สวัสดีค่าสาวๆ ชาวซิสทุกคน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เราได้มีโอกาสกลับดูหนังแนวจิตวิทยาที่ชอบหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน และโดยพื้นฐานเป็นคนที่ชอบหนังแนวนี้ด้วยอยู่แล้ว เลยเกิดความคิดปิ๊งไอเดียขึ้นมา อยากจะมาจัดอันดับหนังจิตวิทยาที่ชอบและคิดว่าเด็ดเอาแบบระดับตำนานกันเลยทีเดียว มาให้สาวๆ ที่เป็นคอหนังแนวนี้ได้ดูกันกับ “4 หนังจิตวิทยาระดับตำนาน ที่คอหนังจิตๆ ไม่ควรพลาด!” บอกเลยว่าเราคัดสรรหนังจิตที่ควรดูมาให้แล้วที่นี่ งั้นอย่ารอช้า ไปเริ่มจิตๆ กับหนังเรื่องแรกกันเลยค่า

 

“4 หนังจิตวิทยาระดับตำนาน ที่คอหนังจิตๆ ไม่ควรพลาด!”

** คำเตือน: บทความนี้อาจมีการเผยแพร่เนื้อหาสำคัญบางส่วน ใครที่ยังไม่ได้ดูโปรดหลีกเลี่ยง

 

เรื่องที่ 1: Psycho (1960)

ความยาว: 1 ชั่วโมง 49 นาที
ระดับความจิต: 4 / 5
ระดับความสนุก: 4.5 / 5

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

หนังจิตวิทยาระดับตำนานเรื่องแรกที่เราอยากจะแนะนำนั้นเป็นผลงานการกำกับของผู้กำกับมือดีและมีชื่อเสียงในด้านหนังแนวระทึกขวัญอย่าง Alfred Hitchcock ซึ่ง Psycho นั้นถูกสร้างขึ้นโดยดัดแปลงมาจากนิยายขายดีของ Robert Bloch

เป็นเรื่องราวของแมเรียน เครน เลขาฯ ผู้จัดการธนาคารสุดสวย ที่เธอมีความฝันอันแสนหวานว่าอยากจะไปใช้ชีวิตกับชายที่เธอรัก แต่ทว่าชายคนนั้นของเธอไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ เขามีหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบเต็มไปหมด

แต่แล้วในวันหนึ่งหัวหน้าของเธอ ได้รับเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งจากการที่ลูกหนี้คนหนึ่งนำเงินมาใช้หนี้เงินกู้ หัวหน้าจึงให้เธอเลิกงานได้เร็วหนึ่งวัน เพื่อนำเงินก้อนนี้ไปฝากให้เขา แต่ทว่าแมเรี่ยนกลับรีบกลับบ้านเพื่อเก็บกระเป๋าและพร้อมที่จะเดินทางไปใช้ชีวิตตามความฝันกับเงินก้อนที่เธอขโมย และแล้วเรื่องราวที่น่าสะพรึงก็ได้เริ่มต้นขึ้น

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

ต้องบอกก่อนเลยว่าหนังดีที่ควรดู ก่อนตายเรื่องนี้ เป็นหนังที่เราขอเตือนสาวๆ คนไหนก็แล้วแต่ ที่จะดูเรื่องนี้ ห้ามหาสปอยล์มาอ่านก่อน หรือแม้กระทั่งหาข้อมูลการรีวิวแบบเชิงลึกเด็ดขาด มิเช่นนั้น ความสนุกทั้งหมดจะหายไปในทันที (แต่สำหรับบทความนี้อ่านได้จ้า)

หากถามว่าทำไมเราถึงแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับสาวๆ ได้ดูนั้น เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังสมัยก่อนซึ่งยังเป็นหนังขาวดำ แต่เป็นหนังที่ถ่ายทอดความน่ากลัวของหนังให้คนดูได้อย่างเฉียบ โดยไม่มีการใช้เทคนิคใดๆ เข้าช่วยเลย ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง การใช้เทคนิคเล่าเรื่องแบบ Flashback หรือ Voice Over

หนังจิตวิทยาระดับตำนานเรื่องนี้ปราศจากเทคนิคท่ามาตราฐานแบบนี้โดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา ผ่านความคิดและเหตุการณ์ของตัวละครเพียงไม่กี่ ตัว แต่สามารถทำให้คนดูอย่างเราๆ กลัวและรู้สึกคล้อยตามไปกับหนังได้ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้

 

เรื่องที่ 2: Se7en (1995)

ความยาว: 2 ชั่วโมง 7 นาที
ระดับความจิต: 4.5 / 5
ระดับความสนุก: 5 / 5

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

ต่อไปหากใครที่เป็นคอหนังจิตวิทยาแล้วละก็จะต้องรู้จักผู้กำกับมือทองที่โด่งดังมาจากการกำกับหนังแนวระทึกขวัญชื่อดังหลายๆ เรื่องอย่าง David Fincher กันอยู่แล้ว และหนังจิตวิทยาระดับตำนานเรื่องต่อไปจะพูดถึงสองตำรวจคู่หูต่างวัยอย่าง ‘วิลเลี่ยม ซัมเมอร์เซ็ท’ (Morgan Freeman) ตำรวจวัยเก๋าผู้มากประสบการณ์ และ ‘เดวิด มิลส์’ (Brad Pitt) ตำรวจน้องใหม่ไฟแรง
ทั้งสองดำเนินคดีไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่องที่มีวิธีการฆ่าตามรูปแบบคำสอนทางศาสนาที่ชื่อว่าบาป 7 ประการ

โดยบทคำสอนที่มีชื่อว่าบาป 7 ประการนั้น ซึ่งเป็นหลักคำสอนทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ที่พูดเรื่องราวของบาปหรือสัญชาตญาณดิบต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้พึงกระทำ 7 อย่างผ่านปีศาจ 7 ตน ซึ่งประกอบด้วย ‘ความโลภ ขี้เกียจ อิจฉา โทสะ ยะโสโอหัง ความตะกละ และราคะ’ ซึ่งหลักคำสอนนี้มีไว้เพื่อบอกกับเหล่ามนุษย์ว่าไม่ให้เราทำตามสัญชาตญาณดิบเหล่านี้มากจนเกินไป

แต่ในอีกมุมหนึ่งบาปทั้ง 7 นี้ทางศาสนาคริสต์นั้นถือว่าเป็นบาปเบา ซึ่งถ้าพึงกระทำเพียงเล็กน้อย
ตราบใดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครก็ถือว่าเป็นบาปที่สามารถยอมความหรือให้อภัยกันได้ แต่อย่างว่าอะไรที่มากจนเกินไปมักจะส่งผลร้ายกับเราเสมอ

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

หากจะพูดในเรื่องของในแง่จิตวิทยาของหนังจิตวิทยาระดับตำนานเรื่องนี้แล้วละก็ เราว่าฆาตกรคนนี้ฉลาดไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะมันรู้จักเล่นกับคน รู้ว่าควรเล่นยังไง ปลุกเร้าอารมณ์และความรู้สึกอย่างไรเพื่อปลดฉนวนสัญชาตญาณดิบนั้น ๆ ออกมา สังเกตง่าย ๆ จากการที่ทุกครั้งที่มันก่อคดีและทิ้งปริศนาไว้ มันไม่ได้ต้องการจะแกล้งหรืออะไร

แต่ต้องการบอกว่ามันจะสื่อถึงอะไรต่างหาก และอีกมุมหนึ่งมันต้องการจะท้าทายความสามารถและจิตใจของสองคู่หูว่าคุณจะชนะฉันและจิตใจของคุณเองได้หรือเปล่า ซึ่งในครั้งนี้มิลส์ตกเป็นเหยื่อโทสะของตัวเองเต็ม ๆ และในทางกลับกันตัวฆาตกรเองก็ตกเป็นเหยื่อของความริษยาด้วยไม่แพ้กัน

เพราะเหตุนี้มันถึงจัดฉากและวางกับดักดึงเอาปีศาจความโทสะในตัวมิลส์ออกมาเพื่อฆ่าตัวของเขาเอง ในที่สุดมันก็ทำสำเร็จและพลีกายถวายชีพให้กับความเชื่อเพื่อพิสูจน์ว่า ‘ข้าคือพระเจ้า’ และน้อมรับชัยชนะเป็นที่เรียบร้อย สุดท้ายแล้วคนที่เล่นเกมนี้ได้ดีที่สุดคือ “วิลเลี่ยม”

 

เรื่องที่ 3: Perfect Blue (1997)

ความยาว: 1 ชั่วโมง 21 นาที
ระดับความจิต: 4.5 / 5
ระดับความสนุก: 4.5 / 5

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

ถึงแม้ว่าหนังจิตวิทยาระดับตำนานเรื่องนี้จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบหนังที่คนจริงๆ แสดง แต่บอกได้เลยว่า หนังอนิเมะเรื่องนี้สะท้อนความจิต และถ่ายทอดแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ได้ดีไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลยก็ว่า Perfect Blue ภาพยนตร์อนิเมะจากผลงานผู้กำกับ Satoshi Kon โดยมีผลงานสร้างชื่ออีกเรื่องคือ Paprika

พูดถึงเรื่องราวของ “มิมะ” สาวน้อยบ้านนอกผู้เข้ามารับบทไอดอลญี่ปุ่นในเกิร์ลกรุ๊ป โดยเธอหวังอยากจะสร้างชื่อเสียงและทำตามความฝันที่จะโลดแล่นในวงการบันเทิง พร้อมกับทำให้ที่บ้านของเธอภูมิใจ แต่ทว่าหนทางบนเส้นทางบันเทิงนั้น การเป็นไอดอลอย่างเดียวมันไม่ได้ช่วยให้หนทางของเธอสั้นขึ้น เธอจึงปรึกษากับค่ายและผู้จัดการของเธอ โดยการลาออกจากการเป็นไอดอลและเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัว

โดยเริ่มจากการถ่ายแบบ จากการถ่ายแบบธรรมดา เขยิบไปถ่ายแบบที่ค่อนข้างเซ็กซี่ จนบางครั้งทำให้เธอกลับมาที่ห้องนอนของตนเองและเฝ้าถามตนเองตลอดเวลาว่า เธอทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วใช่ไหม แต่ทว่าในวันที่เธอสับสน เธอยังได้รับโอกาสให้รับบทเป็นตัวประกอบหญิงในหนังของผู้กำกับชื่อดัง ซึ่งบทที่เธอได้รับนั้น เป็นบทที่ค่อนข้างท้าทายและมีฉากที่ค่อนข้างกระทบกระเทือนจิตใจของเธอ ดังนั้นการที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน จะต้องมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ทว่าในขณะที่เธอกำลังถ่ายทำหนังเรื่องนี้อยู่นั้น เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คนรอบตัวเธอทะยอยถูกฆ่าตายกันหมด ทำให้มิมะ ตกเป็น 1 ในผู้ต้องสงสัยที่ฆ่าคนรอบตัว

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

สิ่งที่เราชื่นชอบในตัวหนังจิตวิทยาระดับตำนานเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นการเล่าเรื่องและถ่ายทอดสภาพจิตใจของตัวละครผ่านเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ Reflection ไม่ว่าจะเป็นเงาสะท้อนในกระจก, เงาสะท้อนในน้ำ หรือแม้กระท้องการสร้างภาพหลอนผ่านเงาต่างๆ

ทำให้เราเกิดมิติและสร้างความสับสนระหว่างความคิดที่แท้จริงของตัวละครและความคิดของจิตใต้สำนึกผ่านเงาไม่เพียงแค่นั้น การดำเนินเรื่องและมุมกล้องของเรื่องนี้ ถ้าตัดว่าเป็นภาพยนตร์อนิเมะออก บอกเลยว่ามุมกล้องและการเล่าเรื่องของเรื่องนี้ดีไม่แพ้หนังจริงๆ เลยก็ว่าได้ ไม่เพียงเท่านั้น การเฉลยปมของตัวละครในตอนท้ายทำให้ตัวคนดูอย่างเรานั้น รู้สึกเซอร์ไพร์สเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เอาเป็นว่าคอหนังจิตวิทยาไม่ควรพลาดเรื่องนี้เป็นที่สุด

 

ปูลู การเล่าเรื่องผ่านเทคนิค Reflection จากเรื่องนี้ ถูกนำไปใช้เป็น Inspiration ของหนังจิตวิทยาระดับโลกอย่างเรื่อง Black Swan (เรื่องที่ 4) ด้วย

 

เรื่องที่ 4: Black Swan (2010)

ความยาว: 1 ชั่วโมง 48 นาที
ระดับความจิต: 5 / 5
ระดับความสนุก: 4.5 / 5

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

ถ้าพูดถึงหนังแนวจิตวิทยาระดับตำนานแล้วคงขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้ เพราะเป็นหนังที่นำเสนอทฤษฎีจิตใต้สำนึกรวมถึงความรู้สึกทางจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี หนังเล่าถึง ‘นีน่า’ (Natalie Portman) หญิงสาวแสนสวยมีอาชีพเป็นนักบัลเล่ต์ในโรงละครแห่งหนึ่ง เธอกำลังจะได้รับเลือกขึ้นสู่จุดสูงสุดของนักบัลเล่ต์ก็คือการได้รับเลือกให้เป็น ราชินีหงส์ ในเรื่อง Swan Lake (ภาษาไทยแปลว่า เจ้าหญิงหงส์ขาว)

ซึ่งโดยปกติแล้วนีน่านั้นเป็นนักบัลเล่ต์ที่เต้นได้ดี ท่วงท่าสวยงามถูกต้อง ซึ่งเข้ากันอย่างลงตัวกับบทราชีนีหงส์ขาว แต่ผู้กำกับมองว่าเธออาจจะไม่ไหวกับบท ราชีนีหงส์ดำ ที่ต้องใช้อารมณ์ที่ยั่วยวนและความก้าวร้าวเป็นหลัก ดังนั้นเขาจึงมอง ‘ลิลลี่’ (Mila Kunis) ไว้เป็นตัวสำรองอีกคนหนึ่ง

เพราะเหตุนี้นีน่าจึงกังวลและกลัวว่าตัวเองจะโดนแย่งตำแหน่งและอาจจะทำให้แม่ของเธอผิดหวัง เธอจึงหมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ในทางกลับกันความกดดันเหล่านี้ทำให้นีน่าผู้เป็นราชินีหงส์ขาวถูกด้านมืด อย่างราชีนีหงส์ดำกลืนกินจนหมดตัว

หนังจิตวิทยาระดับตำนาน

หากสาวๆ คนไหนสงสัยว่าทำไมเราถึงยกหนังเรื่องนี้ให้ติดอยู่ในโพลล์ Top หนังจิตวิทยาละก็ เราขอเริ่มที่การวิเคราะห์ตัวละครในเรื่องนี้กันก่อนเลย ขอเจาะลึกในด้านตัวละครหลักอย่างนีน่า และ ‘อิริก้า’ (แม่ของนีน่า) อิริก้า แต่ก่อนเป็นนักบัลเล่ต์ดาวรุ่งที่กำลังมาแรงแต่แล้วเธอดันท้องนีน่าขึ้นมา ทำให้ความฝันทั้งหมดของนักบัลเล่ต์ต้องจบลง

แต่ใช่ว่าเธอจะโกรธแค้นนีน่าในเรื่องนี้ เธอกลับเลี้ยงดูนีน่าให้เป็นดั่งไข่ในหิน และพร้อมกับปลูกถ่ายความฝันและความหวังของตนเองไปที่นีน่าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนดาบสองคมที่คอยทิ่มแทงนีน่าไปทีละเล็กละน้อยจนวันหนึ่งมันปะทุขึ้นมา

ส่วนของนีน่านั้น ด้วยความกดดันและการอยู่ในกรอบที่วางไว้ให้ตลอดเวลา ทำให้ชีวิตวัยรุ่นของเธอไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนคนอื่น อีกทั้งเธอเป็นผู้แบกรับความหวังทั้งหมดของแม่เอาไว้ ทำให้เธอเหมือนกดดันตัวเองตลอดเวลา ไม่ยอมปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามความรู้สึกและอารมณ์ดูบ้าง ดูง่าย ๆ จากการเต้นของเธอ

นีน่าเป็นคนที่เต้นได้ท่าที่เพอร์เฟ็ค แต่เธอดันลืมไปว่าบัลเล่ต์เป็นศาสตร์หนึ่งที่ว่าด้วยศิลปะของเสียงดนตรีและท่าทาง ดังนั้นผู้กำกับจึงบอกว่าเธออาจจะเต้นบทราชีนีหงส์ดำที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความเย้ายวนไม่ได้ เธอจึงทุ่มเทการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ แต่ในทางกลับกันเธอก็แอบกังวลว่าลิลลี่ หญิงสาวที่ผู้กำกับชื่นชม ในเรื่องการแสงออกด้านอารมณ์จะเข้ามาแย่งบทบาทของเธอ

เพราะแบบนี้ทำให้นีน่าเกิดความต้องการจะเป็นเหมือนกับหรือแทนที่ลิลลี่โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว ถ้าจะสรุปได้ง่ายๆ เลยคือ ตัวนีน่านั้นถูกกดและควบคุมทางด้านอารมณ์ จนทำให้สภาพจิตใจและความเป็นธรรมชาติของร่างกายไม่ได้ถูกปลดปล่อย สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างจากกาต้มน้ำที่เดือดและรอการประทุออกมาเท่านั้นเอง

 

Photo Credit:

Comments

comments