เหตุการณ์ # โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เป็นเหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5-6 กรกฏาคม ที่ผ่านมา ฃ มีการระเบิด ที่มีแรงสั่นสะเทือนบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียง ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และ ไฟไหม้โรงงานที่กินเวลายาวนาน 25 ชั่วโมงจึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้

 

มาดู สรุปเหตุการณ์ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นกัน


  • เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นที่ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ณ ซอยกิ่งแก้ว อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟม มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตโฟมเม็ด คือ สารเพนเทน 60-70 ตัน สารสไตรีนโมโนเมอร์ 1,600 ตัน และ น้ำ ประมาณ 300 ตัน แต่จากคำยืนยันของ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุสาหกรรม ยืนยันว่า มีสารเคมีในบ่อที่ 2 เพียง 20,00 ลิตรเท่านั้น

 

  • เพลิงไหม้จากสารเคมี ไม่สามารถดับด้วยน้ำได้ เนื่องจาก น้ำมีความหนาแน่นไม่เท่ากับสารเคมี ทำให้เชื้อเพลิง (สารเคมี) ลอยตัวอยู่เหนือน้ำ ไฟจึงสามารถไหม้ได้อยู่ดี กรณีแบบนี้ ต้องดับด้วย โฟมเท่านั้น เพื่อเป็นการตัดโอกาส ไม่ให้เชื้อเพลิงเจอกับ Oxygen (ออกซิเจน) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเกิดไฟไหม้

 

  • การระเบิดเกิดขึ้น ในเวลา ตี 3 ของวันที่ 5 กรกฏาคม 2564 ซึ่งแรงระเบิดส่งผลให้ บ้านเรือน และ สถานที่ต่าง ๆ ในรัศมี 1 – 2 กิโลเมตร ได้รับแรงสั่นสะเทือน จนเกิดความเสียหาย เป็นจำนวน 70 กว่าหลังคา รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากวัสดุที่หล่นลงมาทับ อีกหลายสิบราย สัตว์เลี้ยงตื่นตระหนกตกใจ บางตัวถึงกับช็อกและเสียชีวิต

 

  • มีประกาศอพยพประชาชนโดยรอบ ในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจากการสูดดมสารเคมี และ ป้องกันอันตรายจากความเป็นไปได้ ของการระเบิดของสารเคมีในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีการขยายขอบเขตให้เฝ้าระวังถึง 10 กิโลเมตร

 

  • นอกจากจุดอพยพ 3 จุด (โรงเรียนเตรียมปริญญาสุสรณ์ , อบต. บางพลีใหญ่ , และวัดสลุด อ.บางพลีใหญ่) ยังมีโรงแรม อพาร์ทเม้นท์ต่าง ๆ ออกมาประกาศรับผู้อพยพ อีกหลายแห่ง และมีการบริจาค สิ่งของสำคัญทั้งแก่ประชาชนทั่วไป และ อุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่

 

  • ความพยายามในการควบคุมเพลิง กินเวลายาวนาน เนื่องจากโรงงานมี สารสไตรีนโมโนเมอร์ จำนวนมาก ซึ่งเป็นสารไวไฟ อีกทั้ง เมื่อสูดดม ยังทำให้ เกิดความระคายเคือง ต่อทางเดินหายใจ เกิดความวินเวียน ปวดศีรษะ ง่วงซึม ประกอบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่มีไม่มาก ทำให้การควบคุมไฟเป็นไปอย่างยากลำบาก

 

  • ศูนย์ติดตามสถานการณ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ตั้งศูนย์ติดตามสถานกาณ์ เพื่อประสานงานต่าง ๆ มีการส่ง รถหอน้ำ รถบรรทุกน้ำช่วยดับเพลิง รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย เพื่อขนโฟมดับเพลิง และ ระดมโฟมมาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงมีการส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32-02 เพื่อทิ้งโฟมทางอากาศ แต่ก็ไม่ได้ผลสำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถ กะระยะจุดทิ้งโฟมให้ถูกตำแหน่งได้ และต้องบินต่ำในพื้นที่อันตราย 

 

  • ในการระเบิดระลอก 2 เวลาประมาณ 12.00 น. มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟครอก 3 คน และ เสียชีวิต 1 คน ผู้เสียชีวิตคือ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ หรือ พอส อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นอาสาสมัครดับเพลิง

 

  • สามารถปิดวาวล์ 3 จุด ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ในการควบคุมเพลิง ได้ในเวลา 23.35 น. และในเวลาเช้ามืด ของวันถัดมา (วันที่ 6 กรกฏาคม) เจ้าหน้าที่สามารถดับเพลิงไหม้ได้ แต่ยังต้องฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ อย่างไรก็ตามประชาชนยังไม่ควรเดินทางกลับเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากควันสารพิษอันตรายยังอยู่ในอากาศ

 

  • สถานการณ์ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 5  โมงเย็น วันที่ 6 กรกฏาคม ได้เกิดการปะทุขึ้นอีกครั้ง ภายในพื้นที่โรงงาน ก่อนจะควบคุมเพลิงได้ภายในเวลา 40 นาที

 


ผลกระทบหลังจากนี้ “สารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ”

เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้ เป็นสารที่ไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ ซึ่งแม้ไม่ได้มีพิษฉับพลัน แต่มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างแน่นอน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการก่อมะเร็ง (แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนะ) และสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดที่มีไส้กรองทำด้วยชาร์โคลเป็นวัสดุดูดซับ (CHACOAL MASK) เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนแอกว่าเดิม

กรมควบคุมโรค เตือนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ป่วยจาก 4 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรค หัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ ว่าอาจมีผลกระทบด้านสุขภาพมากกว่าประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเตือนภัยในเรื่อง ฝนกรด อีกด้วย เนื่องจากสารเคมีระเหยอยู่ในอากาศ อาจเกิดฝนกรดได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำฝนที่ปนเปื้อนสารเคมี ในช่วง 1-2 วันนี้

 


ประเด็นอื่น ๆ ที่สังคมให้ความสนใจ ระหว่างเหตุการณ์ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้

  • การวางผังเมือง

หลาย ๆ คนตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใด จึงมีการตั้งโรงงานอยู่ใกล้ บริเวณชุมชน ขนาดนี้ แต่เมื่อสืบย้อนกลับไป ก็พบว่า โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่มาก่อน แหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึงโรงงานอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง และมีการขออนุญาติถูกต้อง ทำให้ต้องย้อนกลับมาว่า เพราะเหตุใด จึงมีการอนุญาติ ให้สร้างบ้าน ที่อยู่อาศัย อยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม แทน

  • ความพร้อมต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ระหว่างเหตุการณ์ การควบคุมเพลิง ก็มีภาพเจ้าหน้าที่ออกมาให้เห็น ซึ่งหลาย ๆ คนก็ได้สังเกตเห็นว่า เจ้าหน้าที่ ไม่มีหน้ากากป้องกันการสูดดมสารพิษดี ๆ ใช้ มีแต่หน้ากากอนามัยธรรมดาทั่วไป บางคนถึงกับใช้ผ้าปิดเท่านั้น บางคนไม่มีถุงมือ จึงสงสัยกันว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่มีอุปกรณ์ดี ๆ ใช้

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความคิดเห็น ว่าอาชีพนักดับเพลิงในต่างประเทศ ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีรายได้ที่ดี แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย กลับไม่เป็นแบบนั้น พวกเขาเงินเดือนไม่ได้สูง และ ยังมีอุปกรณ์ที่จำเป็นไม่เพียงพออีกด้วย

  • Emergency Alert

มีการให้ความเห็นกันในโลกออนไลน์ ว่าประเทศไทย ควรจะมีระบบ Emergency Alert ส่ง SMS ฉุกเฉินเข้าโทรศัพท์ของประชาชน เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิก เหมือนในประเทศอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็ว และเข้าใจถึงวิธีการรับมือต่าง ๆ

 

 

cr. pptvhd , kaosod , bbc , thestandard , Mthai

Comments

comments