ในเรื่องของความสัมพันธ์ มันก็มีหลายแบบเนอะ ทั้งคนรัก แต่งงาน แฟน คนคุย แต่ถ้าคุยกันนาน ๆ แล้วพอใกล้จะคบกลับตัดสัมพันธ์ดื้อ ๆ หรือคุยไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีสถานะชัดเจนสักที ต้องพิจารณาแล้วนะ ว่าเราหรือเขา ใครคนใดคนหนึ่งเป็น โรคกลัวการผูกมัด Commitment Phobia หรือเปล่า เจ้าโรคนี้มีอาการเป็นยังไง แล้วถ้าอยากหาย อยากมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง จะมีทางรักษามั้ย เรามาหาคำตอบพร้อม ๆ กันดูค่ะซิส
โรคกลัวการผูกมัด Commitment Phobia อาการเป็นยังไง เราเข้าข่ายไหม
ก่อนจะตกลงปลงใจ เลื่อนสถานะความสัมพันธ์ จากเพื่อนเป็นคนคุย จากคนคุยเป็นแฟน แน่นอนแหละค่ะ ว่ามันต้องใช้เวลา แต่ถ้าเป็นคนคุยกันมานานมาก ๆ พฤติกรรมใด ๆ คล้ายแฟน แต่ยังไม่ชัดเจนสักที ไม่ได้เปิดตัวหรือคบกันจริงจังสักที แบบนี้มันเริ่มเป็นปัญหาแล้วนะ ลองมาเช็กกันหน่อยค่ะ ว่าเราหรือคู่ของเราเนี่ย มีใครเป็นโรค Commitment Phobia หรือเปล่า
Commitment Phobia คืออะไร
Commitment Phobia คือ โรคกลัวการผูกมัด กลัวการใกล้ชิด เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิง และผู้ชาย เป็นการกลัวการตกลงใจที่จะทำอะไรสักอย่างร่วมกับอีกคน โดยที่ต้องมีคำสัญญาการผูกมัดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การคบกันเป็นแฟน กลัวการแต่งงาน ยิ่งถ้าอีกฝ่ายเร่งรัด ถามนั่นถามนี่ พยายามผูดมัด หรือต้องการคำตอบ ก็จะทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่สบายใจ กังวล หวาดระแวง จนไม่สามารถต่อยอดในความสัมพันธ์ได้ แล้วก็ต้องจบกันไปในที่สุด
สาเหตุของ Commitment Phobia
จริง ๆ แล้ว โรคกลัวการผูกมัด เกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ ส่วนใหญ่มักจะมาจากความรู้สึกส่วนลึกในใจ หรือปมอะไรบางอย่าง ที่ทำให้บางทีก็อยากมีความรัก แต่บางทีก็ไม่อยากมีใครไปเสียดื้อ ๆ โดยสาเหตุต่าง ๆ มีดังนี้ค่ะซิส
- ครอบครัวแยกทางกัน มีปมในใจตั้งแต่อดีต
- บางคนมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ เลยไม่อยากผูกมัดกับใคร
- เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีตเกี่ยวกับความสัมพันธ์
- กลัวว่าถ้าความสัมพันธ์พัฒนาไปหรือลึกซึ้งมากกว่านี้ จะไม่ดีเท่าที่เป็นอยู่
- เคยตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องความสัมพันธ์ จนเกิดผลเสียกับตัวเอง
สัญญาณเตือน แบบนี้แหละ โรค Commitment Phobia
เชื่อว่ามาถึงตอนนี้แล้ว ซิสหลายคนอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ ! คล้ายเราเลยอะ หรือไม่ก็ ใช่เลย ! นี่มันคนคุยเราชัด ๆ ! แต่อย่าเพิ่งฟันธง ลองมาดูสัญญาณเตือนเหล่านี้ก่อน ว่าใช่จริง ๆ หรือเปล่าg
- อยากมีความสัมพันธ์แบบคุยกับอีกฝ่ายไปเรื่อย ๆ แต่ไม่อยากมีสถานะเป็นแฟน
- เป็นคนที่คาดเดาอะไรไม่ได้ มักเปลี่ยนแปลงความคิดอยู่ตลอดเวลา
- ความสัมพันธ์ไม่คืบหน้า แม้ว่าจะคุยกันหรือเดตกันมาสักพักแล้ว
- ไม่ค่อยพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตว่าจะเอายังไง เลื่อนสถานะมั้ย หรือแสดงอาการวิตกกังวลเวลาคุยเรื่องนี้
- หากมีการพูดถึงอนาคต ก็อาจจะไม่มีเราอยู่ด้วยในแผนนั้น
- เมื่อความสัมพันธ์เริ่มจริงจังมากขึ้น จะรู้สึกลำบากใจ อยากหนีไปไกล ๆ
- ชอบอยู่กับตัวเอง ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่มีคนรู้จักเยอะ เพราะคิดว่าไม่มีใครน่าไว้ใจเท่ากับตัวเอง
- เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำตามความต้องการของตัวเองมากกว่า
- ไม่กล้าแสดงความรู้สึกต่อผู้อื่น เช่น ไม่เคยเอ่ยคำว่ารัก หรือเรียกใครว่าแฟน
แต่สัญญาณทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่จุดสังเกตระยะเริ่มต้นเท่านั้นค่ะ เพราะมันจะมีพฤติกรรมที่ชัดขึ้นไปอีก ว่าคนคนนี้เป็นโรคกลัวการผูกมัด
พฤติกรรมของคนเป็นโรค Commitment Phobia
เรามาดูกันค่ะซิส ว่าพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคกลัวการผูกมัด หรือโรค Commitment Phobia เนี่ย เขาจะมีท่าทีเป็นอย่างไรบ้างเวลาอยู่ในความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย ซึ่งพฤติกรรมของคนเป็นโรคนี้มีดังนี้ค่ะ
- มีคำแสดงความไม่มั่นใจในบทสนทนา – เช่น ชอบมีคำว่า ก็ดีมั้ง มั้ง ก็คงอย่างงั้น ฯลฯ ไม่ค่อยแสดงความชัดเจน หรือไม่ก็ตอบแบบไม่ค่อยมั่นใจ เวลาถามอะไรก็มักจะให้คำตอบกว้าง ๆ และแทบไม่เคยคุยกันจริง ๆ จัง ๆ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันว่าตกลงเป็นอะไรกันอยู่แน่
- คุยทุกวัน แต่ไม่เรียกว่าแฟน – บางคนอาจจะนิยามว่า กิ๊ก หรือคนคุย อะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นการคุยกันไปเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องมีคำนิยามให้ความสัมพันธ์นี้ ฟีลแบบ “ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน” คือถ้าทั้งสองฝ่ายสบายใจมันก็โอเคแหละ แต่ถ้าใครสักคนเริ่มรู้สึกอึดอัด อยากชัดเจน แต่อีกฝ่ายให้ความชัดเจนไม่ได้สักที แบบนี้ฝ่ายนั้นแหละที่เป็นโรคกลัวการผูกมัดแล้วแน่ ๆ
- พฤติกรรมใช่ แต่ใจไม่ผูกมัด – คนที่เป็น Commitment Phobia เข้าก็ต้องการความรู้สึกหวาน ๆ บ้างเหมือนกันแหละ หลายคนเลยมีพฤติกรรมเทคแคร์ หรือใกล้ชิดดูแล เหมือนเป็นแฟนกันแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าเป็นแฟนสักที
- ไม่ให้เวลาเรา – คนรักกัน อยากพัฒนาความสัมพันธ์น่ะ ต่อให้มีเวลานิดเดียว หรือนัดกะทันหัน เขาก็ต้องปลีกตัวมาได้ แต่ถ้ากับคนนี้เราต้องนัดนาน ๆ หรือถ้านัดแล้วมีคำตอบไม่ชัดเจน ประมาณว่า เดี๋ยวดูก่อน อาจจะไป ก็เผื่อใจไว้เถอะว่าเขาไม่จริงจังกับเราแน่นอน
- คาดเดาไม่ได้ว่าคิดอะไรอยู่ – มีพฤติกรรมตามลมฟ้าลมฝน บางวันก็แสนดี บางทีก็เย็นชา จนคาดเดาไม่ได้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่กันแน่ ก็เรียกได้ว่าคนคนนี้เขาไม่สม่ำเสมอกับเรา แปลว่าไม่ได้อยากจะจริงจังกับเรานั่นเอง
- ความสัมพันธ์ที่ผ่านมามักจะเป็นความสัมพันธ์ระยะสั้น ๆ – ถ้าทราบมาว่าอดีตเขาเคยคบกับคนอื่น แต่คบแบบสั้น ๆ ไม่เคยมีความรักแบบยาว ๆ มันอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขากลัวการผูกมัดก็ได้
ไม่อยากเป็น Commitment Phobia ทำไงดี
ก่อนอื่นเลยค่ะ ซิสคนไหนที่กลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้ ลองปรับตัวและเปิดใจใหม่ค่ะ ปล่อยให้อดีตเป้นเพียงอดีต ถ้าเรารู้สึกดีกับคนนี้มากจริง ๆ ลองมาเปิดใจคุยกัน และหาทางออกร่วมกัน ซึ่งทางออกก็มีวิธีการดังนี้ค่ะ
- พูดถึงความกังวลนี้กับคนที่เราคุยอยู่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน
- ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กันและกัน เช่น ให้เวลากันและกันมากขึ้น มีเรื่องไม่สบายใจก็พูดคุยกันบ่อย ๆ เล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังมากขึ้น
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันมากขึ้น อาจจะแลกเปลี่ยนสิ่งที่แต่ละคนชอบ เพื่อหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้
- ศึกษานิสัยใจคอกันให้มากขึ้น พูดคุยบ่อย ๆ ให้รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
- เคารพในขอบเขตของแต่ละคน ตกลงกันให้ชัดเจนว่าโอเคที่ตรงไหน และไม่ล้ำเส้นกัน
- ไม่เร่งรัดที่จะพัฒนาสถานะ ให้ความสัมพันธ์ค่อยเป็นค่อยไป
- ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับทัศนคติเรื่องความรักใหม่
- ยอมรับและปล่อยวางหากรู้สึกว่าไม่โอเค ถ้าตกลงกันได้ก็แยกย้ายด้วยดี
- ถ้าไม่ไหวจริง ๆ แต่ยังอยากมีกันและกันอยู่ ลองไปปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทราบแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง
แม้อาการนี้จะเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ได้ แต่หากเจอคนที่ใช่ในเวลาที่ถูกต้องจริง ๆ ซิสเชื่อนะคะ ว่าคนคนหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่กับคนที่เขารักได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ
Credit Information from www.innnews.co.th, hellokhunmor.com, www.mangozero.com
Credit Photos from Instagram : the_x.x.x.y, bemy_rin, mlnhe, couple_style
Stay connected