สวัสดีค่าสาวๆ ชาวซิสที่น่ารักทุกคน สาวๆ เคยเป็นไหมคะ? ที่เวลาในบางครั้งที่เรารู้สึกท้อใจ อยากหาคำพูดปลอบใจตัวหรือคำพูดจากคนอื่นก็ดี หรือแม้กระทั่งบางครั้งที่เพื่อนๆ หรือคนรอบตัวเราต้องการปรึกษาหรือระบายสิ่งที่คับข้องในใจ แต่! บางทีฟังไปฟังมาหรือพูดไปพูดมา มันรู้สึกไม่ปลอบเราหรือปลอบเขาหว่า!? ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกท้อใจกว่าเดิม วันนี้ Clubsister มารวบรวม “5 ประโยค Empathy ที่ฟังแล้วไม่ได้ใจคนฟังเท่าไร” จนบางครั้งก็ได้แต่ถามว่า นี่เห็นใจเราจริงๆ หรอ? ไปดูกันว่ามีประโยคไหนคำไหนบ้าง
“5 ประโยค Empathy ที่ฟังแล้วไม่ได้ใจคนฟังเท่าไร”
ก่อนที่เราจะเริ่มไปทำความรู้สึกหรือเริ่ม Checklist ประโยค Empathy ที่เราเคยได้ยินหรือเราเคยพูดกันนั้น เรามาลองทำความรู้สึกคำว่า Empathy หรือ วิธี Empathize คนอื่นกันดูดีกว่า คำว่า Empathy ใครหลายๆ คนคงได้ยินกันบ่อยๆ ในแง่หลักจิตวิทยา แต่ทว่าหลักจิตวิทยาเหล่านี้นี่แหละ ที่เราสามารถสังเกตหรือเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป โดยหากแปลลงตัวคำว่า Empathy คือ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ซึ่งในสังคม ณ ปัจจุบันนี้บางครั้งเราก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจ บางครั้งเราก็เหมือนจะถูกละเลยความเห็นใจหรือการช่วยเยียวยาจิตใจไปโดยปริยาย ด้วยสังคม ณ ปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฟกัส และเอาใจใส่ตนเอง ทำให้บางครั้งเราหลงลืมความ Empathy ในตัวเองและผู้อื่นไป ดังนั้น 3 ข้อขั้นพื้นฐานง่ายๆ ในการ Empathy หรือ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและตนเองมีดังนี้
1. สอบถาม ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามความรู้สึก สอบถามเรื่องราว สอบถามปัญหา หรือสิ่งที่อยู่ในจิตใจ จริงๆ ในส่วนนี้ เราก็สามารถสอบถามสิ่งที่อยู่ภายในใจเราเองได้เช่นกันนะคะ
2. รับฟัง โดยปราศจากการตัดสินหรือตั้งแง่ในใจจิตใจ การแสดงความเห็นอกเห็นใจที่ดี คือการรับฟัง โดยไม่ออกความคิดเห็นหรือตัดสินสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือสิ่งที่เรารับฟัง
3. คอยสังเกต คอยสังเกตพฤติกรรม การกระทำ หรือแม้กระทั่งน้ำเสียง คำพูด ท่าทางต่างๆ ว่าเวลาที่เขาพูดเรื่องนี้ หรือปัญหาเหล่านี้เขารู้สึกอย่างไร เช่น ดูสีหน้ากังวล กลัว ไม่กล้า เศร้า
เพื่อที่จะได้ช่วยให้สถานการณ์ตรงหน้ามันดีขึ้น
นี่คือ 3 ข้อพื้นฐานของการ Empathize ที่ดี แต่ทว่าในบางครั้งเพื่อนหรือตัวเราเองก็ต้องการคำปลอบโยนที่ช่วยให้ใจชื้นหรือเพิ่มพูนกำลังใจให้มากขึ้น ดังนั้นมาดูกันว่า เราควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรพูดประโยค Empathy คำใดบ้าง ที่ดูเหมือนจะปลอบ แต่ยิ่งฟังทำไมยิ่งจุก
ประโยคที่ 1 : มันก็เป็นอย่างนี้แหละแก
เอาละค่ะประโยค Empathy คำแรก “มันก็เป็นอย่างนี้แหละ!” เรามั่นใจว่าทุกครั้งที่เราแบกหรือหอบหิ้วความรู้สึก ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เศร้าใจ อกหัก เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว หรือความรักใดๆ ไปหาอีกคนนึง เพื่อหวังจะให้เขารับรู้ความรู้สึกในใจของเรา หรือมีความรู้สึกร่วมกับใจของเรา ณ ตอนนี้ แต่คำพูดที่ได้ยินกลับมาคือ “มันก็แบบนี้แหละ” ยกตัวอย่างเช่น เราบ่นเรื่องทำงานที่ไม่ได้ดั่งใจ รู้สึกเหนื่อยกับงานที่มาเยอะมากๆ ในช่วงนี้ และบ่นกับเพื่อนสนิท ว่าเหนื่อยจังเลยวะแก ช่วงนี้งานเยอะมาก ไม่ได้พักเลย เพื่อนกลับพูดตอบเรามาว่า “มันก็แบบนี้แหละ ปกติแก”
สาวๆ ลองนึกสถานการณ์ตาม ถ้าเป็นเหตุการณ์แบบนี้ คนที่เขาหิบหิ้วความเหนื่อยล้าเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไร สิ่งที่ทำได้คือ เอ่า! ฉันต้องชินหรือแบกความเหนื่อยเหล่านี้ไว้เรื่อยๆ เพียงเพราะชีวิตที่ฉันเจออยู่ มันเป็นเรื่องปกติหรือ? ประโยคเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เราหรือคนอื่นพูด ในบางครั้งเราก็มักเผลอพูดเรื่องพวกนี้กับตนเองด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากเจอเรื่องราวแบบนี้ สิ่งที่ควรทำแค่รับฟัง หรือยินดีร่วมความรู้สึกไปกับสิ่งเหล่านั้น โดยไม่ออกความคิดเห็นส่วนตัวของเรา เพื่อให้เขาได้ใช้พื้นที่ ณ ตรงนั้น อย่างเต็มที่
ประโยคที่ 2 : ไม่เป็นหรอก
อ่า … มาถึงประโยค Empathy สั้นๆ ที่บางครั้งเราก็เผลอพูดกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นในกรณีปลอบใจเขา บอกความรู้สึกตนเอง หรือบางครั้งเราก็เผลอพูดคำเหล่านี้กับตัวเราเอง ในวันที่เหนื่อยล้า วันที่ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ว่า “เอาเจอเรื่องนี้เอง ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ดีขึ้น” แต่! มันจะไม่เป็นไรจริงๆ หรอ !?! ในเมื่อความรู้สึกในใจของคนที่รู้สึก มันมีเรื่องหรือความรู้สึกต่างๆ มากมายเต็มไปหมด แล้วทำไมเราถึงใช้คำที่ตรงกันข้ามแบบนี้บอกกับคนอื่นละ
อย่าลืมว่าทั้งเราและเขา หรือใครก็ตามที่ทุกข์ เขาคือมนุษย์เช่นเดียวกันกับเรา มีความรู้สึก มีหัวใจ รู้สึกได้ ทุกข์ได้ แต่บางครั้งก็ต้องดูสถานการณ์ตรงหน้าด้วย เช่น ณ ตอนนั้นเขาหรือเราอาจจะยังไม่พร้อม ก้าวเดิน ออกมาจากปัญหาหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หากเป็นเช่นนั้น ก็แค่ปล่อยให้ตัวเราหรือผู้อื่นได้รู้สึก อย่างที่เขารู้สึก หากตอนนี้อยากร้องไห้ก็ร้อง อยากโกรธก็โกรธ อยากเกรี้ยวกราดก็เต็มที่ พอทุกอย่างมันได้ดั่งใจ ได้แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกออกมาแล้ว มันจะดีขึ้นเองตามลำดับ
ประโยคที่ 3 : ช่างมันเถอะ
ประโยค Empathy สุดฮิต ที่ไม่ใช่แค่เราพูดกับคนอื่น แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่เรามักใช้คำพูดนี้พูดกับตนเอง (ซึ่งนักเขียนเป็นคนนึงที่ใช้คำพูดนี้กับตัวเองบ่อยมากจนบางครั้งบ่อยเกินไป) หากสาวๆ คนไหนที่กำลังคิดว่าฉันพูดคำนี้กับเพื่อนบ่อย หรือพูดคำตนเองบ่อย อยากจะบอกว่า เป็นคำพูดที่เหมือน “เวลามีคนมอบของดีๆ ที่สุด ณ ตอนนั้นให้เรา และเราเมินหน้าหนีเขา หรือปัดมันตก” มันให้ความรู้สึกแบบนั้นเลยค่ะ
เวลาที่เรามีปัญหา เพื่อนมีเรื่องเครียดใดๆ สิ่งที่เราควรทำกับตนเองหรือกับผู้อื่นคือ ฟัง! และสังเกตสถานการณ์ตรงหน้า ว่าคนที่เขาพูดเนี้ย เขาต้องการปลดเปล่อยอารมณ์ของเขา หรือ เขาต้องการคำปรึกษา วิธีแก้ไขปัญหา บางครั้งความหวังดีของเรา อาจทำร้ายความรู้สึกคนอื่นหรือตัวเราเอง เพียงเพราะเราไม่อนุญาตหรือปัดตกความรู้สึกของเขาเสียก่อนเท่านั้นเอง
ประโยคที่ 4 : คิดมากไปไหมเนี้ย
ประโยค Empathy สุดฮิตที่ติด Top Chart ความไม่ Empathize เป็นที่สุด และเรามั่นใจว่าคนแทบจะทุกคนพูดคำเหล่านี้ทั้งกับคนอื่นและกับตัวของเราเอง แบบที่เราไม่รู้ตัว หรือจงใจ จากประโยคดังกล่าว “คิดมากไปไหม” หากลองมานั่งวิเคราะห์ดีๆ คือการที่เราไป Labelization คนอื่น แปะป้ายและตัดสินว่าตอนนี้เขาเป็นแบบนี้อยู่ แต่ทว่าเราอย่าลืมว่าแต่ละคนมีกระบวนการแก้ไขปัญหา การะบวนการคิด หรือปล่อยวางจากเรื่องบางเรื่องที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งเรื่องที่เขาหรือเราคิดวนไปวนมา มันคือเรื่องที่สำคัญ หรือสงผลต่อจิตใจของเขาไงละ
ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือ “รับฟังและสังเกตสถานการณ์ตรงหน้า” หากเพื่อนหรือตัวเรานั้น คิดวนและคิดมากกับเรื่องนี้มากไปจริงๆ สิ่งที่เราควรทำคือ “สอบถาม หรือชี้แนะโดยให้คำปรึกษา” กับสิ่งที่เกิดขึ้น มากกว่าที่จะตัดสินหรือแปะป้ายสิ่งนั้นกับคนอื่น อาจจะใช้คำพูดที่ว่า “ตอนนี้คิดอะไรอยู่” “แล้วเธอคิดว่ามันเป็นยังไง” เมื่อฟังแบบนี้แล้ว หากเพื่อนหรือตัวเรายังพูดเรื่องเดิมแบบเดิม เราอาจจะบอกเขาก็ได้ว่า “จากที่เราฟัง เรารู้สึกว่าเธอคิดถึงสิ่งนี้วนไปวนมาตลอดเวลาเลย งั้นเราลองมาหาวิธีการแก้กับสิ่งนี้กันไหม?” โดยการเปลี่ยนจากการตัดสินเขา เป็นสะท้อนให้เขาเห็นปัญหาที่เขาเจอ และบอกกล่าวพร้อมให้คำปรึกษากับปัญหาที่เขาหาทางออกไม่ได้แทน
ประโยคที่ 5: ทำไมไม่ทำแบบนี้
และประโยค Empathy สุดท้ายที่เรามักจะได้ยินแทบจะทุกครั้ง เมื่อเราต้องการแชร์หรือแบกเอาความผิดพลาดของเรา เพื่อต้องการให้บุคคลที่ 3 ช่วยหาทางออก หรือ ต้องการ Support ความคิดของเรา เรามักจะได้ยินหรือเรามักพูดกับคนอื่นว่า “ทำไมเธอไม่ทำแบบนี้อ่ะ” “ทำไมไม่ทำโน้น ทำนี่” ซึ่งมองไปมองมา คำพูดนี้มันอาจจะมองได้ว่า เอ่า! ก็เราหรือเขาต้องการชี้แนะ แนวทางให้เราไง แต่! เราอาจจะลืมไปว่า สถานการณ์ตรงหน้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ปัญหาที่เขาเจอหรือบริทบทโดยรอบ ของเขาและเราต่างกัน
การที่เราพูดแบบนี้ ไม่ต่างอะไรจากการ ตอกย้ำความผิดพลาด ตอกความคิด และความรู้สึกที่เขาต้องการแชร์กับเรา ให้มันแย่ลงไปอีก ดังนั้นสิ่งที่เราอาจจะทำได้ดีที่สุดเลยคือ ฟังและถาม เราอาจจะรับฟังปัญหาหรือเรื่องราวของเขาที่เกิดขึ้น และถามเขาว่า “ตอนนี้รู้สึกยังไง มีความคิดว่าจะทำยังไงตอนนั้นคิดยังไง และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดจะเป็นอย่างไร” เพื่อให้เขาสะท้อนสิ่งที่เขาคิดเองว่ามันดีหรือไม่ และมันเป็นการยืนยันสิ่งที่เขาคิดเอง นั่นคือการเคารพการตัดสินใจและเคารพความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ดีกว่าเดิม
Source:
Photo Credit: unsplash
Stay connected