สวัสดีค่ะสาวๆ ชาวซิสที่น่ารักทุกคน เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา Original Netflix ได้ปล่อยหนังน้องใหม่มาหนึ่งเรื่อง ซึ่งบอกเลยว่าแค่ได้ดู Teaser ก็อยากดูตัวเต็มขึ้นมาเลย และเรื่องนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนังเสียดสีสังคมที่เหล่าสามัญชน คนธรรมดาอย่างเราควรดูเป็นที่สุด วันนี้ Clubsister เลยขอ “รีวิว White Tiger Netflix หนังเสียดสีสังคมที่เหล่าสามัญชน ควรดู!” บอกเลยว่า คาดว่าหนังเรื่องนี้มาแรง! แน่นอน งั้นอย่ารอช้า ไปเริ่มทำความรู้จักกันเลย

 

  “รีวิว White Tiger Netflix หนังเสียดสีสังคมที่เหล่าสามัญชน ควรดู!”  

 

**คำเตือน! บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน ใครที่ยังไม่ได้รับชมโปรดหลีกเลี่ยง

 

เรื่องย่อและที่มา: ก่อนที่เราจะเข้า รีวิวWhite Tiger Netflix นั้นเราขอให้สาวๆ มาทำความรู้จักหนังเสียดสีสังคมเรื่องนี้กันก่อนว่าบทและดีกรีความเจ๋งของหนังเรื่องนี้คืออะไร White Tiger” หรือ ในชื่อไทยที่ว่า “พยัคฆ์ขาวรำพัน” เป็นหนังสะท้อนและเสียดสีสังคม, วัฒนธรรม, กรอบความคิด และความเป็นจริงของประเทศอินเดีย (จริงๆ ก็รวมๆ ถึงคนเอเชียด้วยเช่นกัน) รวมถึงระบบทุนนิยมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ โดยดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายขายดีและถูกเสนออยู่ในลิสต์รายชื่อหนังสือขายดีใน New York Time จากปลายปากกาของ Aravind Adiga
นอกจากบทที่เฉียบขาดแล้ว

รีวิว White Tiger

ยังได้ฝีมือการกำกับและเขียนบทเพื่อเข้าถึงผู้ชมอย่างเราได้ดียิ่งขึ้นอย่าง Ramin Bahrani ที่ได้รับการชื่นชมและเป็นที่จับตามองมาแล้วกับเรื่อง Fahrenheit 451 เมื่อปี 2018 ไม่เพียงแค่นั้น เขายังเคยกำกับผลงานสร้างชื่อ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำและความเป็นอยู่ของสังคมคนอินเดียอย่างเรื่อง Chop Shop เมื่อปี 2007 ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในงานหนังอย่างคานส์ รวมถึงเทศกาลหนังโทรอนโตและเบอร์ลินมาแล้ว เรียกได้ว่า White Tiger เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองไม่เพียงเรื่องอื่นเลยก็ว่าได้

รีวิว White Tiger

White Tiger ว่าด้วยเรื่องราวของ “พลราม” หนุ่มน้อยในวรรณะยากจนของประเทศอินเดีย ที่มีความฉลาดหลักแหลมในการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือความรู้รอบตัว แต่ทว่าด้วยการเป็นอยู่ที่ไม่ได้เอื้ออำนวยนั้น ทำให้เขาต้องเลิกเรียนและผันตัวมาเป็นลูกจ้างในร้านน้ำชาแถวบ้าน และเขาก็ใช้ชีวิตแบบนั้นมีหลายปีจนตัวเองโตเป็นหนุ่ม สิ่งที่เขาเรียนรู้มาตลอดคือ หากเขาไม่ออกไปใช้ชีวิตที่อื่น เขาจะต้องเป็นลูกจ้างในร้านชาและทำงานเพื่อนำเงินไปให้ย่าของเขาที่เรียกได้ว่า “หนี้บุญคุณ” แบบนี้ไปตลอดชีวิต

ดังนั้นพลรามจึงตัดสินใจขอครอบครัวเข้าไปเป็นคนขับรถในบ้านเศรษฐีที่เป็นเจ้าของที่ในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ เพื่อยกระดับฐานะของเขาและครอบครัว แต่ทว่าในการที่เขาได้เข้าไปอาศัยและเป็นคนขับรถในบ้านเศรษฐีนั้น ทำให้เขาได้รู้จักกับเจ้านายที่มีดีกรีเป็นนักเรียนนอกในประเทศเสรีอย่างอเมริกา นั่นก็คือ คุณอโศกและมาดามพิงกี้ จากวันนั้นทำให้พลรามเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตโดยมีความคิดว่าอยากจะรับใช้เจ้านายของเขาตลอดไป นั่นคือความฝันของเขา

แต่แล้วในวันหนึ่ง มาดามพิงกี้เกิดเมาและนึกสนุกอยากขับรถเล่น จนเกิดอุบัติเหตุชนเด็กตายในกรุงเดลี ด้วยเหตุนี้ทำให้พลรามต้องกลายมาเป็นแพะรับบาป ถูกเซ็นเอกสารรับความผิดแทนเจ้านายตนเอง หลังจากวินาทีนั้น ทำให้ลูกไก่กรงที่พร้อมจะโดนเชือด พงาดขึ้นและกลายเป็นเสือขาว ที่พร้อมจะตะครุบเหยื่อ! และกลายเป็นอิสระ

 

แนะนำตัวละคร: และแน่นอนก่อนที่เราจะเริ่ม “รีวิว White Tiger” แบบเจาะลึกถึงพริกถึงขิงนั้น เราขอแนะนำตัวละครเด่นๆ สำคัญๆ ของเรื่องนี้ก่อน

 

ตัวละครที่ 1: Balram หรือ พลราม (Adarsh Gourav)

รีวิว White Tiger Netflix

เดิมทีก่อนที่ “พลราม” จะก้าวมาในเมืองใหญ่และเป็นคนขับรถของบ้านเศรษฐีนั้น เขาเป็นหนุ่มน้อยที่มีความฉลาด อ่านและพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว พร้อมกับความรู้รอบตัวดีเยี่ยม แต่ทว่าด้วยการที่เขาอยู่ในวรรณะหรือชนชั้นที่ไม่ได้สูงหรือไม่มีเงินเพียงพอที่จะเข้าเรียน บวกกับค่านิยมและวัฒนธรรมของคนอินเดียที่ลูกหลานจะต้องอยู่เป็นคนครอบครัว คนหนุ่มจะต้องออกไปทำมาหากิน นำเงินมาเลี้ยงที่บ้านและรีบมีลูกเพื่อไว้ใช้รับใช้นั้น

ทำให้เขาต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน คลาดโอกาสที่จะได้รับทุนการศึกษา และออกมารับจ้างทุบถ่านหินในร้านขายชาแถวบ้าน แต่ด้วยความทะเยอทะยานทำให้พลราม มีความคิดที่อยาก
จะเข้ามาในเมือง เพื่อเป็นคนรับใช้หรือคนขับรถให้เศรษฐี เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัว จนเขาได้เล็งเห็นโอกาสที่จะพลิกชะตาชีวิตของตัวเขาเองได้

 

ตัวละครที่ 2: Ashok หรือ อโศก (Rajkummar Rao)

รีวิว White Tiger Netflix

“อโศก” เจ้านายของพลราม ลูกชายคนเล็กของบ้านเศรษฐีนักธุรกิจค้าถ่านหินและเป็นเจ้าของพื้นที่ดินที่ครอบครัวพลรามอาศัยอยู่ เขาเป็นดีกรีนักเรียนนอกที่มาจากประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพในเชื้อชาติและสังคมอย่างอเมริกา แต่เนื่องจากเขาต้องกลับมาช่วยงานที่บ้านเกิดเขาที่อินเดีย ถึงแม้เขาจะพยายามรับเอาวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมความคิดมาจากอเมริกามากแค่ไหน สุดท้ายเขาก็ยังคือคนอินเดียอยู่ดี

 

ตัวละครที่ 3: Pinky หรือ มาดามพิงกี้ (Priyanka Chopra)

รีวิว White Tiger Netflix

“พิงกี้” ภรรยาสาวดีกรีนักเรียนนอกจากนิวยอร์กของอโศก ที่ถึงแม้จะเป็นสาวอินเดีย แต่ทว่าเนื่องจากเธอมีความคิดและทัศนคติที่ว่า มนุษย์เราทุกคนเท่าเทียมกัน ต่างกันที่ความฝันและความพยายาม สุดท้ายแล้ว เราเลือกเองได้ว่าเราจะทำอย่างไร เธอจึงตะเกียกตะกายตัวเองจากวรรณะที่ไม่ได้สูง ย้ายตนเองไปอยู่อเมริกาเรียนต่อแพทย์ที่นั่น และด้วยความคิดสมัยใหม่ บวกกับจิตใจที่อ่อนโยน ทำให้มาดามพิงกี้เป็นเจ้านายอีกคนหนึ่งที่ปฏิบัติกับพลรามอย่างมนุษย์คนหนึ่ง

 

รีวิว White Tiger แบบเจาะลึก:

รีวิว White Tiger Netflix

เอาละค่ะต่อมาก็เข้าถึงจุดสำคัญของบทความนี้กันแล้ว ก่อนอื่นเลยเราขอแบ่งความประทับใจของเรื่องนี้เป็น 2 พาร์ทใหญ่ๆ ก่อนเลยละกัน ซึ่งพาร์ทแรกที่ขอชมเชยเลยนั่นก็คือ วิธีการเล่าเรื่อง, มุมกล้อง, โทนสีภาพ รวมถึงเทคนิคที่หนังเรื่องนี้ใช้ อย่างแรกเลยเรื่องนี้ใช้เทคนิคแบบ Voice Over คือการที่ตัวละครในเรื่องพูดหรือบรรยายเรื่องราว ประหนึ่งเล่าให้เพื่อนหรือคนดูอย่างเราฟัง โดยจะมีเสียงความคิดและการบรรยายสถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้น พร้อมตัดสลับภาพเหตุกาณ์นั้นที่เล่าไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง

ด้วยแบบนี้ทำให้หนังเรื่องนี้สะท้อนความคิดและทัศนคติของตัวละครได้เป็นอย่างดี ที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อมี Voice Over แล้ว การเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้เป็นแบบ Flash Back (การเล่าเรื่องย้อนกลับ) ตัดสลับกับเหตุการณ์ในอดีต ทำให้เราได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่มี
ชัดกว่าการเล่าเรื่องตามลำดับ บวกกับมุมกล้องที่เราจะเห็นได้ว่าตลอดทั้งเรื่องจะเน้นที่มุม Close Up หรือ มุมซูมไปที่หน้าหรือสายตาของตัวละครหลักอย่าง พลราม บ่อยแทบจะทุกครั้ง

นั่นทำให้เราเข้าใจอารมณ์ของตัวละคร ณ ตอนนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแค่นั้นโทนสีภาพ ยังมีความคุมโทนอย่างการใช้สีโทนเหลือง, เขียว, ฟ้า, น้ำเงิน, เทา และ อย่างสุดท้ายจุดสังเกตหรือสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องจะเป็นสีแดง เรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้ครบเครื่องเรื่อง Production จริงๆ

รีวิว White Tiger Netflix

ต่อมาจะเป็นการรีวิว White Tiger แบบเจาะลึกในพาร์ทสุดท้าย สิ่งที่จะไม่พูดเลยก็คงไม่ได้ นั่นก็คือ การเสียดสีและสะท้อนสังคมอินเดีย (ส่วนตัวเรามองว่าไม่ใช่แค่อินเดียแต่เป็นเอเชีย), ค่านิยม, ความเชื่อ, ขนมธรรมเนียม ด้วยสิ่งเหล่านี้กำลังบอกให้เรารู้ว่า กรอบค่านิยมและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ มันไม่เคยเปลี่ยนไป ความกตัญญูเป็นเหมือนหนี้บุญคุณที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปีก็ยังคงอยู่ (ไม่ได้หมายความว่าการกตัญญูไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ) เด็กๆ ในยุคใหม่ที่เกิดมาจำเป็นต้องดำเนินตามสิ่งเหล่านี้ หากแหกกรอบคืออกตัญญู สิ่งที่ทำได้คือเชื่อฟังและทำตามบรรพบุรุษ ไม่มีสิทธิที่จะเลือกหรือคิด

มากไปกว่านั้นสิ่งที่หนังเรื่องนี้เล่นและทำคนดูแบบเรานั้น นั่งยิ้มมุมปาก ตบเข่าดังป๊าบ! ได้อย่างสุดแรงเลย คือ “ความตลกร้าย, การจิกกัดสังคมแบบทุนนิยมและคำว่าประชาธิปไตย” (ฮ่าๆ) เอาจริงๆ อย่างที่เราเคยเรียนกันตอนเด็กๆ ว่า ระบบชนชั้นของอินเดียวนั้น มีมากมายหลายชนชั้นวรรณะ แต่ทว่าจริงๆ แล้ว มันมีอยู่แค่ 2 วรรณะเท่านั้นแหละ “วรรณะคนจนและวรรณคนรวย” ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องจริง สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นเลยก็คือ ในระบบทุนนิยมที่เงินนั้นสำคัญยิ่งกว่าเรื่องอะไรทั้งหมด สามารถพลิกชะตาชีวิตของคุณได้เหมือนพลิกฟ้า คุณสามารถพลิกจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นดำ ได้โดยที่ไม่มีความผิด แค่มีเงินจากอาชญากรจะเป็นผู้บริสุทธิ์เลยก็สามารถทำได้

รีวิว White Tiger Netflix

รีวิว White Tiger

ด้วยเหตุนี้มันเลยสอดคล้องกับคำว่าประชาธิปไตย เพราะในเมื่อ “ประชาธิปไตยในโลกทุนนิยมนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น” แต่เป็นเพียงสิ่งที่มีไว้แค่ พอยกระดับประเทศและสร้างความน่าเชื่อถือแบบจอมปลอมเท่านั้น มีอยู่หนึ่งประโยคในเรื่องนี้ที่ทำให้เรายิ้มมุมปาก เพราะสิ่งที่หนังกล่าวมาแทบไม่ต่างกับสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันเลยคือ “อย่าเป็นคนจนในระบอบประชาธิปไตย” เอาจริงๆ แค่ประโยคข้างต้นนี้ก็สามารถบอกอะไรกับเราได้หลายอย่าง ประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม
แต่ทว่าในความเป็นจริง “คนจนหรือสามัญชนคนธรรมดา” อย่างเราๆ ไม่เคยได้อะไรที่ประชาธิปไตยกล่าวไว้เลยซักนิด

และสิ่งสุดท้ายที่เราชอบมากๆ อีกเรื่องหนึ่งเลยคือ ตราบใดที่เรายังอยู่ในประเทศ, สิ่งแวดล้อม หรือ สังคมที่ไม่มีความพัฒนาใดๆ ถึงแม้ตัวเราอยากพัฒนาหรืออยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่นั้น “อาจเป็นได้แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ เท่านั้น” นอกจากประเด็นการเสียดสีสังคมในแง่ความเป็นอยู่ ระบอบทุนนิยิม และประชาธิปไตยแล้วนั้น สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำออกมาให้เราเห็นแบบทางอ้อมคือ การชูเรื่องความเป็น Feminism และความเชื่อทางศาสนาพอให้เราได้เห็นกันอยู่บ้างในเรื่อง

 

สุดท้ายนี้การ รีวิว White Tiger นั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ที่เราคิดว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการบอกกับเรานั้น มันชัดเจนเหลือเกิน ถึงแม้เราจะไม่ได้เห็นด้วยกับตัวละครบางตัว แต่ทว่ามันก็คือความจริงของมนุษย์ “มนุษย์เราไม่มีหรอกขาวและดำ มีแต่สีเทาทั้งนั้นแหละ” เอาเป็นว่าถ้าใครชอบหนังแนวเสียดสีสะท้อนสังคมเราขอแนะนำ White Tiget หนังที่สามัญชนคนธรรมดา อย่างเราควรดู สามารถดูได้ที่ Netflix (คลิกเพื่อรับชม) และก่อนจากกันขอขอบคุณที่อ่านบทความมาจนถึงตรงนี้นะคะ เจอกันใหม่บทความหน้า บ๊ายบาย 🙂

 

Photo Credit:

Comments

comments