สวัสดีค่ะสาวๆ ชาวซิส ที่น่ารักทุกคน เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาทีผ่านมา นอกจากซีรีส์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมแล้ว ยังมีอีกหนึ่งซีรีส์ของไทยที่ได้รับความนิยมทาง Social Media ไม่ใช่น้อยอีกเรื่องหนึ่ง อย่างเรื่อง เสียดาย 2020 และด้วยเหตุนี้ทำให้เราเกิดไอเดีย อยากจะรีวิวและแนะนำซีรีส์ที่สะท้อนเรื่องราวชีวิต และประสบการณ์ในช่วง Coming of Age ของวัยรุ่นให้ได้รับรู้กันผ่าน ซีรีส์วัยรุ่นไทย กับ “4 ซีรีส์วัยรุ่นไทย ตีแผ่สังคมและความเป็นจริง” บอกเลยว่าวัยรุ่นดูได้ ผู้ใหญ่ดูด้วยจะดีมาก งั้นอย่างรอช้า ไปเริ่มที่เรื่องแรกกันเลย
“4 ซีรีส์วัยรุ่นไทย ตีแผ่สังคมและความเป็นจริง”
เรื่องที่ 1: ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น (Hormones)
สามารถรับชมได้ที่: NETFLIX (คลิกเพื่อรับชม)
จำนวนซีซั่น: 3 ซีซั่น
ความยาวในแต่ละตอน: เฉลี่ย 50 นาที
หากย้อนเวลากลับไปซัก 5 – 6 ปี เราจะเห็นมหากาพย์ฮอร์โมน ที่ไม่ว่าถึงวันไหนที่เริ่มฉายเด็กวัยรุ่นทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก ต้องเฝ้ารอที่หน้าจอโทรศัพท์ ไม่ใช่แค่เฉพาะวัยรุ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว แลัวซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องแรกที่เราอยากแนะนำให้สาวๆ ชาวซสิได้ลองดูกันนั่นก็คือ “ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น”
ซีรีส์ที่สะท้อนสังคม พฤติกรรม ความคิด และเสียดสีความเป็นจริงในรั้วและชีวิตโรงเรียนของเหล่าวัยรุ่น โดยเป็นซีรีส์ที่เรียกว่าสร้างชื่อให้กับ นาวดาว บางกอก เลยก็ว่าได้ โดยตัวซีรีส์เองพูดถึง เด็กนักเรียนในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น ขวัญ เด็กสาวสุดเพอร์เฟ็คที่เรียกได้ว่าเป็น Row Model ของเด็กนักเรียนตัวอย่างเลยก็ว่าได้, วิน นักเรียนชายสุดเฮี้ยวขวัญใจสาวๆ ในโรงเรียน, หมอก หนุ่มมาดนิ่งเพื่อนแก๊งค์เดียวกับวิน และ ต้าร์ เพื่อนสนิทวินอีกคนที่มีความใฝ่ฝันและความชอบทางดนตรี
ไม่เพียงแค่นั้นยังมี สไปร์ท สาวสวยสุดแซ่บ สุดอื้อฉาวในโรงเรียน และไผ่ นักเรียนหัวไม้ที่แหกทุกกฏระเบียบในโรงเรียน ซึ่งแต่ละตัวละครและแต่ละคนนั้น เป็นเหมือนกันสะท้อนสังคมและชีวิตของเหล่าวัยรุ่นในโรงเรียนได้ดี
โดยส่วนตัวสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า ทำไมซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้ถึงเป็นที่ตอบรับและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนดำเนินอย่างต่อเนื่องมา 3 ซีซั่นนั้น อาจะเป็นเพราะว่า ตัวเรื่องสะท้อนภาพลักษณ์ ความคิด และสภาพแวดล้อมที่เรียกได้ว่าเกือบจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันเราได้ในทุกๆ วันก็ว่าได้ ไม่เพียงแค่นั้นซีรีส์เรื่องนี้ยังสะท้อนแง่คิดและการกระทำ ที่มาจาก Insight ของวัยรุ่นจริงๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี
นั่นเลยไม่แปลกใจว่าทำไมซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้ถึงได้ฮอตฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ณ ขณะนั้น โดยส่วนตัวเราได้มีโอกาสย้อนกลับไปดีซีรีส์เรื่องนี้อีกครั้งสำหรับเรา ซีรีส์เรื่องนี้ยังคงสะท้อนให้เห็น Insight ที่เรียกได้ว่าไม่ว่าผ่านไปกี่ยุค กี่สมัย โรงเรียนไทยและระบบการศึกษาไทยก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่เสมอ
ไม่เพียงแค่นั้นสำหรับเราแล้วสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนออกมาในแบบอ้อมๆ ให้เราได้พบขบคิดนั้นคือ เรื่องกระบอกเสียงและประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราถูกปลูกฝังมาให้เห็นกันตั้งแต่สังคมเล็กๆ อย่างโรงเรียน จนสะท้อนไปยังสังคมใหญ่ระหว่างประเทศ และนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสนใจและคิดว่าซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยก็ว่าได้
เรื่องที่ 2: The Girl From Nowhere
สามารถรับชมได้ที่: NETFLIX (คลิกเพื่อรับชม)
จำนวนซีซั่น: 2 ซีซั่น (ซีซั่น 2 จะเข้าฉายบน NETFLIX ในปี 2021)
ความยาวเฉลี่ยในแต่ละตอน: เฉลี่ย 45 นาที
ซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องถัดไปที่อยากจะแนะนำนั้น เป็นอีกเรื่องที่เรียกได้ว่ายกระดับซีรีส์วัยรุ่นไทยและยกระดับความกล้าที่จะนำเสนอของซีรีส์ไทยเราเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ “The Girl From Nowhere” หรือที่ใครหลายๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดีในเรื่อง “แนนโน๊ะ” แต่จริงๆ แล้วชื่อภาษาไทยของเรื่องนี้คือ “เด็กใหม่”
The Girl From No Where ซีรีส์วัยรุ่นไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากข่าวและคดีจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักเรียนและวัยรุ่น ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนสาวหน้าใหม่ที่มีนามว่า “แนนโน๊ะ” เธอเป็นเด็กหญิงปริศนาที่เมื่อย้ายไปที่ไหนก็ตาม โรงเรียนนั้นจะต้องมีเรื่องทุกที
ส่วนตัวเรา เราคิดว่าซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้นำเสนอคาแรคเตอร์ที่เปิดตัวของแนนโน๊ะและซีรีส์เรื่องนี้ ทำออกมาได้ดี ไม่ว่าจะเป็น วิธีการเดิน การพูด การหัวเราะของแนนโน๊ะที่เป็นเอกลักษณ์ (สวัสดีค่ะ แนนโน๊ะนะ ฝากตัวด้วยนะคะ) และสร้างภาพจำให้คนดูได้อย่างชัดเจน ในตัวเนื้อหาของพล็อตเราชอบตรงที่เสียดสีสังคมและสื่อความหมายของตอนออกมาได้ดีเยี่ยม
บางคนอาจจะคิดว่าโรงเรียนคือสถานที่ปลอดภัยที่สุดรองลงมาจากบ้านที่แสนอบอุ่น คุณครูผู้เปรียบเสมือน พ่อและแม่คนที่สอง ที่พร้อมจะปกป้องเรา แต่เปล่าเลย ความเชื่อใจไว้ใจที่มีกลับพังทลายเพราะกิเลส ราคะที่ไม่เคยหยุด อีกทั้งเพื่อนที่ว่ารักกันดี สามารถกลับกลายเป็นศัตรูได้เพียงข้ามคืน อีกทั้งยังหักหลังและต่างทิ่มแทงกันด้วยคำพูดและการกระทำต่างๆ เพราะแบบนี้เราถึงได้ยินข่าวที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนอยู่บ่อย ๆ
เรื่องที่ 3: แปลรักฉันด้วยใจเธอ
สามารถรับชมได้ที่: LINE TV (คลิกเพื่อรับชม)
จำนวนซีซั่น: 1 ซีซั่น
ความยาวเฉลี่ยในแต่ละตอน: เฉลี่ย 40 นาที
และเราก็เข้าใจโค้งเกือบจะสุดท้ายของซีรีส์วัยรุ่นไทยกันแล้ว และซีรีส์วัยรุ่นไทยอีกเรื่องที่เราอยากจะแนะนำอีกเรื่องเลยคือเรื่อง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ซีรีส์ที่สะท้อน Insight ของเด็กวัยรุ่นกับการแสดงออกทางเพศได้เป็นอย่างดี และบอกเลยว่าเป็นอีกเรื่องที่เรียกได้ว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ดังเป็นพลุแตก ดังจนข้ามทวีปไปประเทศจีนเลยก็ว่าได้
เป็นเรื่องราวของ เต๋ เด็กชายในครอบครัวคนจีน ผู้มีความฝันและความทะเยอทะยานที่จะสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยดังในกรุงเทพให้ได้ เพื่อเดินตามความฝันและเป็นที่น่าภูมิใจให้กับแม่และพี่ชายของเขา ซึ่งเต๋นั้น มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อว่า โอ้เอ๋ว เด็กชายเรียบร้อยบ้านรวยว่าที่เจ้าของรีสอร์ทใหญ่ในภูเก็ต แต่ทว่าเขานั้นไม่รู้ความฝันตนเอง จนได้มาสนิทและรู้จักกัน
ในวันหนึ่งโอ้เอ๋วได้ถูกทาบทามให้เล่นละครเวทีของโรงเรียน ในบทตัวละครที่เต๋ชอบมากที่สุด และนั้นทำให้เกิดจุดแตกหักระหว่างเขาทั้งสอง เมื่อวันเวลาผ่านไปทั้งคู่ต่างแยกย้ายกันไปเรียนมัธยมปลายคนละที่แต่บังเอิญต้องได้มาเจอกันอีกครั้งในที่เรียนพิเศษ และหลังจากนั้นความสัมพันธ์และเรื่องหัวใจของเขาทั้งสองก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย
สิ่งที่เราชอบในตัวซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้เลยคือ การ Call Out และถ่ายทอด Insight ของความสับสนในใจของวัยรุ่นในช่วง Coming of Age ได้เป็นอย่างดี หลักๆ แล้วเรื่องนี้ต้องการนำเสนอการแสดงออกอย่างอิสระในเรื่องของเพศ ซึ่งประเทศไทยและสังคมวัฒนธรรมคนเอเซียนั้น
มีการถูกจำกัดกรอบทางการแสดงออกในเรื่องนี้อยู่มาก
ถึงแม้ว่าสังคม ณ ปัจจุบันจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ด้วยการปลูกฝังค่านิยมต่างๆ ของวัฒนธรรมคนเอเซียหรือแม้กระทั่งประเทศไทยเองยังไม่ได้มีการยอมรับเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแสดงออกและค่านิยมต่างๆ ส่วนตัวเราคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนปัญหาของวัยรุ่นในแง่มุมเพศอย่างเดียว
อีกเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจเป็นที่สุดเลยคือ สถาบันครอบครัว ในวัยที่เรายังเป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่เรามักเชื่อเพื่อนเสียส่วนมาก แต่ทว่าในเรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นว่า เมื่อเรามีปัญหานั้นครอบครัวเป็นอีกหนึ่งแกนหลักสำคัญที่ทำให้เราพ้นข้ามวิกฤตหรือความขับข้องใจเหล่านี้ไปได้
เรื่องที่ 4: เสียดาย 2020
สามารถรับชมได้ที่: iQiYi (คลิกเพื่อรับชม)
จำนวนซีซั่น: 1 ซีซั่น
ความยาวเฉลี่ยในแต่ละตอน: เฉลี่ย 45 นาที
และซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่อสุดท้ายที่เราอยากจะแนะนำให้สาวๆ ได้รู้จักกันนั้น เป็นซีรีส์ที่ถูก remake มาจากภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นปัญหาของวัยรุ่นจากบทประพันธ์ของ หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล ที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง มาแล้วเมื่อปี 2537 ในครั้งนี้ถูกนำมา Remake ใหม่อีกครั้งในบทซีรีส์วัยรุ่นไทย ที่ฉายบน Application iQiYi ซึ่งเป็น Application Streaming Online จากประเทศจีน
แต่บอกเลยว่า Rating ของเรื่องนี้เพียงไม่กี่ตอนที่ฉายขึ้นสูงเป็นอันดับ 1 และยอดคน Search ดูขึ้นติด Top 3 ในทันที โดยเรื่องราวพูดถึงวัยรุ่นทั้ง 4 คน ปู แป๋ม เดือน และ เงาะ ซึ่งแต่ละคนมีเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป แต่ทว่าทุกคนมีปัญหาและภูมิหลังในเรื่องครอบครัวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่แยกทาง, การทำร้ายร่างกายและความรุนแรง การขาดความรักและความใส่ใจ และ อื่นๆ อีกมากมาย ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่เปรียบเสมือนผ้าขาวได้เปลี่ยนไปตลอดกาล
ส่วนตัวเรามองว่าซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะพื้นฐานของคนทุกคนส่วนมากเริ่มจาก สถาบันเล็กๆ อย่างครอบครัว โดยสิ่งเหล่านี้เราสามารถพบเจอได้ในสังคมทั่วไป ถึงแม้ว่าบทประพันธ์เรื่องนี้จะผ่านมานานและปัญหาเหล่านี้มันไม่เคยจางหายไปไหน ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
สิ่งสำคัญจากซีรีส์วัยรุ่นไทยเรื่องนี้ที่ทำให้เราเล็งเห็นเลยคือ ความรัก การดูแลเอาใจใส่ และความเข้าใจของคนในครอบครัว หากเราเริ่มจากสิ่งเหล่านี้ได้ดี การเดินทางไปยังเส้นทางข้างหน้าที่จะดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่สติและความเข้าใจต่อโลกมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ในแต่ละคน
Photo Credit:
Stay connected