สวัสดีค่าสาวๆ ชาวซิสทุกคน นี่นักเขียนคนใหม่ ฝากตัวด้วยนะคะ (ฮ่าๆ) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามีซีรีส์ไทยแนวเสียดสีและสะท้อนภาพสังคมในโรงเรียน และรู้จักกันดีในชื่อ “แนนโน๊ะ” เพิ่งเข้าซีซั่นที่ 2 พร้อมสร้างเสียงฮือฮาใน Social Media ไม่น้อยเลยก็ว่าได้ และขณะนี้ไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ณ วันที่ 8 พฤษภาคม) ด้วยเหตุนี้ Clubsister ขอวิเคราะห์แบบจัดเต็มกับ “รีวิว แนนโน๊ะ ซีซั่น 2 ซีรีส์สะท้อนให้เห็นความสีเทาในชีวิตวัยรุ่น” มาดูกันว่าในซีซั่นนี้จะเสียดสี และสะท้อนให้เราได้เห็นเรื่องอะไรกันบ้าง
“รีวิว แนนโน๊ะ ซีซั่น 2 ซีรีส์สะท้อนให้เห็นความสีเทาในชีวิตวัยรุ่น”
เรื่องย่อและที่มา:
ก่อนจะเข้าเรื่องกันนั้น เราขอพูดถึงที่มาและเรื่องย่อแบบพอสังเขปให้กับคนที่ไม่เคยดูซีซั่นมาก่อน ให้พอรู้จักกันเสียหน่อย “เด็กใหม่” หรือ “Girl from Nowhere” เป็นซีรีส์ไทยแนว Horror, Fantasy ที่สะท้อนและเสียดสีสังคมขนาดเล็กให้เห็นถึงปัญหาของสังคมที่เป็นเหมือนที่บ่มเพาะอนาคตของชาติอย่าง “โรงเรียน”
โดยพูดถึง “แนนโน๊ะ” เด็กใหม่น่าตาน่ารัก ย้ายเข้าไปในโรงเรียนต่างๆ แต่ทุกครั้งที่แนนโน๊ะ ย้ายไปเรียนที่ไหนก็ตาม ที่นั่นมักจะเจอเรื่องและปัญหาเสมอ แต่ในซีซั่น 2 นี้ แนนโน๊ะ จะไม่ได้ฉายเดียวเพียงคนเดียว และจะไม่ได้เป็นคนพิพากษา หรือคอยเล่นงานคนที่กระทำผิดเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันแนนโน๊ะ กลับเจอคนเอาคืนและพิพากษาการกระทำของตนเองกลับด้วยเช่นกัน
ตัวละครสำคัญในเรื่อง:
ตัวละครที่ 1: แนนโน๊ะ นำแสดงโดย คิทตี้ ชิชา อมาตยกุล
เป็นอีกหนึ่งแสดงและตัวละครที่เราชอบและรู้สึกหลงใหลไปหมด (เขินเลอ) ในเรื่องนี้จะไม่เป็นเด็กใหม่เลยหากขาดเธอคนนี้ “แนนโน๊ะ” เด็กนักเรียนหญิงคนใหม่ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เธอเป็นคนฉลาดมีความสามารถ พูดจาแตกฉาน และมียิ้มที่ดูลึกลับแต่ก็แฝงด้วยอะไรบางอย่าง ไม่มีใครรู้ว่าเธอมาจากไหน เป็นลูกของใคร หรือที่บ้านอยู่ที่ใด แต่ทุกครั้งที่เธอย้ายไปที่ไหน ที่นั่นมักมีเรื่องเสมอ
ตัวละครที่ 2: ยูริ นำแสดงโดย นิ้ง ชัญญา แม็คคลอรี่ย์
หากใครที่ตามซีรีส์ชื่อดังของ LINE TV อย่าง The Deadline ซีรีส์ที่จะทำให้สาวๆ ทุกคนรู้ว่า ช่วงเวลาที่มีลมหายใจนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดในชีวิต จะต้องรู้จักกับ “เอย” นักแสดงนำของเรื่องที่เรียกได้ว่า สร้างปรากฏการณ์และถูกจับตามองไม่น้อยกับ “นิ้ง” ในครั้งนี้เธอพลิกบทบาทที่น่าจับตามองไม่แพ้กันกับบท “ยูริ” เด็กสาวปริศนาที่ไม่ว่าแนนโน๊ะจะโผล่ไปที่ไหน จะมีเธออยู่ด้วยตลอดเวลา ไม่ต่างอะไรกับพี่สาวน้องสาวเลยก็ว่าได้ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเธอมาเพื่ออยู่ข้างเดียวกันหรือตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับแนนโน๊ะกันแน่
การวิเคราะห์แบบเจาะลึก:
ก่อนที่เราจะไปเข้าประเด็นต่างๆ ของซีซั่นนี้ เราขอพูดความประทับใจโดยรวมก่อนเลยละกัน สิ่งแรกที่ชอบในซีซั่นนี้เลย และกล้าบอกเลยว่าชอบมากที่สุดในซีซั่นนี้ก็ว่าได้ คือ “ฉากเปิด Intro” ใช่ค่ะสาวๆ อ่านไม่ผิด เราชอบฉากเปิดของ Intro ซีซั่นนี้มากๆ องค์ประกอบสี, การเดินเรื่อง, และ Movement ทุกอย่างคือละสายตาไม่ได้เลยซักนิด การใช้สีหลักอย่าง ขาว, ดำ และ แดง ที่เมื่ออยู่ในเฟรมเดียวกันมันทให้ทุกอย่างดูลงตัว และหาที่ติไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว บอกเลยว่าไม่หักเลยเต็ม 10 ให้ 10 ต่อมาเป็นเรื่องประเด็นและข้อคิดที่ได้จากซีซั่นนี้
ส่วนตัวเรามองว่าในซีซั่นนี้สะท้อนให้เห็นความสีเทาของชีวิตมนุษย์ได้ชัดเจนมากกว่าซีซั่นแรก หากเรามองย้อนกลับไปในซีซั่นแรก เราจะรู้ว่าการปรากฏตัวของแนนโน๊ะทุกครั้งนั้น มาเพื่อพิพากษาหรือ Guideline ความคิดของผู้ที่ริเริ่มอยากจะกระทำผิด แบบที่ว่าคุณมีสิทธิเลือกนะว่าจะทำหรือไม่ทำ หากคิดจะลงมือทำ ก็รับผลกรรมที่ตามมาเท่านั้น แต่ในซีซั่นนี้ เราจะได้เห็นความสีเทาในแบบทำให้เราย้อนคำถามกลับไปถามตัวเองว่า “สิ่งที่เราคิดว่ามันผิด มันผิดจริงๆ ใช่ไหม? และ ใครเป็นคนกำหนดว่ามันผิดล่ะ?” และคำถามนี้ก็เริ่มปรากฏขึ้น
เมื่อตัวละครยูริเริ่มทำงาน ส่วนตัวเรามองว่ายูริมีความคล้าย Joker ตัวร้ายที่เรียกได้ว่าได้รับผลโหวตตัวร้ายตลอดกาลของโลก หากถามว่าเธอร้ายขนาดนั้นไหม มันก็ใช่ แต่หากถามว่าเธอตั้งใจจะเป็นแบบนั้นไหม เราว่าไม่! ยูริเหมือนตัวละครที่จะว่าน่าหมั่นไส้ก็ได้ จะว่าน่าสงสารก็ได้เช่นกัน จริงๆ เธอไม่ได้อยากจะร้าย เธอก็แค่เป็นเด็กสาวธรรมดาทั่วไป ที่อยากได้มิตรภาพ ความเท่าเทียมทางสังคม ความรัก และความสุขในแบบง่ายๆ ที่เธอควรจะได้รับในชีวิตและสังคมโรงเรียน
แต่สังคมรอบร้างหล่อหลอมและเหมือนบังคับในเธอต้องเป็นแบบที่เธอเป็น กดเธอให้สุด จนวันนึงที่แรงกดมันทวีคูณความประทุเมื่อไรก็ยากจะควบคุม และนอกจากประเด็นยูริที่เข้ามาทำให้ซีซั่นนี้ เราได้เห็นความคิดเห็นที่มีต่อความผิดและความชั่วที่หลายเฉดสีแล้วนั้น ประเด็นทางสังคมที่เราจับได้หลักๆ มีอยู่ 4 ประเด็น
ประเด็นที่ 1: การเพิกเฉยต่อความผิดและเงินมีบทบาทในชีวิต ซึ่งในเรื่องนี้เราเห็นได้แทบทุกทุกๆ ตอนของซีซั่นนี้ เปิดตัวมาซีซั่นแรก มองผิวเผินเราอาจจะมองเห็นปัญหาการมีความรักในวัยเรียนและปัญหาการตั้งครรภ์ในช่วงเรียนหรือก่อนเวลาอันควร แต่ทว่ามองให้ลึกลงไปเราจะสัมผัสได้ว่าตัวละครอย่างนะนายนั้น มักใช้เงินในการแก้ปัญหาของตน และความคิดเหล่านี้ก็ส่งต่อมาจากคนในครอบครัวอย่างพ่อด้วยเช่นกัน
และในประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดกว่าเดิมในตอนที่ 3 “มินนี่ 4 ศพ” ส่วนตัวเรามองว่าตอนนี้เป็นตอนที่เราพบเห็นในชีวิตและข่าวบ้านการเมืองทั่วไปในโลกนี้ได้เป็นอย่างดี เรามักจะได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน กฏหมายมีไว้คุ้มครองคนรวย” บ่อยครั้งที่เราเห็นคดีหรือเรื่องราวความอยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผู้ที่มีชนชั้นในระดับ Upper Class หรือ พูดง่ายๆ ว่าคนรวยนั่นแหละ
บทสรุปหรือบทลงโทษของเรื่องนั้นๆ มักดูไม่สอดคล้องหรือสมเหตุสมผลกับการกระทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้น และมันจะเป็นอย่างนี้เสมอๆ ไม่เพียงแค่นั้นอำนาจของเงินยังทำให้ผิดกลายเป็นถูกได้ตลอดเวลา และยังมีอีกหลายๆ ซีนในเรื่องที่ทำให้เราเห็นถึงการเพิกเฉยต่อความผิดที่อยู่ตรงหน้า เพียงเพราะมีเรื่องเงินหรือชื่อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 2: กฏระเบียบมีไว้เพื่อส่วนรวมหรือเกื้อประโยชน์ต่อส่วนตน ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำหรับเราแล้ว เฝ้าคอยถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า “ในโลกเรานั้นมีกฏระเบียบไว้เพื่อเอื้อต่อส่วนรวม หรือ แค่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งรึเปล่า” ในข้อนี้เราเห็นได้ชัดใน EP.2 “True Love” ถึงแม้แก่นของเรื่องจะพูดถึงการกระทำผิดของครูที่ลงโทษเด็กมากเกินกว่าเหตุ หรือ การแสดงความหลากหลายทางเพศในด้านความรักไม่ใช่สิ่งผิดนั้น
แต่สิ่งที่สังเกตเห็นและน่าหยิบยกขึ้นมาอีกข้อหนึ่งคือ กฏระเบียบต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า ครูนฤมล ออกกฏต่างๆ มากมาย มาเพื่อปกป้องและป้องกันเด็กนักเรียนหญิงจากเด็กนักเรียนชาย แต่ทว่ามองจริงๆ แล้วคุณครูก็แค่ออกกฏมาเพื่อลบล้างและป้องกันเรื่องราวและบาดแผลในใจ โดยลืมคำนึงถึงสิทธิของคนอื่นไป และจะยิ่งเห็นได้ชัดมากๆ ใน EP ที่ 6 ตอน “ห้องสำนึกตน” สุดท้ายแล้ว กฏระเบียบที่เราเข้าใจ อาจจะมีไว้เพื่อเกื้อหนุนผลประโยชน์อะไรบางอย่างของอีกคนหนึ่งก็เป็นได้
ประเด็นที่ 3: ความเท่าเทียมและอำนาจนิยม ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่วนตัวเราชอบมากๆ เพราะเราเห็นได้ชัดในสังคม ณ ปัจจุบัน บ่อยครั้งที่บุคคลมีอำนาจหรืออยู่ในคุณวุฒิที่สูงกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นคุณครู รุ่นพี่ เพื่อน หรือ ใดๆ ก็ตาม มักออกคำสั่ง กฏระเบียบต่างๆ ที่บางครั้งตัวเราก็ไม่ได้เห็นชอบหรือเห็นด้วยที่จะทำ แต่ต้องทำเพราะอำนาจบางอย่าง ถ้าขัดขืนเท่ากับความผิด ซึ่งสำหรับเราแล้วมันไม่ใช่เลย ในบางครั้งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ การคุกคามทางเพศแบบอ้อม การไม่ให้เกียรติ และรามไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมา
ประเด็นที่ 4: การกลั่นแกล้ง หรือ ที่ใครๆ รู้จักกันในคำ ณ ปัจจุบันว่า “Bully” จริงๆ เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีกันมานานแสนนานเหลือเกิน ไม่ต่างอะไรจากประเด็นด้านบนๆ แต่ทว่า ณ ปัจจุบัน การกลั่นแกล้งมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จากการกลั่นแกล้งแต่ก่อนที่อาจจะดูเด็กๆ แต่ทว่า ณ ปัจจุบันมันเริ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่คำพูด แต่มันรามไปถึงการกระทำ
และที่น่าหดหู่ใจไปมากกว่านั้น คือ ปล่อยปละละเลย หรือ การ Normalize มันว่าเป็นเรื่องปกติ ของคนในสังคม สำหรับเราแล้ว การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรแก้ปัญหา เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความรู้สึกของเด็ก กับการใช้ชีวิตในอนาคตของเขา ในทุกๆ การกลั่นแกล้งไม่ว่าจะโดยใคร มักสร้างรอยแผล ไว้ในใจของเด็กเหล่านี้เสมอ
สุดท้ายรีวิว แนนโน๊ะ ซีซั่น 2 สำหรับเรานั้น เป็นอีกซีซั่นหนึ่งที่ทำออกมาได้ดีไม่แพ้ซีซั่นแรก สะท้อนให้เราเข้าใจกับคำว่า “ความผิด” ได้เป็นอย่างดี สำหรับเราแล้วในซีซั่นนี้มีความเป็นมนุษย์ และ รับรู้ได้ถึงความหลากหลายของความผิด
แท้จริงแล้ว “ความผิด” อาจจะไม่ได้อยู่ที่การกระทำใดๆ เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่า “ใครเป็นคนคิดมากกว่า” หากสาวๆ คนไหนที่สนใจอยากดูอยากรู้จักแนนโน๊ะ หรือ เด็กใหม่ ก็สามารถติดตามได้ที่ NETFLIX เลยค่า และเจอกันใหม่บทความหน้า วันนี้บ๊ายบายค่า
Photo Credit:
Stay connected