งผลไปถึงสุขภาพทางกาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การลดลงของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจเป็นสาเหตุที่ไปรบกวนการนอนหลับได้ หากเมื่อไหร่ที่เรามีความเศร้าจนเกินกว่าจะรับมือได้ หรือสังเกตเห็นถึงความผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากความเศร้าโศก แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การรักษาอย่างถูกวิธีอาจช่วยคลายความเศร้าที่เกิดขึ้น
4. ความผิดปกติของการนอนหลับ
ศูนย์สุขภาพ และบูรณาการแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีความผิดปกติของการนอนที่แตกต่างกันเกือบ 80 แบบ และปัญหาในการนอนหลับต่าง ๆ นี้ อาจส่งผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และไม่สามารถลุกจากเตียงในตอนเช้าได้ โรคนอนไม่หลับ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็เป็น 2 สาเหตุหลักของความผิดปกติของการนอนที่พบได้บ่อยทั่วโลก
หากคุณมีความผิดปกติของการนอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถช่วยให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาได้ การสั่งจ่ายยา หรือแนะนำให้รับประทานอาหารเสริม เช่น เมลาโทนิน การบำบัดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ การนวด การฝังเข็ม การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหารและการออกกำลังกายก็อาจช่วยได้
5. ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
ภาวะไทรอยด์ก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังได้เช่นกัน ความรู้สึกอ่อนเพลียอาจเกิดขึ้นไปเป็นเดือนหรือเป็นปีหากไม่รักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การกินยาบางชนิด รวมถึงภาวะโรคต่าง ๆ เช่น โรคไบโพลาร์ การรักษามะเร็งบางชนิด ก็อาจรบกสนการทำงานของต่อมไทรอยด์ และทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ได้ ซึ่งภาวะที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่ทำงานต่ำ สามารถรักษาได้ด้วยยาบางชนิดที่สามารถทดแทนฮอร์โมน
6. โรคหัวใจ
ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจ และหลอดเลือด ก็อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากได้ หรือหากคุณสูบบุหรี่ มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วนหรือเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ก็อาจจะทำให้คุณอยู่ในภาวะเหนื่อยในตอนเช้า และไม่อยากลุกจากเตียง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและปอดได้
ภาวะนอนมากเกินไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?
การนอนมากเกินไปอาจมีผลต่อการนอนหลับ และร่างกาย โดยอาจทำให้นอนไม่หลับหรือหลับยากขึ้นในเวลากลางคืน การจำกัดระยะเวลาที่ใช้บนเตียงจะช่วยให้ปรับการนอนหลับของผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ได้ การนอนนิ่งๆ บนเตียงไม่ขยับเขยื้อนร่างกายนาน ๆ อาจนำไปสู่การเป็นแผลกดทับได้ ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง กระดูกอ่อนแอ และส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นออกกำลังกายจะช่วยแก้ไขอาการเหล่านี้ได้
Dysania ต่างจากโรคซึมเศร้า ยังไง?
คนที่ชอบนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน แสดงให้เห็นถึงการไร้เป้าหมาย โดยเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า หรือภาวะเครียดหนัก ๆ ด้วย ทั้งนี้ ได้มีงานวิจัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้มีอาการ Dysania ก่อนจะเป็นโรคซึมเศร้า ทว่าโรคซึมเศร้าต่างหากที่ผลักดันให้เกิดอาการ Dysania หรือความรู้สึกอยากนอนอยู่บนเตียงไปทั้งวัน หรือบางรายอาจชอบนอนเฉย ๆ จนติดเป็นนิสัย นานวันไปจึงเริ่มไร้จุดหมายของชีวิต จนเกิดโรคซึมเศร้าก็มีให้เห็นบ้าง
สุขอนามัยการนอนหลับประกอบไปด้วย
1. เข้านอน และตื่นนอนให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ และนอนหลับในระยะเวลาที่พอเพียง (ระยะเวลาการนอนที่พอเพียงแต่ละช่วงวัยตามที่กล่าวได้ด้านบน)
2. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อการนอนหลับที่ดีมีคุณภาพ ห้องนอนควรเงียบไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีแสงสว่างมากเกินไป มีอุณหภูมิที่พอดี นอกจากนี้ควรเลือกที่นอน หมอนที่เหมาะกับสรีระของตัวเอง
3. อยู่บนเตียงหรือที่นอนเมื่อง่วงนอน ไม่ทำกิจกรรมอื่นบนเตียงนอกจากการนอนหลับหรือกิจกรรมทางเพศ หากนอนไม่หลับหลังจากเข้านอนแล้วเกิน 30 นาที ให้ลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมที่สงบ และผ่อนคลายจนรู้สึกง่วงแล้วจึงเข้านอน
4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มทีมีคาเฟอีนปริมาณมากในช่วงเย็น รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วย
5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะช่วง 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน
6. ไม่งีบหลับในเวลากลางวัน แต่หากมีความจำเป็น เช่น ต้องขับรถระยะทางไกลหรือทำงานที่มีความเสี่ยงสูงและง่วงมากให้งีบช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่ควรงีบในช่วงหัวค่ำ
7. หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางก่อนเข้านอน ยกเว้นภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
8. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารย่อยยาก 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน
9. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักหรือทำงานที่มีความเครียดก่อนนอน
ใครที่ไม่อยากลุกออกไปทำอะไรเลย อยากนอนอยู่แต่บนเตียง เสี่ยง โรค Dysania ใครที่ภาวะแบบนี้ ต้องรีบรักษานะคะ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวได้ รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนต่าง ๆ แค่นี้เราก็จะมีสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่ดีแล้วค่ะ
Photo Credit:
Source Credit:
Stay connected