มันเป็นเรื่องปกติใช่ไหมคะซิส ที่เวลาเราจะเลือกอะไรสักอย่าง เรามักจะตัดสินจากความชอบเป็นหลัก จนไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ ‘ฉันชอบ ก็คือจบ’ แต่มันอาจจะไม่จบก็ได้นะคะซิส เพราะบางทีสิ่งที่เราเลือกมาอาจจะไม่ดีอย่างที่เราคิด เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เลยนะ เขาเรียกมันว่า ปรากฏการณ์ Halo Effect มันคืออะไร แล้วเรากำลังตกอยู่ในวังวนของมันอยู่หรือเปล่า วันนี้ซิสจะมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ

 

ปรากฏการณ์ Halo Effect เมื่อความชอบบังตา ทำให้มักเลือกอะไรผิดพลาด

 

เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เลือกที่รัก มักที่ชัง” กันบ่อย ๆ ใช่ไหมคะ จริง ๆ มันก็เป็นปกติของมนุษย์ทุกคน ที่มักจะเลือกสิ่งที่ชอบก่อนเสมอ แต่บ่อยครั้ง การที่เราเลือกสิ่งที่ชอบ เพราะคิดว่ามันดี กลับกลายเป็นความผิดพลาด ทำให้เรารู้สึกว่า “รู้งี้ไม่น่าเลือกเลย น่าจะคิดให้ดีก่อน” และมันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอย่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ไม่เพียงแต่สิ่งของเท่านั้น แต่กับคนก็ด้วย และไม่ใช่แค่เรื่องความรักค่ะ มันส่งผลไปถึงงานและชีวิตประจำวันเลยนะ ดังนั้นวันนี้เราต้องรู้เท่าทันตัวเองก่อน ด้วยการไปทำความรู้จักกับปรากฎการณ์ Halo Effect กันค่ะ

ปรากฏการณ์ Halo Effect

Halo Effect คืออะไร

Edward Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้บัญญัติคำนี้เมื่อปี ค.ศ. 1920 คำว่า Halo ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ รัศมีวงกลมที่อยู่บนหัวของเทวดา – นางฟ้า Halo Effect จึงเปรียบเสมือว่า เวลาเรามองอะไรสักอย่าง ที่เรารู้สึกชอบ เห็นมันดีงาม ก็เหมือนเราเติมรัศมีเทวดา – นางฟ้า ให้กับสิ่งนั้น เลยมองว่ามันดีเกินจริงนั่นเอง

หรือตามทฤษฎีเลยก็คือ มันคือหลุมพรางทางความคิด ที่ทำให้เรารู้สึกว่า อะไรที่อยู่ในอุดมคติ เช่น ความหล่อ ความสวย ความน่ารัก ความน่าเชื่อถือ ย่อมจะต้องดีเสมอ เรียกง่าย ๆ ก็คือ “ลำเอียง” นั่นแหละ ซึ่งไม่ต้องตกใจไป เพราะปรากฏการณ์นี้มันเกิดได้กับมนุษย์ทุกคน โดยที่หลายคนก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า What is beautiful is good stereotype. “อะไรที่ดูดี เราก็มักจะคิดว่าเป็นของดีไปด้วย” นั่นเองค่ะ

ปรากฏการณ์ Halo Effect

แล้วเจ้า Halo Effect นี่มันเกิดขึ้นได้ยังไง

อยากให้น้องซิสลองนึกภาพตามแบบนี้นะ ในวันวันหนึ่ง สมองของเรามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่าง วันนี้จะกินอะไรดี ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการแก้ปัญหาในที่ทำงาน ดังนั้น สมองของเรานางก็เลยมีทางลัด เพื่อช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยอิงจากประสบการณ์ หรือความรู้สึกชอบ – ไม่ชอบของเราเอง แต่การตัดสินใจตามประสบการณ์และความรู้สึกนี้ก็อาจมีอคติ ลำเอียง และด่วนสรุป โดยไม่อยู่บนตรรกะและเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งเรารู้จักกันดีในนาม Stereotype ที่ทำให้เราลำเอียง และประเมินสิ่งต่าง ๆ ดีกว่าความเป็นจริง

รวมถึงลืมพิจารณาข้อเสียไป ในทางกลับกันก็มีอคติกับอะไรก็ตามที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกับความชื่นชอบของเราอีกด้วย นั่นแหละค่ะ เกิดHalo Effect ในตัวเราเข้าให้แล้ว และส่วนใหญ่ถ้าเป็นการตัดสินคน ก็คือ เรามักจะตัดสินจากรูปลักษณ์ก่อนเป็นอันดับแรก มันถึงมีคำว่า Beauty Standard เกิดขึ้นมาไงล่ะ

ปรากฏการณ์ Halo Effect

ตัวอย่างของ Halo Effect 

เดี๋ยวจะนึกภาพกันไม่ค่อยออกเนอะ คุณ Edward Thorndike เขาเลยได้ทำการทดลองไว้ด้วยค่ะซิส โดยเขาให้นายทหาร 2 คนประเมินผู้ใต้บังคับบัญชา โดยกำหนดหัวข้อต่าง ๆ เช่น รูปร่างหน้าตา ความเฉลียวฉลาด ทักษะความเป็นผู้นำ รวมไปถึงนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รับผิดชอบ ไว้วางใจได้ จงรักภักดี ฯลฯ ปรากฏว่า พวกคุณสมบัติดี ๆ มักจะไปรวมอยู่กับรูปร่างหน้าตาหมดเลย เช่น รูปร่างหน้าตากับความเฉลียวฉลาด รูปร่างหน้าตากับความเป็นผู้นำ

หรือรูปร่างหน้าตากับนิสัย สรุปก็คือ พอรูปร่างหน้าตาดี พวกคุณลักษณะดี ๆ มันก็พ่วงมาด้วยเฉยเลย สรุปง่าย ๆ ก็คือ ความหน้าตาดีมักทำให้คนทึกทักเอาเองว่าเป็นคนดีและฉลาดด้วย นี่แหละ Halo Effect ล่ะ

แต่ก็ไม่ได้หมายถึงเรื่องหน้าตาเท่านั้นนะ อย่างเวลาเราเลือกหัวหน้า เลือกผู้ร่วมงาน เราก็มักจะเลือกคนที่ดูภูมิฐาน ดูฉลาด โพรไฟล์ดี ยิ่งฐานะดียิ่งน่าสนใจใช่มั้ยล่ะ บางทีเราอาจจะลืมนึกถึงผลงานที่เขาเคยทำ หรือข้อเสียของเขาไปเลยก็ได้ เพราะสิ่งที่เขานำเสนอทำให้เราตกอยู่ในห้วงของ Halo Effect นี่แหละค่ะ 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการซื้ออาหาร ขนม เครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งซิสเชื่อว่าน้องซิสน่าจะเคยโดนหลอกด้วยรูปกันมาแล้ว นั่นคือ เราสั่งเพราะมันดูน่ากิน ทั้งที่มันอาจจะไม่อร่อยเลยก็ได้ หรือบางอย่างอาจจะไม่มีประโยชน์ หรือถูกสุขลักษณะด้วยซ้ำ นั่นแหละ Halo Effect ล้วน ๆ

ปรากฏการณ์ Halo Effect

แล้วจะทำยังไง ไม่ให้เราตกหลุมพรางของ Halo Effect ล่ะ ?

ที่เล่ามาทั้งหมด ซิสไม่ได้ต้องการจะบอกว่า รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่สิ่งที่ดีนะคะ เพราะมันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่คนเราจะตัดสินอะไร ๆ จากภายนอกก่อนเสมอ เพียงแต่สิ่งที่ควรทำคือ ต้องมีสติ กับทุกอย่างให้มาก ๆ ไม่ใช่มองแว้บแรก หรือใช้ความคิดแรกในการพิจารณาเลือกอะไรต่าง ๆ ชอบที่รูปลักษณ์ได้ แต่คิดเพิ่มอีกนิดว่ามีข้อเสียไหม เท่านี้เราก็จะไม่ถูก Halo Effect หลอกเราแล้วละค่ะ

 

รู้จัก Halo Effect กันอย่างถ่องแท้แล้วเนอะ ต่อไปน้องซิสน่าจะไม่ตกหลุมพรางทางความคิดของตัวเองง่าย ๆ แล้วเราจะได้ไม่ตัดสินอะไร ๆ ด้วยความลำเอียง แล้วเราจะได้สิ่งที่มีคุณภาพมาเป็นของเราอีกเยอะเลยค่ะ

 

 

Credit Information from adecco.co.th, กรมสุขภาพจิต, thaipublica.org

Credit Pictures from Pinterest : gabriellebudiarti, www.uoowu.com, chediaa.blogspot.com, Evhv Ulzzang, www.wallpaperflare.com

Comments

comments