ความอิจฉาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน ถึงแม้เราคิดว่าจะมีพร้อมแล้ว ก็ต้องมีมุมเล็ก ๆ ที่อิจฉาคนอื่น แต่การอิจฉาที่เกิดขึ้นนั้น ซิสจะแน่ใจได้ยังไงว่าแค่อารมณ์ชั่ววูบ หรือเรามีอาการอื่น ๆ เข้ามาแล้ว มาตรวจสอบตัวเองกันดีกว่าค่ะ ว่าเราเป็น โรคชอบเปรียบเทียบ โดยเฉพาะเปรียบเทียบตัวเองกับโลกโซเชียล หรือเปล่า แล้วโรคนี้แย่แค่ไหน อันตรายไหมนะ

 

โรคชอบเปรียบเทียบ “ตัวเอง” กับ “โลกโซเชียล” แย่แค่ไหนกัน?

โรคชอบเปรียบเทียบ
โรคชอบเปรียบเทียบ คือชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เห็นคนอื่นมีอะไรที่ดีกว่า แล้วก็คิดวนเวียนไปจนเกิดความรู้สึกอิจฉา

โรคชอบเปรียบเทียบ เป็นภาวะความทุกข์ใจ ที่ชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เห็นคนอื่นมีอะไรที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา ฐานะ หน้าที่การงาน ผลการเรียน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต แล้วก็คิดวนเวียนไปจนเกิดความรู้สึกอิจฉา เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หมดกำลังใจ หรือขาดความมั่นใจในตัวเอง จนไม่เป็นอันกินอันนอน

ยิ่งตอนนี้โลกโซเชียลมีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตมากขึ้น เมื่อเห็นไลฟ์สไตล์หรือคนอื่น ๆ ที่ดูแล้วชีวิตดี๊ดี ก็ยิ่งกลายเป็นว่าพาความคิดดำดิ่งอยู่กับความไม่พอใจในตัวเอง คิดมาก คิดซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดความวิตกกังวล และเกิดเป็นความเครียดสะสม

ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ตัวเองเป็นคนมองโลกแง่ร้าย ตัดสินตัวเองเป็นคนไร้ค่า รู้สึกสิ้นหวังในชีวิต และหมดกำลังใจที่จะใช้ชีวิต ซึ่งถ้าถามว่าอันตรายไหม ก็ต้องบอกเลยว่า อันตรายค่ะ 

ทีนี้ ซิสอยากรู้ไหมว่า ตัวเองเป็นโรคชอบเปรียบเทียบหรือเปล่า หรือแค่อิจฉาเขาเฉย ๆ แป๊บ ๆ ก็หาย ดังนั้น ลองมาเช็คกันดูหน่อย ว่าเรามีอาการแบบนี้หรือเปล่า

โรคชอบเปรียบเทียบ
โรคนี้จะชอบส่อง เห็นคนอื่นดีไม่ได้ เห็นแล้วอิจฉา ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

1. ติดนิสัย “ส่อง”

คือใช้โซเชียลมีเดียสอดส่องความเป็นไปของคนอื่นตลอดเวลา ไปไหน ทำอะไร ซื้ออะไร กินอะไร เรียกว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ในการจับโทรศัพท์เพื่อสอดส่องคนที่ชีวิตดี ๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง

2. เกิดความรู้สึกทางลบหลังเห็นชีวิตของคนอื่น

เช่น รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ หรืออิจฉาที่มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับคนอื่น ในใจรู้สึกร้อนรน ไม่มีความสุข อยากได้อยากมีแบบเขา แต่ไม่เกิดแรงผลักดันให้ตัวเองพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น นี่เป็นสัญญาณไม่ดีแล้วค่ะ

3. ยอมรับสภาพตัวเองว่า เราคงไม่มีได้เหมือนคนอื่น 

ถ้าสมมติส่องแล้วได้แต่อิจฉา แต่ก็มาโทษโชคชะตาตัวเอง ว่าคงทำได้ไม่ดีเหมือนคนอื่น คงไม่สามารถมี หรือเป็นอย่างคนอื่นได้ นั่นหมายถึงการลดทอนคุณค่าในตัวเอง ทำให้ความมั่นใจในตัวเองที่มีน้อยอยู่แล้ว น้อยลงไปอีก กลายเป็นเครื่องมือที่ตอกย้ำความคิด ความรู้สึกในทางลบที่มีต่อตัวเอง และสร้างความทุกข์ใจจนเยียวยาได้ยาก

โรคชอบเปรียบเทียบ
พอเปรียบเทียบมาก ๆ ก็อยากมี อยากได้ อยากเป็น ไม่พอใจในตัวเอง จนอาจเกิดความยับยั้งชั่งใจ

4. เกิดความรู้สึกอยากได้ หรืออยากทำตาม

อันนี้ตรงข้ามกับข้อที่แล้ว แต่อาการนี้ก็ใช่ว่าจะดี เพราะหากสิ่งที่เราอยากได้ หรืออยากทำตาม มันเกินกำลังของเรา ก็อาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ และทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือทำเรื่องที่ผิด หรือทำอะไรโดยขาดความยั้งคิดหรือไตรตรองให้ดี เพราะรู้สึกว่า ตัวเองต้องมีเหมือนคนอื่นให้ได้

5. เริ่มเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นในโลกออนไลน์

รู้สึกดีที่ได้นำเสนอด้านที่ทำให้ตัวเองดูดี ได้รับการยอมรับ ได้รับการชื่นชมจากคนอื่น ต้องการอยู่เหนือกว่าคนอื่นในโลกออนไลน์ แต่ถ้าไม่มีใครยอมรับ หรือไม่มีใครสนใจ ไม่ได้รับการตอบสนองแบบที่คาดหวัง ก็จะเกิดความไม่พอใจ และแสดงออกไม่ดีต่อคนอื่น

 

โรคชอบเปรียบเทียบแบบนี้ แก้ยังไงดีนะ?

หากเริ่มรู้สึกว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคนี้แล้ว ลองหาทางแก้ดูสักหน่อยไหม เพราะการลองค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมุมมอง ก็สามารถทำให้โรคนี้ดีขึ้นได้นะ

โรคชอบเปรียบเทียบ
มองหาข้อดีของตัวเอง สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง อย่าเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เหนอกว่ามาก ๆ

1. ลองฝึกมองข้อดีของตัวเอง

มองหาจุดแข็งของตัวเอง ลองดูว่าเรามีอะไรโดดเด่นบ้าง ที่เป็นข้อดี ที่หลาย ๆ คนชื่นชม มีอะไรที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเราได้บ้าง แล้วลองจดไว้ เวลานอยด์ ๆ ก็ลองหยิบมาอ่าน จะได้รู้สึกภูมิใจ ว่าเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเหมือนกัน

2. ถ้าแก้เรื่องเปรียบเทียบไม่ได้ ลองเปรียบเทียบกับคนที่ใกล้เคียงกัน

ลองเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน หรือคนใกล้ตัว ที่ทำให้เราไม่ได้รู้สึกด้อยไปกว่าเขา จะได้มีกำลังใจ มากกว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่อยู่เหนือกว่ามาก ๆ เช่น รวยกว่ามาก ๆ เรียนเก่งกว่ามาก ๆ การเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เหนือกว่ามากเกินไป จะยิ่งเป็นการกดดันตัวเอง

3. มองตามความเป็นจริง พอใจกับตัวเอง สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

อย่าคิดว่าทำไม่ได้ค่ะ การมองความเป็นจริงก็เช่น สมมติเรามองคนที่รวยกว่าเรามาก ๆ ใช้เงินแบบฟุ่มเฟือยสุด ๆ แต่พอกลับมามองตัวเอง การใช้เงินของเขาก็ไม่ได้ทำให้เงินที่เรามีหายไปสักหน่อย ดังนั้นเราก็ไม่ได้เดือดร้อน หรือสมมติมองคนที่หุ่นเป๊ะมาก ๆ ความหุ่นเป๊ะของเขาก็ไม่ได้

ทำให้น้ำหนักเราเพิ่มสักหน่อย ลองปรับมาเป็นแรงฮึดให้เราออกกำลังกายเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองก็ได้นี่นา

โรคชอบเปรียบเทียบ
สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด บอกตัวเองบ่อย ๆ ว่าคนที่เราอิจฉาอาจจะมีด้านอื่น ๆ ที่ไมได้เปิดเผยก็ได้

4. อย่าคิดว่าสิ่งที่เห็นเป็นจริงทั้งหมด

คนเรามีหลายด้านค่ะซิส และทุกคนมักจะแสดงแต่ด้านที่ดี ที่น่าอิจฉา เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ลองมาคิดดูดี ๆ ค่ะ ว่ากว่าเขาจะได้สิ่งเหล่านั้นมา เขาอาจจะต้องแลกอะไรมากมาย หรือเขาอาจจะมีด้านอื่น ๆ ที่ไม่มีความสุขซ่อนอยู่ก็ได้ คนที่เราอิจฉา เขาอาจจะรวยมาก ๆ แต่ชีวิตคู่เขาอาจจะไม่มีความสุข หรือเขาอาจจะดูสนุกกับชีวิตมาก

แต่เบื้องหลังเขาอาจจะมีเรื่องเครียดมากมายที่ไม่ยอมบอกใครก็ได้ ทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอค่ะ

5. ปรึกษาจิตแพทย์ หากเราลองแก้ไขที่ตัวเองแล้ว

แต่ยังรู้สึกว่า ไม่สามารถมูฟออนจากความอิจฉา จากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบนโลกโซเชียลได้ ลองปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรักษาให้ตรงจุดดูค่ะ แพทย์อาจจะรักษาตามหลักจิตวิทยา และทำให้ปรับเปลี่ยนความคิด และรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นได้

 

อันที่จริงการปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง อาจจะเป็นเรื่องยากค่ะ เพราะความอิจฉาเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน แต่พยายามอย่ามองข้ามข้อดีของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองมี อย่าให้การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น โดยเฉพาะคนในโลกโซเชียล มาทำให้ซิสเสียสุขภาพจิต หรือบั่นทอนตัวเองเลยนะคะ

 

 

Credit Information from กรมสุขภาพจิต , Facebook : โรคซึมเศร้า หายได้

Credit Pictures from www.wattpad.com, weheartit.com, Pinterest : giaininhylac, favim.com

Comments

comments